Lifestyle

เส้นทางอาชีพ : วิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เส้นทางอาชีพ : วิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                    การจัดงานมหกรรมวิจัยส่วนภูมิภาคครั้งที่ 4 ประจำปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ในระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคม ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่ิอการพัฒนาท้องถิ่น” ก็นับเป็นความสำเร็จอีกครั้งในการที่นำผลงานวิจัยจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในภาคมาจัดแสดงให้ผู้คนที่สนใจได้ดูกันและนำไปประยุกต์ใช้กับอาชีพของตนเองได้เป็นอย่างดี
 
                    เพราะงานวิจัยหลายชิ้นเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนภูมิภาคนี้โดยตรง ที่สำคัญการจัดงานครั้งนี้ยังมีการจัดโซนการเจรจาทางธุรกิจสำหรับเอกชนที่สนใจที่จะนำผลงานวิจัยไปต่อยอดอีกด้วย ฟังข้อมูลจากคุณสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก็ต้องบอกว่าการทำงานวิจัยยุคนี้ไม่ได้แค่ทำเสร็จแล้วก็จบกัน แต่ทุกผลงานวิจัยจะต้องจับต้องได้ จะต้องให้เป็นประโยชน์กับชุมชน สังคม ตลอดจนประเทศชาติด้วย
 
                    ถามว่าทำไมต้องมาจัดงานในภูมิภาค ก็เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปดู ไปเยี่ยมชมผลงานของคนในพื้นที่ ซึ่งคุณสุกัญญาบอกว่าปกติรัฐบาลและวช.ได้จัดใหญ่มหกรรมงานวิจัยอยู่แล้วปีละครั้งอยู่แล้วที่กรุงเทพฯ ประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี แต่การตระเวนจัดตามภูมิภาคนี้เป็นการอำนวยความสะดวกให้คนในพื้นที่ในการเดินทางมาเยี่ยมชม อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยหลักที่เกี่ยวของในพื้นที่ภูมิภาคนั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของพวกเขาด้วย
 
                    การจัดงานมหกรรมวิจัยส่วนภูมิภาคนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2556 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมัยที่คุณหมอสุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เป็นเลขาธิการ เนื่องจากมองว่าเป็นการนำองค์ความรู้ ผลงานวิจัยให้ใกล้ชิดชาวบ้านมากขึ้น แทนที่จะมุ่งแต่เฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีองค์ความรู้อยู่แล้วหรือนักวิชาการด้วยกัน จากนั้นก็ได้ตระเวนจัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปีถัดมา 2557 จัดที่ภาคเหนือ มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ ก่อนลงใต้จัดที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เมื่อปีที่แล้วโดยชูประเด็นเรื่องยางพารา 
 
                    มาปีนี้จัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แต่จุดเด่นของปีนี้ ซึ่งแตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นปีที่เริ่มต้นของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้มีการนำผลงานวิจัยของสถาบันการศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างสปป.ลาวและเวียดนามมานำเสนอด้วย ก็นับเป็นอีกก้าวของรัฐบาล ภายใต้การดำเนินงานของวช.และองค์กรเครือข่ายที่ตอบโจทย์ของปัญหางานวิจัยจับต้องได้และชิดใกล้ชาวบ้านเพื่อก้าวสู้การพัฒนาไปพร้อมๆ กันตามแนวทางนโยบายของรัฐบาลที่เรียกว่า “ประชารัฐ” นั่นล่ะครับ
 
 
 
--------------------
 
(เส้นทางอาชีพ : วิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ