บันเทิง

ปิดฉาก‘จีทีเอช’ค่ายหนังแห่งตำนาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปิดฉาก‘จีทีเอช’ ค่ายหนังแห่งตำนาน : ทีมข่าวบันเทิงรายงาน

             เป็นข่าวช็อกวงการบันเทิง และวงการภาพยนตร์เป็นอย่างมาก หลังบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ นำโดย บุษบา ดาวเรือง หรือ “เล็ก” ได้มีการแถลงยุติการดำเนินงานการทำงานของบริษัทจีทีเอช โดยระบุว่า จุดเริ่มต้นของจีทีเอช มาจากการรวมตัวของ 3 บริษัท คือ แกรมมี่, บริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด และบริษัท หับโห้หิ้น บางกอก จำกัด ตลอดระยะ 11 ปีที่ผ่านมาได้ร่วมกันบริหาร และสร้างผลงานในนามบริษัทจีทีเอชที่ทุกคนรู้จักมากมาย อาทิ ภาพยนตร์ พี่มากพระโขนง, ไอฟาย..แต๊งกิ้ว เลิฟยู้, รถไฟฟ้ามาหานะเธอ, ละครซีรีส์ ฮอร์โมน ฯลฯ

             จนเมื่อสักระยะเวลาที่ผ่านมา แนวทางการบริหารงานจากผู้ก่อตั้งจาก 3 บริษัทมีเป้าหมายและความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดย ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ต้องการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มเงินทุนในการพัฒนาโปรเจกท์ให้ใหญ่และหลากหลายมากขึ้น ขณะที่ หับโห้หิ้น บางกอก เห็นว่าบริษัทยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 1-3 ปีนี้ เนื่องจากปัจจุบันยังคงเน้นการผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ มีคุณภาพ และใส่ใจทุกขั้นตอนในการทำงาน การเข้าตลาดฯ ตอนนี้อาจทำให้เกิดภาวะกดดันที่ลดทอนความคิดสร้างสรรค์และคุณภาพของผลงาน

             สำหรับ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มองเห็นข้อดีของการพัฒนาบริษัทไปในทั้ง 2 ทิศทาง และพร้อมที่จะรับแนวทางที่ผู้ร่วมหุ้นทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ จากการที่ทุกฝ่ายพยายามพูดคุยเจรจาเพื่อหาทางออกมานานพอสมควร ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการวางเป้าหมายบริษัทร่วมกันได้ จึงเห็นตรงกันว่าหากยังจะดำเนินงานต่อโดยไม่สามารถหาข้อสรุปได้จะก่อให้เกิดผลเสียต่อทุกฝ่าย ดังนั้น จีทีเอช จึงตัดสินใจร่วมกันขอยุติการดำเนินงานของบริษัทลง โดยจะมีผลในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป

             สำหรับผลงานที่ผ่านมาทั้งภาพยนตร์และละครที่ผลิตในนามจีทีเอช ทั้ง 3 ฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะให้แกรมมี่ เป็นผู้บริหารสิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งจะมีการแต่งตั้งตัวแทนในการบริหารสิทธิ์อย่างเป็นทางการอีกครั้ง สำหรับผลงานที่ทางบริษัทกำลังดำเนินการผลิตอยู่นั้น ทางบริษัทจะผลิตต่อและนำออกเผยแพร่ในปี 2559 ในนามของบริษัทจนเสร็จสิ้น

             “จีเอ็มเอ็ม ไท หับ” หรือที่นิยมเรียกตามชื่อย่อว่า “จีทีเอช” เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายภาพยนตร์ไทยในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เกิดขึ้นหลังจากที่จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์, ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และ หับโห้หิ้น ฟิล์ม  ได้ร่วมกันสร้างภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” เมื่อปี พ.ศ.2546 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง “แฟนฉัน” ได้สร้างปรากฏการณ์ “แฟนฉันฟีเวอร์” กลายเป็นหนังเด็กและหนังไทยที่ทำเงินรายได้สูงสุด 137 ล้านบาท

             และจากความสำเร็จในครั้งนั้น ด้วยเคมีที่ตรงกันจึงถือกำเนิดบริษัทจีทีเอช ขึ้นมา โดยผลิตหนังไทยเรื่องแรกของค่าย “สายล่อฟ้า” ของผู้กำกับ ยุทธเลิศ สิปปภาค หรือ “ต้อม” ในปี 2547 จึงรวมตัวเป็นบริษัทเดียวกัน โดยใช้ชื่อบริษัทใหม่ มาจากชื่อต้น และอักษรย่อหน้าชื่อของบริษัทร่วมทุนทั้งสาม ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ได้แก่ G (51%) T (30%) และ H (19%) ฝ่ายบริหาร ประธานกรรมการ ได้แก่ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม วิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม

             จิระ มะลิกุล Head Producer วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และพัฒนาบทภาพยนตร์ เช่นชนนี สุนทรศารทูล ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภาพยนตร์และ Post-Production ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ ปรียาวรรณ สิริทรัพย์ทวี  ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสื่อและโปรโมทภาพยนตร์ วิชชพัชร์ โกจิ๋ว ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ กรรมการผู้จัดการ ช่อง GTH ON AIR บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด

             ทั้งนี้ มีบริษัทและกลุ่มธุรกิจในเครือ ได้แก่  สวัสดีทวีสุข, นาดาว บางกอก, กู๊ดธิงแฮพเพ่น, ซีเคร็ต ฟาร์ม, งานดีทีวีสุข, เสียงดีทวีสุข

             จีทีเอชมุ่งเน้นสร้างหนังไทยในระบบ “สตูดิโอ” ที่ครบวงจร มีระบบการทำงานที่ชัดเจน การจัดการที่มีมาตรฐานสากล  ผลประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อคนทำงานและพร้อมที่จะดูแลและให้ความช่วยเหลือกับ FILM MAKER ทั้งเก่าและใหม่ อย่างใกล้ชิด โดยยึดหลัก 3 ประการคือ “สดใหม่-คุณภาพ-จริงใจ” ซึ่งทั้งสามประการเปรียบเสมือนคุณลักษณะ ของทั้งสามบริษัทที่มีมาช้านาน จีทีเอชเป็นค่ายหนังไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากเป็นอันดับหนึ่ง จากคนในสังคมเมือง และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีหัวคิดทันสมัย

             ภาพยนตร์ของจีทีเอชมีความหลากหลาย ได้รับความนิยมชมชอบและทำรายได้ดีแทบทุกเรื่อง อาทิ เพื่อนสนิท รายได้ 80 ล้านบาท สี่แพร่ง รายได้ 85 ล้านบาท ห้าแพร่ง รายได้ 114 ล้านบาท รถไฟฟ้า มาหานะเธอ รายได้ 147 ล้านบาท กวน มึน โฮ รายได้ 125 ล้านบาท ลัดดาแลนด์ รายได้ 117 ล้านบาท ATM เออรัก เออเร่อ รายได้ 152.5 ล้านบาท พี่มาก..พระโขนง รายได้ 598.96 ล้านบาท (รายได้รวม 1,000 ล้านบาทจากทั่วประเทศ) คิดถึงวิทยา รายได้ 101 ล้านบาท ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้ รายได้ 335 ล้านบาท ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ รายได้ 86.7 ล้านบาท เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ รายได้ 74.12 ล้านบาท ฯลฯ

             นอกจากนี้ จีทีเอชยังผลิตผลงานละคร ซิทคอม และซีรีส์ที่ได้รับความนิยม อาทิ เนื้อคู่ประตูถัดไป เนื้อคู่อยากรู้ว่าใคร, หมวดโอภาส ยอดมือปราบคดีพิศวง, หมวดโอภาส เดอะซีรีส์, เนื้อคู่ The Final Answer, Hormones วัยว้าวุ่น, น้ำตากามเทพ ยังมีเรื่อง ไดอารี่ออฟตุ๊ดส์ซี่ ที่มีแผนจะออกอากาศเดือนมกราคม 2559 ทางช่อง จีเอ็มเอ็ม 25

             ผลงานคอนเสิร์ตและละครเวที อาทิ Feel Good Music & Movie Concert (ฉลอง 3 ปี จีทีเอช) ละครเวที ลำซิ่งซิงเกอร์ ฯลฯ และกำลังจะมีคอนเสิร์ต “STAR THEQUE GTH 11 ปีแสงคอนเสิร์ต” ที่จะจัดขึ้น วันที่ 19-20 ธันวาคมนี้ ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี

             ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานของบริษัทจีทีเอช การผลิตผลงานภาพยนตร์มากมายออกสู่สายตาประชาชน ส่วนใหญ่ภาพยนตร์จากค่ายนี้ มักจะได้รับการตอบรับที่ดี ภาพยนตร์แต่ละเรื่องกวาดรายได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ นันทขว้าง สิรสุนทร หรือ “เกี๊ยง” นักวิจารณ์หนังชื่อดังของเมืองไทย ได้วิเคราะห์ผ่าน นสพ.คม ชัด ลึก  เกี่ยวกับการสร้างปรากฏการณ์มากมายที่จีทีเอชทำไว้ให้กับวงการภาพยนตร์ รวมไปถึงความสำเร็จของการผลิตภาพยนตร์ และการนำมาซึ่งรายได้จำนวนมาก ข้อที่ 1 จีทีเอช ได้ทำให้โปรดักชั่นของหนัง มีคุณภาพขึ้นมาก จะพบว่าเมื่อดูหลายๆ เรื่อง มีการใส่ใจในงานผลิต การมีสแตนดาร์ดเหล่านี้ ทำให้ค่ายหนังไทยอื่นๆ ที่เคยมองข้ามความสำคัญของงานโปรดักชั่น ก็ต้องกลับมาให้ความสำคัญมากขึ้น

             ข้อที่ 2 เมื่อมองหนังจีทีเอชทุกเรื่อง จะพบว่า จุดเด่นอย่างหนึ่ง คือการสร้างเนื้อหาที่จับความรู้สึกของชนชั้นกลาง ในสังคมไทย เช่น รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ดึงความรู้สึกของสาวในสังคมไทยที่เปลี่ยวเหงา หรือ ฮอร์โมนส์ ซึ่งเป็นซีรีส์ ก็จับทัศนคติเรื่องเพศ ออกมาพูดอย่างจริงจัง แม้ในช่วงเวลาหนึ่ง หนังอย่าง เพื่อนสนิท ความเหงาของ ไข่ย้อย และ ดากานดา หนุ่มสาวในช่วงเวลานั้น ก็เป็นแบบนั้น นี่ยังไม่นับ พี่มากพระโขนง ซึ่งพลิกมุมมองของการทำ แม่นาคพระโขนง ที่มีมาตลอด จนกวาดรายได้ไปมหาศาล

             ขณะที่ทางสหมงคลฟิล์ม มุ่งไปจับหนังเกี่ยวกับความเชื่อ แต่ จีทีเอช ไม่ใช่ จีทีเอช เน้นเรื่องราวของชนชั้นกลางในตัวละครในหนังจีทีเอช มักเป็นคนที่เราสามารถเจอได้ทุกวัน ใน ออฟฟิศ โรงเรียน ในรถไฟฟ้า

             ข้อที่ 3 ข้อนี้เป็นสิ่งที่ชอบมากที่สุด จีทีเอชใช้ศักยภาพของการตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ เข้ามาช่วยหนังอย่างเต็มที่ บางครั้งหนังจะเจ๊ง ก็ไม่เจ๊ง บางครั้งหนังจะได้เงินปานกลาง ก็กลายเป็นได้เงินมาก มันทำให้เรามองเห็นอีกภาพหนึ่งว่า หนังที่ไม่ได้เงินในสัปดาห์แรก ถ้าค่ายหนังไม่ทิ้ง ก็สามารถกลับมาได้เงินต่อได้

             ข้อที่ 4 ข้อสุดท้าย บุคลากรต่างๆ ผู้กำกับ นักแสดง คนเขียนบท ได้ร่วมกับงานด้านโซเชียลมีเดีย ดีไซน์การทำงาน วางจังหวะในการโพสต์หัวข้อ อย่างเป็นเอกภาพ จีทีเอช มีความโดดเด่นมากเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย อย่างเป็นลำดับขั้นตอน

             รู้ว่าเวลาไหนควรจะโพสต์ และโพสต์อย่างไร โพสต์เวลาไหน ศักยภาพในข้อที่ 4 ที่กำลังจะพูดถึง เป็นหัวใจสำคัญของจีทีเอช ใน 3 ปีหลัง ขอสรุปว่า ไม่ว่าใครจะชอบหรือชัง จีทีเอช สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ก็คือ จีทีเอช เป็นค่ายหนังไทย เบอร์หนึ่ง ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา และได้สร้างคุณูปการหลายอย่าง รวมทั้งได้ปลุกปั้นนักแสดงหน้าใหม่อย่างต่อเนื่องให้กับวงการหนังไทย

             การแยกทางของจีทีเอช ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย พวกเขาทำหนังดีให้กับวงการไทยได้ดูกัน บางทีในอนาคตอันใกล้ พวกเขาอาจจะกลับมารวมตัวกันอีกในบางโปรเจกท์

             ไม่ต้องห่วงอนาคตของจีทีเอช แต่ให้ห่วงทัศนคติของคนดูหนังไทยมากกว่า

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ