คอลัมนิสต์

มหกรรมหนังสือของคนกรุงเทพฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มหกรรมหนังสือของคนกรุงเทพฯ : โดยวิธีของเราเอง ... ไพฑูรย์ ธัญญา

 
                    ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว สำหรับการจัดงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติประจำปี 2559 หรือในชื่อเต็มๆ สำหรับการจัดครั้งนี้ว่า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 14 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-10 เมษายน 2559 ถือว่าเป็นงานที่คนขายหนังสือและคนอ่านรอคอยด้วยใจจดจ่อ ท่ามกลางกระแสสังคมก้มหน้า ที่คนไทยส่วนใหญ่ก้มหน้าอ่านข้อความ ข่าวสารในเฟซบุ๊ก มากกว่าอ่านหนังสือ
 
                    ผมเป็นคนหนึ่งที่เป็นแฟนงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมานานมาก ตั้งแต่สมัยที่จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ จัดงานขึ้นรอบๆ หอประชุมคุรุสภา แบบกางเต็นท์ขายกันร้อนๆ มาจนถึงสมัยที่ย้ายมาจัดในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ติดแอร์เย็นฉ่ำ โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยอย่างทุกวันนี้
 
                    งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติทุกวันนี้ มีรูปแบบในการจัดที่ต่างไปจากอดีตค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ กิจกรรมและองค์ประกอบต่างๆ บอกได้คำเดียวว่า เป็นงานมหกรรมหนังสือที่มีบรรยากาศชวนตื่นตาตื่นใจดีแท้ ว่าถึงคนอ่านคนซื้อก็ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่แออัดยัดเยียดในบางวัน บางช่วงเวลา มองแล้วชวนให้เคลิ้มไปว่า คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น ใครที่บอกว่าคนไทยอ่านหนังสือคนละเจ็ดแปดบรรทัดต่อปีไม่น่าจะจริงเสียแล้ว
 
                    เรื่องสถิติการอ่านของคนไทยนี่ถือว่าเป็นเรื่องที่สะเทือนความรู้สึกไม่น้อยกว่าสถิติที่เกี่ยวกับการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย เพราะมันเป็นตัวบ่งชี้อย่างหนึ่งว่า ประชากรในประเทศเรามีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ในอนาคตจะเป็นอย่างไร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจึงหันมาจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการอ่านมาโดยตลอด การสำรวจภาวะการอ่านของคนไทยครั้งล่าสุดน่าจะเป็นผลการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2556 ที่นำเสนอโดยอุทยานการเรียนรู้และสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนไทยร้อยละ 81.1 หรือกว่า 50 ล้านคน ใช้เวลาอยู่กับตัวอักษรถึง 37 นาทีต่อวัน ส่วนพฤติกรรมการอ่านก็มีการเปลี่ยนไป เช่น คนอ่านหนังสือมากขึ้น สถานที่ที่เข้าไปอ่านหนังสือก็ไม่ใช่ห้องสมุดอีกแล้ว แต่นิยมอ่านที่บ้านมากที่สุด แม้กระทั่งในศูนย์การค้า สิ่งที่อ่านก็ไม่เน้นไปที่หนังสือเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการอ่านบทความและเสพข้อมูลต่างๆ ผ่านคอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟนด้วย การสำรวจในเรื่องนี้ไม่นับรวมถึงการอ่านข้อความสั้นๆ ที่ส่งผ่านมือถือ, โปรแกรมแชท และอีเมล
 
                    แม้ข้อมูลนี้จะเก่าสักนิด แต่ก็ถือว่าชวนให้ใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง ถ้าใครได้มาเห็นบรรยกาศในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ก็ยิ่งน่าจะมั่นใจได้มากว่า คนไทยยังอ่านหนังสือกันอยู่ งานสัปดาห์หนังสือเป็นงานที่เราเห็นเด็กเยาวชนมารวมกันมากที่สุดงานหนึ่ง บางคนก็มาเดินดู เดินเลือกซื้อหนังสือที่ตัวเองต้องการ เด็กๆ ไม่น้อยพากันหลบมุมไปอ่านหนังสืออย่างมีความสุข โดยรวมก็ถือว่าน่าชื่นใจ แต่ถ้าลองสำรวจกันอย่างจริงจังก็จะพบว่า คนที่มางานหนังสือแห่งชาติส่วนใหญ่ยังเป็นคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนคนต่างจังหวัดยังมีไม่ค่อยมาก งานมหกรรมหนังสือจึงเหมือนกับงานของคนกรุงเทพฯ เสียมากกว่า
 
                    อันที่จริงก็ใช่ว่าไม่มีการจัดงานหนังสือในระดับภูมิภาคเอาเสียเลย มีผู้พยายามหมุนเวียนกันไปจัดอยู่เสมอ เพียงแต่ผลตอบรับกลับไม่ดีเท่าที่ควร หนังสือขายไม่ได้ คนไม่มาเดินในงาน ขนาดหลายครั้งที่ไปจัดงานตามศูนย์การค้าใหญ่ๆ แต่ภาพที่เห็นกลับไม่คึกคัก เป็นแบบนี้บ่อยๆ คนขายหนังสือก็ชักถอดใจ เพราะรายได้ไม่คุ้มกับโสหุ้ยรายจ่ายที่เสียไป คนต่างจังหวัดไม่ค่อยสนใจงานสัปดาห์หนังสือเหมือนคนกรุงเทพฯ รวมทั้งร้านหนังสือและสื่อต่างๆ ที่พากันไปออกบูธ ก็ไม่ได้ไปกันแบบ “จัดเต็ม” เหมือนงานสัปดาห์หนังสือในกรุงเทพฯ ตรงนี้ก็เลยเป็นช่องว่างและข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดมาก ทำไปทำมางานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจึงต้องรวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวงเหมือนเดิม ระนาบในการอ่านหนังสือของคนไทยระหว่างคนในส่วนกลางกับภูมิภาคต่างกัน ไม่เหมือนระนาบของการบริโภคสินค้าอย่างอื่นที่ไม่ว่าจะเป็นบ้านนอกหรือในกรุงก็แทบไม่ต่างกันเลย
 
                    งานสัปดาห์หนังสือครั้งใหม่นี้ จัดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย กำลังซื้อลดน้อย ก็ไม่รู้ว่าสำนักพิมพ์และร้านขายหนังสือจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ขอเอาใจช่วย โดยเฉพาะผู้ปกครอง อยากให้พาลูกหลานไปเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือกันให้มากๆ นะครับ
 
 
 
 
--------------------
 
(มหกรรมหนังสือของคนกรุงเทพฯ : โดยวิธีของเราเอง ... ไพฑูรย์ ธัญญา)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ