พระเครื่อง

ช่วยหลวงพ่อบุญช่วย พลังศรัทธาจาก..."แดนอาทิตย์อุทัย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในช่วงเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ แม้ว่าคนจะหันเข้าวัดทำบุญเพื่อหวังว่าสิ่งเลวร้ายจะผ่านพ้นไป มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต วัดใหญ่ที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อาจจะเนืองแน่นด้วยแรงศรัทธาของญาติโยมจากทั่วสารทิศ ซึ่งนั้นหมายถึงยอดเงินทำบุญที่มากด้วย

 แต่ที่ วัดมงคลเทพประสิทธิ์ ต.ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ซึ่งมี พระครูวินัยธร บุญช่วย ขันติวโร หรือที่รู้จักกันในนาม "หลวงพ่อบุญช่วย" เป็นเจ้าอาวาสวัดกลับตรงกันข้าม ปัจจัยทำบุญแต่ละเดือนเกือบจะไม่พอจ่ายค่าน้ำค่าไฟ แต่หลวงพ่อบุญช่วยยังคงเดินหน้าโครงการจัดทำสามล้อโยก และรถวีลแชร์อย่างต่อเนื่อง

 หลวงพ่อบุญช่วยมีความตั้งใจทำแจกฟรี ให้ครบ ๖,๐๐๐ คัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน จำนวนรถที่แจกไปแล้ว ๔,๐๐๐ คัน กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ แม้แต่ประเทศข้างเคียง ทั้งลาวและเขมร ก็ยังขอให้นำไปแจกแก่พวกเขาด้วย

 ด้วยปฏิปทาของหลวงพ่อบุญช่วย ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า ๑๐ ปี เมื่อผู้คนได้ทราบข่าวต่างมาช่วยหลวงพ่อตามกำลังศรัทธา โดยหลวงพ่อไม่เคยเก็บไว้ใช้เพื่อความสุขสะดวกสบายส่วนตัวเลย กุฏิและศาสนสถานภายในวัดเพียงพอแค่อยู่ได้เท่านั้น ปัจจัยที่ได้มาท่านนำไปลงในโครงสามล้อโยกและรถวีลแชร์ทั้งหมด โดยไม่มีองค์กรการกุศลใดๆ มาให้ความช่วยเหลือ  ขณะเดียวกัน คณะสงฆ์เองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือช่วยเหลือใดๆ ปล่อยให้หลวงพ่อทำไปตามมีตามเกิด

 ขณะที่พลังศรัทธาในประเทศอ่อนแรง  แต่ก็ยังมีศรัทธาจากต่างประเทศมาเสริมแรงช่วยหลวงพ่อบุญช่วย โดย นายซาซากิ ชูนอิจิ (Mr.sasaki chunichi) ผู้อำนวยการมูลนิธิสังคมสงค์เคราะห์ญี่ปุ่น (nimon chakai fukushi kohsaikai) ได้เห็นข่าวของหลวงพ่อบุญช่วยจากอินเตอร์เน็ท  จึงเดินทางเข้ามาดูงาน

 ในที่สุดจึงจัดทำโครงการ  “รถเข็นลอยฟ้า ๐๙ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ใต้หวัน และไทย" (09 FLYING WHEELCHAIR PROJECT ) ทั้งนี้ได้นำรถเข็นวีลแชร์กว่า ๑๐๐ คัน มามอบให้หลวงพ่อ เพื่อนำไปมอบต่อให้ผู้พิการและโรงพยาบาลต่างๆ

 ขณะเดียวกัน ยังนำนักเรียนอาสาสมัครจากประเทศญี่ปุ่น มาซ่อมแซมรถให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ก่อนจะมอบให้ผู้พิการ

 "ผมเห็นภาพและเรื่องราวของหลวงพ่อบุญช่วยผ่านทางอินเตอร์เน็ต จากนั้นก็เดินทางมาดูโครงการของท่าน ซึ่งเป็นเรื่องพิเศษมาก ที่พระซึ่งเป็นนักบวชในพุทธศาสนาหันมาช่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ โดยไม่หวังผลตอบแทน ถือว่าเป็นบุญของผู้พิการในประเทศไทย ถ้ามีพระอย่างท่านหลายๆ รูป สังคมและความเป็นอยู่ของผู้พิการต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน  ผิดจากพระในญี่ปุ่น ที่เน้นเรื่องพิธีกรรมเท่านั้น"

นี่คือความประทับใจของนายซาซากิ  ที่มีต่อหลวงพ่อบุญช่วย

 สำหรับความเป็นมาของโครงการโครงการรถเข็นลอยฟ้านั้น นายซาซากิ บอกว่า กิจกรรมอาสาสมัครซ่อมแซมรถเข็นผู้พิการได้เริ่มต้นขึ้นที่โรงเรียนอุตสาหกรรมมัธยมปลายใน จ.โทจิหงิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว จากนั้นได้ขยายสู่โรงเรียน ๖๐ แห่ง ใน ๒๔ จังหวัด จนปัจจุบันมีการส่งรถเข็นไปแล้ว ประมาณ ๔,๐๐๐ คัน ใน ๒๑ ประเทศ

 ทั้งนี้นักเรียนบางส่วนได้เดินทางไปมอบรถเข็นด้วยตนเอง ในประเทศต่างๆ เช่น ไทย ศรีลังกา และ อินโดนีเซีย เป็นต้น

 ทั้งนี้ ในแต่ละปีประเทศญี่ปุ่นจะมีรถเข็นที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่ากว่า ๓๐,๐๐๐ คัน  ในขณะที่คนเอเซียยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ต้องการรถเข็นที่เหมาะสมกับร่างกายของตนเองจำนวนมาก
เดิมทีนั้น การส่งรถเข็นไปขนส่งโดยทางเรือซึ่งกว่าจะถึงประเทศปลายทางเกิดความเสียหายขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนจะส่งทางโครงการได้ส่งรถทั้งหมดให้อาสาสมัครของญี่ปุ่นซ่อมแซมแล้วเป็นอย่างดี
จากปัญหาดังกล่าวนี้เองจึงมีอาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งตามมาซ่อมและดูแลความสมบูรของรถเข็นอีกครั้งก่อนจะมอบให้ผู้พิการ โดยในครั้งนี้มีนักเรียนอาสาสมัครจากประเทศญี่ปุ่นเดินทางมาซ่อมรถกว่า ๒๐ คน

  นายซาซากิ ยังบอกด้วยว่า เพื่อให้การขนส่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเกิดความเสียหายน้อยที่สุด จึงได้เกิดโครงการรถเข็นลอยฟ้าขึ้น โดยเปิดรับนักท่องเที่ยว  นักเรียนมัธยมปลายในโรงเรียนที่มีการไปทัศนศึกษา รวมทั้งนักเรียนแลกเปลี่ยนในโครงการต่างๆ  ให้เป็นอาสาสมัครช่วยหิ้วรถเข็นจากการบริจาคขึ้นเครื่องบินเพื่อส่งไปยังประเทศปลายทาง
ในการเดินทางครั้งนี้ นักเรียนเรียนชาวญี่ป่นและเกาหลีได้ร่วมกันชุบชีวิตรถเข็นในประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ก็ทำการสำรวจสถานที่จริงว่า จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วน เครื่องมือ รวมทั้งอุปกรณ์ชนิดใดบ้าง ในการซ่อมแซมรถเข็นจากประเทศญี่ปุ่น

 นอกจากนี้แล้ว จะพยายามสร้างเส้นทางขนส่งรถเข็นจากประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของอินโดจีนไปยังประเทศต่างๆ ที่ยังต้องการรถเข็นอีกจำนวนมาก ได้แก่พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

ไทยต้องช่วยไทย
 หลวงพ่อบุญช่วย บอกว่า ปัจจัยในการจัดทำสามล้อโยกและรถวีลแชร์ ส่วนใหญ่ได้จากการจำหน่ายวัตถุมงคล เช่น ปลัดขิก พระนางพญางิ้วดำ เบี้ยแก้ ตะกรุด ธูปเสก แป้งเสก ฯลฯ รวมทั้งการประกอบพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ (นั่งกรรมตัดวิบากกรรม) ซึ่งได้ไปศึกษากับอาจารย์ฆราวาส และอาจารย์สายเขมร ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่นั้น เป็นความเชื่อส่วนบุคคล

 ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้เรียกร้องค่าใช้จ่ายใดๆ สุดแล้วแต่ใครจะทำบุญตามกำลังศรัทธา หากใครนำปัจจัยมาถวายที่เป็นเงินก้อน ในรูปแบบของกองผ้าป่า หรือมาเป็นคณะบุคคล รวมทั้งงานทอดกฐิน ทางวัดจะให้ไปจ่ายกับร้านเหล็ก และร้านอะไหล่โดยตรงเลย

 เนื่องด้วยความต้องการของคนพิการมีจำนวนมาก แม้แต่ประเทศข้างเคียง ทั้งลาวและเขมร ก็ยังขอให้นำไปแจกแก่พวกเขาด้วย ทางวัดได้ทำโครงรถไว้มากมาย แต่ไม่สามารถประกอบเป็นรถเข็นได้ เนื่องจากล้อรถไม่สามารถประกอบได้ ต้องไปซื้อล้อในท้องตลาดนำมาใช้เป็นส่วนประกอบ
ดังนั้น จึงขอเชิญผู้มีจิตใจเป็นกุศล ที่ต้องการจะทำบุญร่วมกับทางวัดมงคลเทพประสิทธิ์ เพื่อนำเงินไปจัดซื้อล้อรถเข็น มอบให้คนพิการ และคนชรา ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

 ทั้งนี้ หลวงพ่อบุญช่วยพูดไว้อย่างน่าคิดว่า “ใครที่ว่านรกสวรรค์ไม่มีจริง คนที่เคยเดินได้อยู่มา วันหนึ่งกลับเดินไม่ได้ คนที่ตามองเห็นเป็นปกติ วันหนึ่งต้องกลายเป็นคนตาบอด คนที่เคยพูดได้กลับพูดไม่ได้ อย่างนี้แหล่ะ เขาเรียกว่า ตกนรกทั้งเป็น การทำสามล้อโยกและรถวีลแชร์อาตมาคิดว่าเป็นการทำบุญช่วยคนได้พ้นทุกข์อย่างหนึ่ง หรือพูดง่ายๆ ว่า ทำให้คนได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นนั่นแหละ”

 ผู้มีจิตศรัทธาโครงการของหลวงพ่อบุญช่วยร่วมบุญได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ สาขาลำนารายณ์ ชื่อบัญชี วัดมงคลเทพประสิทธิ์ หมายเลขบัญชี ๓๔๕-๐-๖๘๒๔๑ - ๔ หรือ ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.๐๘-๑๙๔๐-๓๔๖๘ และ ๐๘-๑๙๐๙-๓๙๘๕

 “เป็นเรื่องพิเศษมากที่พระซึ่งเป็นนักบวชในพุทธศาสนาหันมาช่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์โดยไม่หวังผลตอบแทน ถือว่าเป็นบุญของผู้พิการในประเทศไทย "

เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ