ข่าว

อเมริกาใต้หวังพึ่งรังสีทำหมันยุงพาหะซิกา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เวิลด์วาไรตี้ : อเมริกาใต้หวังพึ่งรังสีทำหมันยุงพาหะซิกา : โดย...วัจน พรหโมบล

 
 
      หลายประเทศในอเมริกาใต้กำลังตื่นตัวป้องกันการระบาดและกำจัดเชื้อไวรัสซิกา ที่มียุงเป็นพาหะ แต่ทำวิธีการใดทั้งฉีดพ่นยาฆ่ายุง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงก็แล้ว ก็ยังไม่สามารถหาวิิธีการกำจัดยุงพาหะเชื้อไวรัสร้ายชนิดนี้ที่มีผลร้ายแรงต่อมนุษยชาติรุ่นใหม่ได้
 
      ดังนั้นรัฐบาลกลุ่มประเทศอเมริกาใต้อย่าง บราซิล เอลซัลวาดอร์ และอีกหลายประเทศจึงหันไปหาวิธีการขั้นเด็ดขาดในการกำจัดและจำกัดจำนวนยุงรุ่นใหม่ให้ออกมาเพ่นพ่านน้อยลงและลดโอกาสในการแพร่เชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งโรคร้ายอื่นๆ ทั้งไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ด้วยวิธีการ “ทำหมัน” ยุงตัวผู้ด้วยวิธีการฉายรังสี
 
      วิธีการดังกล่าวได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ที่มีบทบาทหลักคือการกำกับดูแลการใช้และพัฒนานิวเคลียร์ทั่วโลก แต่ก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประชากรโลกโดยอาศัยกัมมันตรังสีด้วยเช่นกัน
 
อเมริกาใต้หวังพึ่งรังสีทำหมันยุงพาหะซิกา
 
      ที่ผ่านมาไอเออีเอและองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) คิดค้นวิธีการรวบรวมยุงตัวผู้ให้ได้จำนวนมากเป็นล้านตัว ก่อนที่จะนำมาเข้าห้องฉายรังสีเป็นเวลาไม่กี่นาทีเพื่อทำลายระบบสืบพันธุ์ของยุงตัวผู้ โดยไม่ต้องไล่ผ่าตัดยุงทีละตัวๆ ก่อนปล่อยยุงที่เป็นหมันเพราะกัมมันตรังสีนั้นออกสู่สิ่งแวดล้อมตามปกติ
 
      วิธีการนี้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วกับการควบคุมปริมาณแมลงวันผลไม้ แมลงวันหนอนไช ศัตรูรบกวนผลไม้ในสวนของเกษตรกร ขณะที่การทำหมันยุงด้วยการฉายรังสีเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
 
      ในแปลงทดลองที่อิตาลี ทีมวิจัยของไอเออีเอพบว่าประชากรยุงลดลงถึง 80% ในช่วง 9 เดือน ส่วนแปลงทดลองในประเทศจีนให้ผลตอบสนองที่ดีถึง 100% จากวิธีการทำหมันยุงด้วยการฉายรังสี
 
อเมริกาใต้หวังพึ่งรังสีทำหมันยุงพาหะซิกา
 
      ตัวเลขดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมแมลงในบราซิลถึงกับร้องว้าว และประเมินว่าถ้ามีการปล่อยยุงที่เป็นหมันจำนวนมากออกไปสู่สิ่งแวดล้อม จะมีโอกาสที่ทำให้ประชากรยุงร้ายในประเทศลดลงอย่างชัดเจนในช่วงไม่กี่เดือน
 
      อย่างไรก็ตามผลการทดลองดังกล่าวชี้ว่าวิธีการนี้จะให้ผลดีกับการควบคุมยุงในเมืองขนาดกลางที่มีประชากรราว 1.5-2 แสนคน และมีพื้นที่ไม่กว้างขวางมากนักเพื่อที่ยุงซึ่งเป็นหมันจะสามารถบินไปพบกับยุงตัวเมียได้ และทำการผสมพันธุ์โดยปล่อยเชื้ออสุจิที่ฝ่อไปแล้วเข้าไปยังรังไข่ของยุงตัวเมีย
ผู้เชี่ยวชาญยังยอมรับว่าการพัฒนาเทคโนโลยีทำหมันยุงด้วยการฉายรังสียังอยู่ในขั้นเริ่มต้น และยังไม่พร้อมสำหรับประเทศที่มีพื้นที่เป็นป่าดิบชื้นมีฝนตกตลอดทั้งปี เช่นบราซิล และอีกหลายประเทศในอเมริกาใต้
 
      แต่ความต้องการเทคโนโลยีนี้ก็ช่วยกระตุ้นให้ไอเออีเอเร่งพัฒนาระบบการทำหมันยุงด้วยการฉายรังสีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อสามารถจำกัดและกำจัดยุงรุ่นใหม่ออกมาได้ และลดโอกาสในการแพร่กระจายโรคที่เกิดจากไวรัสซิกา ที่ทำให้ทารกในครรภ์มารดามีสภาพศีรษะเล็กผิดปกติ ลงได้
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ