พระเครื่อง

‘กฐินจักรยาน’ปั่นด้วยใจไปด้วยศรัทธา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘กฐินจักรยาน’ปั่นด้วยใจไปด้วยศรัทธา : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยเสือทีพันโล เรื่องและภาพ

           นี่คือเรื่องราวของกฐินจักรยานทางไกล ในโครงการ "ปั่นไปสร้างไว้ในแผ่นดิน" ตั้งแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม-๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา จากต้นทางที่กรุงเทพฯ ไปสู่ปลายทางใน จ.อุตรดิตถ์

           พวกเราออกเดินทางจากสวนรถไฟ เขตจัตุจักร เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม เวลา ๐๘.๐๐ น.หลังเคารพธงชาติ เพื่อไปทอดกฐินวัดปากห้วยฉลอง ต.ผาเลือด อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ในวันที่ ๗ พฤศจิกายน รวมระยะทางมากกว่า ๕๕๐ กิโลเมตร เป็นการเดินทางโดยใช้จักรยานเป็นพาหนะในการบอกบุญระหว่างทาง จนกระทั่งถึงวัด เพื่อหารายได้ไปสบทบทุนสร้าง หอพระไตรปิฎก มหาเจดีย์ ซึ่งปัจจุบันยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เพราะยังขาดทุนทรัพย์อีกมาก แล้วไปสมทบกับกลุ่มนักปั่นจักรยานในพื้นที่ นำโดยอาจารย์สุจิต เจียงกองโค ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพจังหวัดอุตรดิตถ์ และนายสัจจา ขุทรานนท์ หรือน้าเป็ด ประธานชุมชนคนใช้จักรยานแห่งชาติ (ThaiNCC)

           เราจัดตั้งขบวนจักรยานทางไกลปั่นเพื่อทอดกฐินสามัคคีนี้ขึ้น โดยขอความร่วมมือจากนักปั่นจากภูมิภาคต่างๆ มาช่วยร่วมบุญครั้งนี้กัน การปั่นจักรยานทางไกลครั้งนี้จึงเป็นการ อาศัยแรงศรัทธาและจิตใจตั้งมั่นในพุทธศาสนาเพื่อสืบต่อประเพณีการทอดกฐินช่วงหลังวันออกพรรษาหนึ่งเดือนเพื่อให้คงอยู่กับสังคมไทย เป็นการร่วมสร้างสิ่งที่ทำให้ศาสนาสามารถเผยแพร่สืบต่อไปได้อีกนานยิ่งๆขึ้นไป โดยใช้กำลังกายและแรงอุตสาหะของนักปั่นแต่ละท่านที่มาร่วมโครงการครั้งนี้ ยึดหลักการเดินทางที่พอเพียง ที่พักระหว่างทางใช้วัดเป็นที่อาศัย ปูเสื่อนอนเต็นท์กันแบบเรียบง่าย อาหารการกินก็ดูแลตัวเองกันไป ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินกองบุญที่ได้มา

           การเดินทางปั่นจักรยานทางไกลครั้งนี้ เรารวบรวมนักปั่นพลังบุญได้ ๒๐ กว่าชีวิต แต่จุดเด่นๆ ที่เห็นความต่างของพลังบุญที่ต้องใช้กำลังใจในการเดินทางอย่างเหลือล้น ต้องอดทนต่อแสงแดด และอันตรายบนท้องถนน ครั้งนี้คงเป็นผู้หญิงสองคนที่ ไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ ที่มาร่วมในครั้งนี้ คือคุณป้าอายุ ๖๐ ปีที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ต้องผ่านการคีโมมาหลายครั้ง และเด็กผู้หญิงวัยเพียง ๑๒ ปีที่ปั่นจักรยานเป็นเพื่อนแม่ที่ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบซีจนกลายเป็นตับแข็งไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งคุณแม่ของเด็กหญิงเลือกวิธีออกกำลังกายและธรรมชาติบำบัดแทนการให้คีโม จะเรียกว่า ‘ปั่นเพื่อแม่’ เลยก็ว่าได้

           สำหรับคุณป้าอายุ ๖๐ ที่เล่ามา คือคุณป้าจินตนา คำขันตี หรือป้าจิ๋ว เป็นชาวอุตรดิตถ์โดยกำเนิด ปั่นจักรยานพิชิตโรคร้ายมาหลายปี ส่วนใหญ่เป็นการปั่นระยะไกลใช้เวลาหลายวัน จนสุขภาพแข็งแรงขึ้นใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยจักรยาน โดยหมดห่วงเรื่องสุขภาพ

           การร่วมปั่นครั้งนี้จะมีโจทย์ยากเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งคือ ต้องแบกน้ำหนักของพุ่มกฐินที่ติดหลังจักรยานของตน และจอดทุกครั้งเวลามีผู้คนริมทางโบกมือเรียก เพื่อขอร่วมทำบุญด้วย ซึ่งจะเหนื่อยกว่าปกติเพราะต้องแรงเพิ่มขึ้นในการให้รถจักรยานเคลื่อนที่ไป ยิ่งจอดบ่อยก็ต้องเพิ่มแรงหลายครั้ง แต่งานนี้ป้าจิ๋ว บอกไม่เป็นไรสบายหายห่วงถึงจะเหนื่อยแค่ไหน แต่ความตั้งใจงานนี้เต็มที่ ด้วยแรงศรัทธาสุดกำลัง

           ส่วนน้องปาล์ม หรือชื่อจริงๆ คือเด็กหญิงพรมพร ฟ้าไฟบุญ (นีลวัฒนานนท์) หนูน้อยวัยสิบสองปี เด็กหญิงอายุน้อยที่สุดในโครงการนี้หรืออาจจะน้อยที่สุดในวงการนักปั่นทัวริ่งในประเทศไทยก็เป็นไปได้ เริ่มต้นการปั่นด้วยการตามแม่ไปในที่ต่างๆ เนื่องจากแม่ของน้องปาล์มก็ใช้จักรยานในการรักษาสุขภาพด้วยเช่นกันและเป็นจิตอาสาอยู่ในกลุ่มนักปั่นสะพานบุญ (กลุ่มนักปั่นที่ปั่นจักรยานหาทุนบริจาคให้กับวัดต่างๆในต่างจังหวัด) ทำให้น้องปาล์มต้องปั่นจักรยานหาแรงบุญตามต่างจังหวัดไปด้วยตามแม่ของเธอ

            แต่ด้วยเป็นเด็กโฮมสคูล จึงไม่ติดปัญหาเรื่องการเรียน เพราะทุกเส้นทางของน้องปาล์มที่ปั่นไปไหนต่อไหนก็ตาม คือโรงเรียนที่คอยสั่งสอนให้ได้เรียนรู้ชีวิตและสิ่งต่างๆ รอบตัว อยู่ตลอดเวลา ทำให้โตเกินวัยทำประโยชน์ให้สังคมได้โดยไม่ต้องรอ เพราะเธอต้องพบกับความยากลำบากเหนื่อยไม่แพ้คนโต เนื่องจากน้องปาล์มก็มีพุ่มกฐินติดหลังรถจักรยานอีกทั้งยังต้องแบกสัมภาระส่วนตัวอีกด้วย แล้วผู้คนริมทางที่พอเห็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ มาร่วมปั่นกับคณะนี้ ก็พยายามเรียกให้หยุดเพื่อขอร่วมบุญ บางครั้งถึงกับขับรถปาดหน้าดักให้จอดกันทีเดียว

           และด้วยความที่ผู้ร่วมโครงการปั่นครั้งนี้ มีผู้หญิงต่างวัยมาร่วมด้วย จึงเป็นที่สนใจของผู้พบเจอระหว่างทาง จากการตั้งคำถามว่าพวกเธอมาทำอะไรกัน ก็กลายเป็นมิตรภาพที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทาง นำความปีติ พลังใจ และความสุขให้เกิดขึ้นทั้งผู้ปั่น และผู้ร่วมบุญ

           อายุจึงเป็นเพียงตัวเลข เพราะการเดินทางของนักปั่นทางไกลได้ก้าวข้ามกรอบของเวลา ไปเรียบร้อยแล้ว วงล้อที่หมุนไปบนหลังอานทำให้ทุกคนก้าวพ้นจากอคติ ความเชื่อเดิมๆ หลายอย่าง อาทิเช่น เด็กไปหรือเปล่า เป็นผู้หญิง เป็นคนแก่ ไปไหวหรือ จากคำถามด้วยความเป็นห่วงและกังวล นำไปสู่ความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ความเสียสละ ความอดทน ทุกกิโลเมตรที่ผ่านไป ทำให้จิตใจมั่นคงขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ปลดปล่อยพันธนาการทางความคิดให้หลุดไปกับสายลม เปลวแดดที่แผดเผา กระไอน้ำที่ระเหยไปในอากาศ จนในที่สุด ความคิดทั้งหลายที่เป็นลบก็มลายหายไป จนเกิดเป็น อิสรภาพทางใจในที่สุด

           หากมองภายนอก สุดท้าย โครงการ “ปั่นไป สร้างไว้ ให้แผ่นดิน” อาจจุดประกายสังคมให้มีการให้ แบ่งปัน การบริจาคทรัพย์ ตามกำลังศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นการฝึกลดละการยึดติด(ทรัพย์) ที่คิดว่าเป็นของตนได้บ้าง ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความปลึ้มปิติเกิดขึ้นภายในใจโดยไม่รู้ตัว และเมื่อมองเข้าไปสู่ภายในใจของนักปั่นล่ะ...เราเองก็ได้ปั่นเข้าไปในใจของเรา ได้เรียนรู้สภาวะจิตระหว่างทางที่ต้องต่อสู้กับมลภาวะรอบๆ ตัวหลายอย่าง เช่น ควันเสียจากรถยนต์ แต่รอยยิ้มระหว่างทาง เสียงสาธุ และคำกล่าวอนุโมทนาบุญตามทางที่ผ่านไป ทำให้เราเห็นว่า ทั้งผู้รับและผู้ให้ต่างมีใจเดียวกัน เท่านี้ก็เกินพอแล้ว

           ... ขออนุโมทนาบุญด้วยเทอญ สาธุ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ