Lifestyle

พ.รบ.แม่วัยรุ่น2559‘สิทธิเด็กท้อง’?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พ.รบ.แม่วัยรุ่น2559‘สิทธิเด็กท้อง’? : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

              ปัญหาเด็กวัยรุ่นไทยท้องติดอันดับโลก ตัวเลขไม่ต่ำกว่าปีละ 1.3 แสนคน สร้างความกังวลให้ผู้นำประเทศไทยมาหลายยุคสมัย มีการกำหนดนโยบายมากมาย เพื่อลดการตั้งท้องแบบไม่พร้อม แต่ดูเหมือนจะไม่สำเร็จ เพราะสถิติตัวเลขแม่วัยโจ๋ไปคลอดที่โรงพยาบาลทั่วประเทศยังเพิ่มขึ้นทุกปี

              พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 เกี่ยวกับปัญหาแม่วัยใสด้วยความกังวลใจว่า ขอให้เด็กวัยรุ่นยึดถือวัฒนธรรมเดิมของไทย อย่าเอาวัฒนธรรมอื่นมา ผู้หญิงควรรักนวลสงวนตัวและผู้ชายต้องเป็นสุภาพบุรุษ รัฐบาลพยายามช่วยเหลือโดยเฉพาะคนมีรายได้น้อยที่พ่อแม่อาจจะไม่มีเวลาดูแล กลายเป็นปัญหาทางสังคม เด็กเหล่านี้ไม่ใช่คนเลว ต้องช่วยกันดูแลให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา มีงานทำ

              จากนั้น รัฐบาลคสช.สั่งเร่งสปีดให้ออกกฎหมายเพื่อช่วยหยุดตัวเลขไม่ให้พุ่งมากไปกว่านี้ ในที่สุด วัยรุ่นไทยก็ได้กฎหมายเป็นของตัวเองเพิ่มอีก 1 ฉบับ ได้แก่  “พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559" โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังหลังจากนี้ไป 120 วัน หรือประมาณเดือนกรกฎาคม

              เนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “พ.ร.บ.แม่วัยรุ่น” กำหนดให้ วัยรุ่นหมายถึงบุคคลอายุ 10-20 ปี นอกจากนี้ยังให้ตั้ง “คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” เพื่อทำหน้าที่กำกับและควบคุมทิศทางการทำงานในภาครวมทั่วประเทศ

              “นายกรัฐมนตรี” เป็นประธานกรรมการ และกรรมการจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.กรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน มาจาก รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมว.ศึกษาธิการ รมว.สาธารณสุข ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดกทม. 2.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน จากผู้มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญมีผลงานด้านสาธารณสุขและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพวัยรุ่น

              3.ผู้แทนเด็กและเยาวชน 2 คน ชาย 1 หญิง 1 จากผู้แทนสภาเด็กฯ

              นอกจากนี้ ยังให้ “สถานศึกษา” ต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน และจัดหาผู้สอนให้เหมาะสมด้วย ไม่ใช่ครูวิชาไหนมาสอนก็ได้ แต่ควรเป็นครูที่ผ่านการอบรมหรือมีประสบการณ์ในการสอนเพศวิถีโดยตรง พร้อมสร้างระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองเด็กที่ตั้งครรภ์ ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสม

              ส่วนสถานที่ทำงานนั้น หากพบแม่วัยรุ่นที่เป็นลูกจ้างตั้งครรภ์ ต้องสนับสนุนให้เข้าถึงคำปรึกษาและบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด

              สำหรับหน่วยงานรัฐ ต้องส่งเสริมสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดและระดับอำเภอ สร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่เพื่อเป็นแกนนำป้องกัน แก้ไขและเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จัดฝึกอาชีพตามความสนใจและความถนัดแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนและหลังคลอด และประสานงานเพื่อจัดหางานให้ได้ประกอบอาชีพตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละคน

                “นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์” ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อธิบายเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ 120 วัน ทุกโรงเรียนต้องพยายามจัดหาครูที่มีความรู้เรื่องนี้ และชั่วโมงสอนเพศวิถีที่เหมาะสมกับเด็กอย่างแท้จริง กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดให้มีกรรมการระดับจังหวัด รอดูว่าคณะกรรมการระดับชาติจะกำหนดหลักการให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาทำอย่างไรต่อไป

              “เป็นเรื่องน่าดีใจที่ประเทศไทยมีกฎหมายนี้ ช่วงแรกคือต้องเริ่มจากโรงเรียน จากนั้นก็เป็นสถานที่ทำงาน จะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสได้ศึกษาต่อและมีงานทำ สามารถสร้างครอบครัวที่มั่นคงได้ในอนาคต” นพ.เจตน์แสดงความเห็น

              ทั้งนี้ ข้อมูลตัวเลขปี 2543 สถิติวัยรุ่นไปโรงพยาบาลคลอดลูกวันละ 4 คน ปี 2556 พุ่งขึ้นมาเป็นวันละ 9 คน หรือคิดเป็น 4 นาทีต่อ 1 คน ยอดรวมประมาณปีละ 1.3 แสนคน ล่าสุด 11 กุมภาพันธ์ 2559 โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดเผยผลการสำรวจว่า วัยรุ่นไทยอายุระหว่าง 15-19 ปีตั้งท้องแบบไม่ตั้งใจถึงร้อยละ 80 และร้อยละ 30 เลือกทำแท้ง โดยร้อยละ 10 ทิ้งลูกไว้ในโรงพยาบาลที่คลอด

              ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่า แม่วัยรุ่นเสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย แม้แต่งงานกันแล้วสุดท้ายก็หย่าร้าง !

              “จิตติมา ภาณุเตชะ” ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง หนึ่งในเครือข่ายผู้ทำงานคลุกคลีกับปัญหานี้มานาน แสดงความคิดเห็นว่า รู้สึกดีใจที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะหลายปีที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียด และหลักการต่างๆ จนสามารถบูรณาการความคิดและสรุปออกมาเป็นกฎหมายได้ เพียงแต่รู้สึกเสียดายที่ชื่อกฎหมายไม่ควรเป็นปัญหา “การตั้งครรภ์” ในวัยรุ่น แต่ควรเป็นปัญหาเรื่อง “เพศ” ในวัยรุ่นมากกว่า

              “เพราะการตั้งท้องเป็นเหมือนปลายเหตุ ปัญหานี้เกี่ยวทั้งเด็กผู้ชายและผู้หญิง ถ้าพวกเขามีความรู้ความเข้าใจ มีเซ็กส์ปลอดภัย ฉลาดรู้เรื่องเพศอย่างรอบด้าน มีทักษะการใช้ชีวิตถูกต้อง ปัญหาการตั้งครรภ์จะลดน้อยลงทันที เรื่องแบบนี้ต้องสะสมประสบการณ์ ไม่ใช่แค่อ่านคู่มือเอกสารแจก 3 แผ่น แล้วจะเข้าใจทำได้ทันที”

              “จิตติมา” ยอมรับว่าสิ่งที่กังวลใจคือรัฐบาล เพราะมีนโยบายตั้งเป้าหมายไปที่การลดตัวเลขแม่วัยใส กฎหมายฉบับนี้จะไม่มีประโยชน์เลยหากหน่วยงานที่ทำงานไม่ได้เปลี่ยนวิธีคิดและช่วยกันส่งเสริมกลไกทำงานและเพิ่มสวัสดิการให้แม่วัยรุ่นสามารถประคองชีวิตต่อไปได้

              “บางครั้งผู้ใหญ่ใช้วิธีการให้เด็กแต่งงานกัน นั่นคือการรักษาหน้าผู้ใหญ่หรือแก้หน้าผู้ใหญ่มากกว่าแก้ปัญหาเด็ก หากเป็นไปได้อยากเสนอให้เพิ่มเติมสวัสดิการเด็ก 3 ส่วนอย่างเร่งด่วน เป็นเหมือนสิทธิที่พวกเขาควรได้รับการบริการอย่างทั่วถึง”

              1.ฮอตไลน์วัยรุ่นสายด่วน 24 ชั่วโมง เพื่อให้คำปรึกษาทุกเรื่อง เพราะเด็กส่วนใหญ่เวลาที่ทุกข์ใจไม่อยากพูดคุยกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู เพราะรู้สึกว่า “พูดกันไม่รู้เรื่อง” ควรมีใครสักคนที่พูดกับพวกเขารู้เรื่องแล้วให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง

              2.ครอบครัวชั่วคราว เป็นสวัสดิการครบวงจรสำหรับแม่วัยรุ่นระหว่างตั้งครรภ์และหลังจากคลอดลูกออกมาแล้ว เป็นเหมือนบ้านพัก หรือ ครอบครัวที่พร้อมเยียวยาช่วยเหลือให้ผ่านพ้นช่วงนั้นของชีวิตไปได้ เป็นครอบครัวทั้งสำหรับแม่และเด็ก เพราะแม่วัยรุ่นหลายคนเรียนหนังสือจบ มีงานทำ เขาก็ไปรับลูกมาเลี้ยงอย่างมีความสุขได้ หรืออาจเป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็ก 24 ชั่วโมง

              3.การรับบุตรบุญธรรม หากแม่วัยรุ่นไม่พร้อมมีลูก ควรหาทางออกยั่งยืนให้ทารกที่เกิดมา ไม่ควรบังคับให้แม่ที่ตัวเขาก็ยังเป็นเด็กให้มีภาระเลี้ยงดูเด็กอีกคน เป็นเหมือนซ้ำเติมปัญหาในชีวิต เพราะส่วนใหญ่แม่วัยรุ่นนั้น ร้อยละ 50 เป็นกลุ่มเด็กด้อยโอกาสอยู่แล้ว

              จากวันนี้ไป 3 เดือน ต้องจับตาดูว่าคณะกรรมการทั้ง 15 คน จะมีนโยบายการดำเนินงานให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของกฎหมายอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะ มาตรา 5 ที่กำหนดสิทธิของพวกเขาไว้อย่างชัดเจนว่า

              “วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ได้รับการจัดสวัสดิการสังคม อย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับสิทธิอื่นใดที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ตามพระราชบัญญัตินี้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ”
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ