Lifestyle

'โรงเรียนนิติบุคคล'ปฏิรูปการศึกษา...เกิดขึ้นจริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'โรงเรียนนิติบุคคล'ปฏิรูปการศึกษา...เกิดขึ้นจริง : กิตติ ทวยภา ศึกษานิเทศก์ สพป.มหาสารคาม เขต 1 รายงาน

           ปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ

           เหล้าเก่าในขวดเก่ามีค่า= 0

           เหล้าเก่าในขวดใหม่มีค่า= 0

           เหล้าใหม่ในขวดใหม่มีค่า= 0

           ทุบขวดทิ้งมีค่า=-0
 
           การปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของประเทศไทยได้เวียนวาระมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากมีการปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2547 เมื่อครั้งนั้นมีสาระที่สำคัญ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ

           มีการบัญญัติกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง อาทิ 1.พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติม 2.พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติม 3.พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติม ฯลฯ

           พ.ร.บ.ดังกล่าวทำให้มีการยุบหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ หรือสปช. (ยุบตำแหน่งผู้อำนวยการประถมศึกษาจังหวัด) แปลงร่างเป็น "สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 2.กรมสามัญศึกษา ถูกยุบรวมเข้าไปในสพฐ.(ทำให้มีการยุบตำแหน่งผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัด) และมีการยุบตำแหน่งศึกษาธิการจัหวัด

           ขณะเดียวกันได้มีีการจัดตั้ง องค์กรขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) 2.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3.สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) 4.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 5.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.)

           หน่วยงานหลักทั้ง 5 แท่ง มีการบริหารจัดการตามภาระหน้าที่ ตามเจตนารมณ์ เพื่อปฏิรูปการศึกษา มาเป็นระยะ 10 ปีเศษ ก็มีแนวคิดจากหลายฝ่ายต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้งหนึ่งจากโครงสร้างปัจจุบัน
   
           บัดนี้ ได้มีนโยบายที่จะปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการใหม่ ตามแนวคิดและกระแสสังคม และเป็นที่สนใจของนักการศึกษา พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยได้มีเสียงการตอบรับและคัดค้านของสังคมโดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งถ้าวิเคราะห์ในเชิงลึกจะพบว่า การปรับโครงสร้างตามที่เป็นกระแสข่าวพบว่าประชาชนส่วนมากเห็นว่า เหล้าเก่าในขวดเก่า “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับโครงสร้าง” การปฏิรูปการศึกษามีค่า= 0

           เหล้าเก่าในขวดใหม่  "มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางส่วน” การปฏิรูปการศึกษามีค่า= 0, เหล้าใหม่ในขวดใหม่ “มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแต่คนไม่เปลี่ยนแปลง” การปฏิรูปการศึกษามีค่า= 0, ทุบขวดเหล้าทิ้ง "มีปรับโครงสร้างทั้งระบบ” การปฏิรูปการศึกษามีค่า= 0

           เหตุผล เพราะว่าการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ เป็นการมองไปเพียงแค่ระบบการบริหารจัดการเท่านั้น ไม่ได้มองไปที่ “ผู้เรียน” ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญและเป็นวัตถุประสงค์ปลายทางของการจัดการศึกษา

           เพื่อเกิดประโยชน์แก่การบริหารการศึกษาไทย ผู้เขียนขอเสนอโครงสร้างใหม่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้พิจารณาเพื่อจะส่งผลต่อผู้เรียน ครู และผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด โดยไม่ได้ลงทุนไม่เสียเวลา ไม่เพิ่มบุคลากร ที่สำคัญจะตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาได้อย่างแท้จริง

           จากโครงสร้างใหม่ ที่นำเสนอเป็นการปรับปรุงการทำงานใหม่ของโครงสร้างเก่า เพียงแต่ปรับให้ “สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ” เป็นสายบังคับบัญชาสูงสุดและที่สำคัญ งานใดๆ ที่มีความซ้ำซ้อนกัน โอนไปให้สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้การพิจารณาปรับปรุงแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อมุ่งสู่การปฏิรูปการศึกษาจะได้เดินหน้าไปทันสังคมโลก และเข้าสู่มาตรฐานสากล และลงมือปฏิบัติได้ทันทีไม่ต้องรอแก้กฎหมาย ระเบียบใดๆ เป็น ประการที่หนึ่ง
  
           ประการที่สอง ที่สำคัญ คือการให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารและการจัดการด้วยตัวเอง  ทั้งเรื่อง งบประมาณ บุคลากร ทั้งนี้ โดยมีสังคม ชุมชน เข้าไปช่วยเหลือตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับแต่ไม่เคยนำมาใช้อย่างจริงจัง อาทิ พระราชบัญญัติโรงเรียนนิติบุคคล ซึ่งให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล โดยมีขอบข่ายและภารกิจ 4 ด้าน ดังนี้ 1.การบริหารวิชาการ 2.การบริหารงบประมาณ 3. การบริหารงานบุคคล และ4.การบริหารทั่วไป
    
           การปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการครั้งใหม่ เชื่อว่าไม่ได้ทำให้ “การปฏิรูปการศึกษา” เกิดขึ้นได้ แต่การปล่อยให้โรงเรียนที่มีความพร้อมเป็นอิสระ ตามพ.ร.บ.โรงเรียนนิติบุคคล มีอิสระจากกระทรวงศึกษาธิการในขอบข่ายและภารกิจ 4 ด้านดังกล่าว การปฏิรูปการศึกษาไทยเกิดขึ้นจริงแน่นอน     
  
           สำหรับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เดิม) หรือสกอ. ให้แยกเป็น “ทบวงการอุดมศึกษา” ตามความต้องการ ดังนั้นการจัดการศึกษา ที่เป็นพันธกิจสำคัญในการ "พัฒนาคน พัฒนาชาติ พัฒนาสังคม" ไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จ คนในชาติไทยต้องมีความรู้ความสามารถ ความสามัคคี ทุกคนสามารถเข้าถึงการให้บริการทางการศึกษาได้อย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ จึงจะส่งผลให้การพัฒนาประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย และเดินหน้าไปได้เต็มรูปแบบเกิดผลสูงสุดต่อการพัฒนาคน
  
           จึงกราบเรียนผู้มีอำนาจ ได้โปรดพิจารณาเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ ไม่ให้มีค่า= 0
  
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ