Lifestyle

ถั่วเหลืองในอาเซียนต้องนำเข้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำกินถิ่นอาเซียน : ถั่วเหลืองในอาเซียนต้องนำเข้า : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 
                      ถั่วเหลืองเป็นพืชเมล็ดที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะมีองค์ประกอบของไขมัน โปรตีน เลซิทิน กรดอมิโน รวมถึงแคลเซียมและแร่ธาตุอื่นๆ อีกหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำให้มีการนำถั่วเหลืองไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประกอบอาหารต่างๆ แพร่กระจายไปทั่วโลก สำหรับประชากรเอเชียแล้ว มีการใช้ประโยชน์ถั่วเหลืองในรูปของผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อเป็นองค์ประกอบของอาหารในชีวิตประจำวัน เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว ซอสถั่วเหลือง เป็นต้น
 
                      ถั่วเหลืองมีแหล่งกำเนิดในประเทศจีนและจีนได้มีการเพาะปลูกและใช้ประโยชน์จากถั่วเหลืองกันมาอย่างยาวนานกว่า 3,000 ปีที่ผ่านมา จากนั้นถั่วเหลืองได้แพร่กระจายสู่ประเทศเกาหลีและญี่ปุ่นเมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อนหน้านี้ แล้วเข้าสู่ยุโรปและสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ 300 ที่ผ่านมา โดยสหรัฐอเมริกาได้นำเอาพันธุ์ถั่วเหลืองไปปรับปรุงพันธุ์ใหม่ จนได้พันธุ์ที่มีเมล็ดโตให้ผลผลิตสูงตามมาและกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ เช่น บราซิลและอาร์เจนตินา ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตถั่วเหลืองที่สำคัญของโลก
 
                      ส่วนผู้ผลิตรองลงมา 2 ลำดับ ได้แก่ บราซิล และอาเจนตินา สำหรับจีนนั้นแม้จะผลิตถั่วเหลืองได้เป็นอันดับสี่ของโลก แต่เนื่องจากจีนมีพลเมืองมากกว่าพันล้านคนและเป็นประเทศหนึ่งที่มีการบริโภคถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบของอาหารในชีวิตประจำวัน การผลิตถั่วเหลืองของจีนไม่เพียงพอและต้องนำเข้าถั่วเหลืองมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก
 
                      การผลิตถั่วเหลืองของโลกในปี 2556 มีประมาณ 282 ล้านตัน สำหรับในภูมิภาค อาเซียนมีผลผลิตจำนวนน้อยประมาณ 1.74 ล้านตัน หรือร้อยละ 0.61 ของผลผลิตถั่วเหลืองโลก อย่างไรก็ตามความต้องการใช้ถั่วเหลืองเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีมาก เพราะประชากรในอาเซียนจำนวนไม่น้อยที่มีบรรพบุรุษเชื้อสายจีนทำให้วิถีชีวิตการบริโภคอาหารมีผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน
 
                      นอกจากนี้ การเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในอาเซียนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะเศรษฐกิจที่ขยายตัวของอาเซียนทำให้ประชากรของอาเซียนมีรายได้มากขึ้นมีความต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากขึ้น กากถั่วเหลืองจึงเป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอาหารสัตว์จำพวกสัตว์ปีก
 
                      อาเซียนจึงเป็นภูมิภาคที่มีการนำเข้าถั่วเหลืองมากแหล่งหนึ่ง องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติรายงานว่าในปี 2556 อาเซียนมีการนำเข้าถั่วเหลืองประมาณ 5.38 ล้านตัน หรือมากกว่าที่ผลิตได้เองกว่าเท่าตัว ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีการนำเข้าถั่วเหลืองมาก ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทยและเวียดนาม และมาเลเซีย ทั้งนี้เพราะมีการผลิตได้น้อยไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ถั่วเหลืองจึงเป็นพืชน้อยชนิดที่ไม่แข่งขันกันเองในการผลิตในอาเซียนเหมือนกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ
 
                      สำหรับประเทศไทยการผลิตถั่วเหลืองภายในประเทศมีเพียง 0.19 แสนตัน แต่มีความต้องการใช้ในประเทศเกือบ 2 ล้านตัน จึงต้องนำเข้าถั่วเหลืองจำนวนมากมาใช้ภายในประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะได้มีการปฎิเสธพืชจีเอมโอ แต่ถั่วเหลืองที่นำเข้าทั้งจากสหรัฐอเมิกา บราซิล และอาร์เจนตินา เป็นถั่วเหลืองที่มีการตัดแต่งพันธุกรรมเกือบทั้งสิ้น
 
                      ที่ผ่านมายังไม่เห็นมีใครคัดค้านว่าไม่เอาถั่วเหลืองจีเอ็มโอนำเข้า สำหรับการบริโภคเป็นอาหารเลยครับ
 
 
 
-----------------------
 
(ทำกินถิ่นอาเซียน : ถั่วเหลืองในอาเซียนต้องนำเข้า : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ