ข่าว

"ละโว้"นามเมืองดั้งเดิม ก่อนชื่อ"ลพบุรี"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผ่านไปไม่นานกับงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ที่จัดขึ้นที่วังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี กับความประหลาดใจของการปรากฏรูปคล้ายพระพักตร์ ร.5 บนยอดประตูวังนารายณ์ ที่คนต่างแห่กันมาชื่นชม ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

 ละโว้ คือนามเดิมของลพบุรีเมืองพระนารายณ์ ที่เดิมเคยเข้าใจว่าชื่อนี้เพี้ยนมาจาก ลวปุระ ที่หมายถึง เมืองของพระลพผู้เป็นโอรสของพระราม

 แต่ จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิรุกติศาสตร์และประวัติศาสตร์ผู้ล่วงลับ มีความเห็นว่า ชื่อ ละโว้ นั้นเป็นชื่อดั้งเดิมมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 แล้วเป็นอย่างน้อย มีปรากฏในจารึกภาษาเขมร 2 ชิ้น เรียกว่า “โลฺว” และ “โลฺวทัยปุระ” (ล ควบ ว ไม่แยกพยางค์)

 ตรงนี้จิตรยังเสนอต่อไปอีกว่าชื่อ “ละโว้” นี้ อาจมาจากคำว่า “ลูโว” ในภาษาข่าตระกูลมอญ-เขมรพวกหนึ่ง คือข่าย่าเหิน แปลว่า ภูเขา ซึ่งพอดีกับลักษณะของเมืองละโว้ที่อยู่บนยอดเนินใหญ่ทรงกลม

 โดยชื่อลพบุรีน่าจะเป็นการลากเข้าภาษาสันสกฤตทีหลัง (คำว่า ลพบุรี มาจากภาษาสันสกฤตว่า ลวปุระ) และผู้ที่แปลงชื่อเมืองละโว้ หรือโลฺวทัยปุระเป็นลพบุรีนั้นน่าจะเป็นยุคที่กำลังสถาปนาอาณาจักรของพระรามขึ้นนี้เอง ตำนานทางเหนือที่เขียนเป็นภาษาบาลี (เช่น พงศาวดารเหนือ) ก็รับชื่อลพบุรีไปใช้ รวมทั้งเรียกชื่อเมืองละโว้ว่า ลวปุระ ทั่วกัน

 แนวคิดดั้งเดิมของเมืองลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มักถือตั้งเมืองของตนเป็นเมืองแถนเมืองฟ้า (แถน คือ เทวดาท้องถิ่นหรือผีผู้เป็นใหญ่ให้คุณ) เพื่อประโยชน์ด้านการเมืองภายใต้แนวคิดการจำลองธรรมชาติเพื่อบังคับบงการ จนพัฒนามาถึงความนิยมเรื่องเขาพระสุเมรุ สถาปนาเมืองของตนเป็นเมืองพระอินทร์ มีทั่วไปทั้งในสยามและเขมรโบราณก่อนคติยกย่องพระราม ดังตั้งชื่อเมืองลพบุรี

 ไม่มีข้อยุติสำหรับข้อสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์ มีแต่เพียงหลักฐานที่สมเหตุสมผลเพื่อตีความทัศนะความคิดของคนยุคเก่าก่อน ที่นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต้องพร้อมจะปรับเปลี่ยนเลื่อนไปได้ไม่ยึดติด

"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ