ข่าว

‘บ้านทองหยอด’สานฝันปั้นนักแบดสู่ความสำเร็จ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“บ้านทองหยอด” สานฝันปั้นนักแบดสู่ความสำเร็จ

 
          เมล็ดพันธุ์จะเติบโตได้ต้องมีผู้ดูแลอย่างดี ต่อให้เมล็ดพันธุ์ดีแค่ไหน หากไม่มีคนดูแลก็ไม่มีประโยชน์ ใช่!!! เรากำลังกล่าวถึงสถานที่ดูแลและบ่มเพาะนักกีฬาที่ทุกฝ่ายควรอย่างยิ่งที่จะให้ความสนใจ เพราะหากมองข้ามไป ต้นไม้ใหญ่จะเติบโตแกร่งกล้าได้อย่างไร
 
          ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมาคนไทยมีความสุขที่เห็น “น้องเมย์” รัชนก อินทนนท์ คว้าแชมป์แบดมินตัน “อินเดีย โอเพ่น” ด้วยการโค่นคู่ปรับตลอดกาลอย่าง หลี่ เสี่ยว เหร่ย สาวจีนลงได้ ต่อด้วยสัปดาห์ล่าสุด คว้าแชมป์มาเลเซีย โอเพ่น ด้วยการต้อนสาวไต้หวัน ไต้ ซู่ หยิง 2 เกมรวด พร้อมกับมอบแชมป์นี้ให้คนไทยทุกคนไปฉลองความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 
 
          ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สาววัย 21 ปีคนนี้ เพิ่งจะเปิดตัวหนังสือเล่มแรกในชีวิต “หยอดฝันไว้ที่ปลายคอร์ต” ที่นำเสนอเบื้องหลังเส้นทางสู่การเป็นแชมป์เยาวชนโลก 3 สมัยติดต่อกัน รวมถึงการเป็นแชมป์โลกที่อายุน้อยที่สุดเมื่อปี 2556
 
          หลายคนทราบดีว่า กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ น้องเมย์ ต้องมีหลายสิ่งหลายอย่างประกอบกัน เพราะนอกจากจะต้องมีพรสวรรค์และพรแสวงแล้ว สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือผู้สนับสนุน...
 
          โรงเรียนแบดมินตัน “บ้านทองหยอด” ชื่อที่คนไทยเริ่มคุ้นหูมากขึ้น แม้ก่อนหน้านี้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าสโมสรแห่งนี้มีทีเด็ดจาก “ลูกหยอด” ของนักตบลูกขนไก่ ทว่าในความจริงแล้วชื่อนี้มาจากร้านขายขนม “ทองหยอด” ของ “คุณปุก” กมลา ทองกร ผู้อำนวยการโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด และเป็นคนเดียวกับเจ้าของร้านทำขนมไทย “บ้านทองหยอด” ซึ่งเริ่มก่อตั้งชมรมแบดมินตันของตนเองขึ้นมาเมื่อปี 2534 พร้อมกับตั้งชื่อชมรมว่า “บ้านทองหยอด” เพื่อแสดงถึงความเป็นไทย 
ในยุคเริ่มต้นชมรม “บ้านทองหยอด” ใช้สนามสร้างขึ้นเองภายในบ้านของ “คุณกมลา” และมีนักกีฬาเพียง 4 คน จนเมื่อเริ่มมีสมาชิกมากขึ้นจึงต้องขยับขยาย ในปี 2546 ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการเปิดเป็นโรงเรียนโดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด และย้ายมาปักหลักอยู่บริเวณพุทธมณฑลสาย 3 ปัจจุบันมีนักกีฬาเวียนไปเวียนมาอยู่ประมาณ 200-300 คน
 
          สำหรับหลักสูตรที่บ้านทองหยอดจะถ่ายทอดให้นักเรียนหรือนักกีฬา จะเริ่มตั้งแต่พื้นฐาน ตั้งแต่การจับไม้ การวางท่าทาง จากนั้นจึงเริ่มไปเน้นเรื่องทักษะต่างๆ ทั้งการเสิร์ฟ การตี กฎ กติกา มารยาท ระเบียบวินัยทั่วไป รวมไปถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางกายภาพ 
 
          สโมสรนี้ปัจจุบันมีสนามแบดมินตันมาตรฐาน 18 สนาม แบ่งเป็น 2 โรงยิม โรงยิมละ 9 สนาม โรงยิมแรกสีเขียวพื้นสนามใช้ยางมาตรฐานจากเยอรมนี ที่โดดเด่นในเรื่องความยืดหยุ่นสูง ซึ่งโรงยิมนี้จะอนุญาตให้ใช้ได้สำหรับนักกีฬาของโรงเรียนเท่านั้น ส่วนอีกยิมเป็นโรงยิมสีฟ้าใช้พื้นยางคุณภาพภายในประเทศเปิดให้สำหรับประชาชนทั่วไป
 
          “ในระดับพื้นฐานเราจะเริ่มเสาะหานักกีฬาที่เริ่มต้นด้วยความอยากออกกำลังกาย อยากจะเลือกกีฬาสักประเภท เพื่อลองดูว่าตัวเองชอบหรือไม่ และเมื่อเล่นได้ระยะหนึ่ง โค้ชและทีมงานจะมองว่าเด็กคนนี้ไปต่อได้ไหม เราก็จะไปคุยกับผู้ปกครองว่า สนใจที่จะให้น้องคนนี้มาซ้อมแบบจริงจังเลยมั้ย เพื่อจะได้พัฒนาจากการเล่นเพื่อสนุกมาเป็นแบบจริงจัง ก่อนจะขยับมาเป็นนักกีฬาเดินสายแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ เพื่อดูความสามารถว่าจะพัฒนาไปได้ระดับไหน” 
 
          "นักกีฬาที่เราสร้างจะเริ่มตั้งแต่ 6 ขวบ พอสัก 8 ขวบ เริ่มได้แชมป์เราก็จะมองแล้วว่าจะไปต่อแบบไหน เหมือนในรายของน้องเมย์ ที่เรามองแล้วก็เริ่มวางแผนเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ พูดง่ายๆ ตอนนี้เรามีแบบนี้แทบจะทุกเจเนอเรชั่นเลย เราเตรียมไว้ต่อเนื่อง และเมื่อมีแววมากขึ้นก็จะส่งไปแข่งทัวร์ใหญ่ๆ สม่ำเสมอ การไปแข่งระดับโลกตั้งแต่เล็กจะสร้างความคุ้นเคยให้นักกีฬา” คุณกมลา กล่าว 
 
          ส่วนเรื่องของค่าใช้จ่ายนั้น “มาดามปุก” ยอมรับว่าต้องใช้ทุนเป็นจำนวนมาก เพราะแต่ละปีมีการส่งแข่งบ่อยครั้งมาก แต่เราก็ได้รับการส่งเสริมจากบรรดาผู้สนับสนุนต่างๆ ด้วย ทำให้สโมสรทำงานง่ายขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีผู้สนับสนุน แน่นอนว่าเราจะทำงานยากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
 
          “ที่สุดแล้วต้องขอขอบคุณสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ที่เข้ามาช่วยเราเป็นสปอนเซอร์หลักให้การส่งนักกีฬาไปแข่งขันในระดับนานาชาติ ทำให้นักกีฬาเหล่านี้หมดความกังวลเรื่องหาทุนที่จะใช้จะได้โฟกัสไปกับการฝึกซ้อมและแข่งขันได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง นอกจากสิงห์แล้วเรายังมีบางจาก, ช่อง 3 และแอร์เอเชีย ที่ช่วยเหลือเราได้มาก ช่วยให้เยาวชนของเรามีโอกาสออกไปหาประสบการณ์”
 
          ในส่วนของคลื่นลูกใหม่ที่มีโอกาสจะมาทดแทนรุ่นพี่บ้านทองหยอดอย่าง “รัชนก” นั้น เจ้าของบ้านทองหยอด ยืนยันว่ามีแน่นอน 
 
          “น้องจิว" ภัทรสุดา ไชยวรรณ ถือเป็นเป้าหมายใหม่ที่เรามองแล้วว่าศักยภาพใกล้เคียงกับน้องเมย์ คือในอายุของเขา เขาทำได้ขนาดนี้ ถือว่ายอดเยี่ยม มีโอกาสที่จะไปถึงจุดที่ใกล้เคียงกับน้องเมย์ได้ แต่เผอิญว่าในช่วงวัยนี้ของน้องจิว นักกีฬาจากหลายชาติต่างดีวันดีคืน ก็เลยอาจไม่เร็วเท่าน้องเมย์ เพราะว่าน้องเมย์ อายุ 14 ก็ได้แชมป์เยาวชนโลกแล้ว และมาได้ 3 สมัยติดต่อกัน ซึ่งถึงตอนนี้ยังไม่มีใครทำได้ อย่างน้องจิวเราก็หวังจะให้เร็วเท่าน้องเมย์ แต่ก็ยังไม่เร็วเท่า ตอนนี้การทำงานของเราเป็นไปอย่างเข้มข้น เราทำทุกอย่างเพื่อเดินมาในวิถีที่น้องเมย์เคยเดินมา เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่ระดับชาติ แต่ต้องไประดับโลก แน่นอนว่าความหวังสูงสุดของเราคือ อยากเห็นนักกีฬาไทยได้เหรียญโอลิมปิกเกมส์”
 
          ถึงตรงนี้ บ้านทองหยอด ประสบความสำเร็จไปแล้วหลายขั้นทั้งปั้นนักกีฬาติดทีมชาติ สานฝันนักแบดไทยสู่เวทีระดับโลกเหลืออีกหนึ่งฝันที่จะเติมเต็มนั่นก็คือ เหรียญโอลิมปิก
 
          สิงหาคมนี้ได้รู้กันแน่ว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งเป็นที่สุดแห่งฝันของคนไทยเช่นกัน !!!
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ