Lifestyle

องค์การเภสัชกรรมส่งยาคุณภาพทุกภูมิภาคทั่วไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

องค์การเภสัชกรรมส่งยาคุณภาพทุกภูมิภาคทั่วไทย

           องค์การเภสัชกรรม กระจายยาและเวชภัณฑ์สู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยกระจายสู่ระบบบริการสุขภาพในภาครัฐมากกว่า 95% ของการบริการทางการแพทย์อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ที่มีโรงพยาบาลชุมชนอยู่ 800 กว่าแห่ง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 100 กว่าแห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อีกประมาณ 10,000 แห่ง นับได้ว่า เป็นการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์กระจายลงไปถึงในทุกระดับภูมิภาคของประเทศ นอกจากนั้น ยังเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการคลังยาของสถานบริการ และโรงพยาบาลต่างๆ ด้วยการนำระบบวีเอ็มไอ (Vender Managed Inventory) ทำให้ทราบถึงสถานะของปริมาณของยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้โรงพยาบาลได้มียาใช้อย่างเพียงพอ ต่อเนื่อง
 
            นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่จัดอยู่ในประเภท “รัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมและเทคโนโลยี”  มีหน้าที่หลักในการวิจัยพัฒนา ผลิต จัดหา และกระจายยา และเวชภัณฑ์ สู่ระบบสาธารณสุขของประเทศ เป็นกลไกหลักในการรักษาเสถียรภาพราคายาของประเทศ ไม่ให้ราคายาในท้องตลาดสูงเกินไป และเป็นราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งการที่องค์การเภสัชฯ เป็นหนึ่งในผู้จำหน่ายยารายใหญ่ของประเทศ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การกำหนดราคายาของผู้จำหน่ายยารายอื่นๆ ใช้ราคายาขององค์การเภสัชฯ เป็นแนวทาง ส่งผลให้ประชาชนได้เข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสมได้มากขึ้น
 
            “องค์การเภสัชฯ ทำหน้าที่ผลิต จัดหา และกระจาย ในปริมาณ และรายการยาและเวชภัณฑ์ที่เพียงพอต่อการเข้าถึงยาของประชาชน โดยมุ่งเน้นรายการยาที่มีความจำเป็นต่อระบบสาธารณสุขและสังคม ได้แก่ ยาผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเอชไอวี ซึ่งยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นยาที่มีการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร หรือซีแอล ซึ่งมีกติกาชัดเจนว่า องค์การเภสัชฯ ไม่สามารถจะทำกำไรได้ นอกจากนั้น ยังผลิตยาจำเป็นพื้นฐานอีกมากกว่า 300 รายการ กระจายผ่านระบบการบริการภาครัฐ อาทิ ยาความดันโลหิตสูง ยาเบาหวาน ยาแก้ปวดลดไข้ ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ถือได้ว่า เป็นผู้ผลิตและจัดหามากรายการที่สุดของประเทศ”
 
            “หัวใจที่สำคัญที่สุดของการดำเนินงาน คือ การให้ประชาชนใช้ยาที่มีคุณภาพ องค์การเภสัชฯ ดำเนินการผลิตยา และจัดหายา ภายใต้มาตรฐานจีเอ็มพี-พีไอซี/เอส คุณภาพของยาและปริมาณยาที่ผลิตต้องดำเนินควบคู่กันไปอย่างเคร่งครัด โดยมีหน่วยงานที่สำคัญคอยควบคุมและกำกับดูแล ได้แก่ หน่วยงานวิจัยและพัฒนา และหน่วยงานควบคุมคุณภาพ ที่ดำเนินการทุกอย่างตามมาตรฐานและขั้นตอน โดยหน่วยงานวิจัยและพัฒนา จะทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้สูตรตำรับยาที่มีประสิทธิผลในการรักษาเทียบเท่ายาต้นแบบ ส่วนหน่วยงานด้านควบคุมคุณภาพ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกส่วนจะทำการควบคุมคุณภาพการผลิตทุกขั้นตอน ตามมาตรฐานจีเอ็มพี-พีไอซี/เอส ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ โดยทำการควบคุมคุณภาพตั้งแต่วัตถุดิบ จนเป็นยาสำเร็จรูป จะไม่ยอมปล่อยผ่านยาที่ไม่ได้คุณภาพผ่านออกไปโดยเด็ดขาด”

            ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงผลงานขององค์การเภสัชฯ ในรอบปีที่ผ่านมาว่า ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต จัดหา และกระจาย ยาเชิงสังคมยาที่มีจำเป็น สู่ระบบสาธารณสุขของประเทศ เพื่อสนองนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ โดยทำการผลิตและจัดหายา ทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และยาที่ขาดแคลนในระบบสาธารณสุขที่มีผู้ผลิตน้อยราย ทำให้ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านยาให้แก่ประเทศได้ปีละไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557-กรกฎาคม 2558 ช่วยประหยัดไปแล้ว 4,090.89 ล้านบาท

            องค์การเภสัชฯ เดินหน้าขยายกำลังการผลิตเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงยาที่จำเป็นอย่างเพียงพอ กับโรงงานผลิตยาแห่งใหม่ตามมาตรฐานจีเอ็มพี-พีไอซี/เอส ที่รังสิต ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการผลิตยาแล้ว โดยดำเนินการผลิตยาเม็ดและแคปซูล กลุ่มยาที่มูลค่าการใช้สูง ยาต้านไวรัสเอดส์ ยาเบาหวาน ยาความดัน และยาจำเป็นอื่นๆ ในเบื้องต้นจะดำเนินการผลิตประมาณ 32 รายการ กำลังการผลิต 2,500 ล้านเม็ดต่อปี เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากกำลังการผลิตของโรงงานแห่งเดิม

            ส่วนการดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนก ตามมาตรฐานฮู-จีเอ็มพี ที่ จ.สระบุรี ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ให้บริษัทผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างต่อแล้ว ส่วนการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย ที่ดำเนินการผลิตโดยโรงงานต้นแบบ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร องค์การเภสัชฯ ดำเนินการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายในโรงงานต้นแบบ โดยผ่านการทดสอบระดับพรีคลินิกแล้ว
 
            “พบว่า มีความปลอดภัย และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ขณะนี้เตรียมเข้าสู่การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 1 และ 2 จะดำเนินการศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 ในกลางปี 2559 คาดว่า จะทราบผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกทั้งหมด ในกลุ่มอายุ 12-49 ปี ในปี 2560 และจะดำเนินการเพื่อขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต่อไป และจะนำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาใช้สำหรับการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละประมาณ 3.5 ล้านโดส และที่สำคัญจะเป็นศักยภาพและโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตวัคซีน เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้วยการพึ่งตนเองของประเทศไทย”
 
            นอกจากนั้น ในปี 2558 องค์การเภสัชฯ ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่จำนวน 8 รายการ ได้แก่ 1.ยาเม็ดลดความดัน Irbesartan ขนาด 300 มิลลิกรัม 2.ยาเม็ดลดไขมันในเส้นเลือด Fenofibrate ขนาด 160 มิลลิกรัม 3.ยาเม็ดรักษาจิตเวช Fluoxetine 20 มิลลิกรัม 4.ผลิตภัณฑ์สมุนไพรบำรุงความจำ “พรมมิ” ชนิดเม็ด เป็นการต่อยอดงานวิจัยจากคณะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยข่อนแก่น 5.ยาต้านไวรัสเอดส์ Efavirenz ขนาด 50 และ 200 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาตามประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร หรือซีแอล 6.ยาจิตเวช Fluoxetine dispersible ขนาด 20 มิลลิกรัม มีคุณสมบัติแตกตัว และออกฤทธิ์ได้เร็ว 7.ยาเม็ดรักษาอาการศีรษะล้าน GPO-Finax-1 ขนาด 1 มิลลิกรัม และ 8.ยาเม็ดรักษาผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตผิดปกติ GPO-Finax-5 ขนาด 5 มิลลิกรัม

            ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ยังได้พูดถึงแผนงานในอนาคตอันใกล้ขององค์การเภสัชกรรมว่า โรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนก จะเปิดดำเนินการผลิตวัคซีนได้ จำนวน 1 รายการ นอกจากนั้น มีแผนดำเนินการพัฒนาการดำเนินงานในทุกด้าน อาทิ แผนการก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งใหม่ในเฟส 2 ที่รังสิต เพื่อผลิตยาน้ำ ครีม ขี้ผึ้ง ยาปราศจากเชื้อ แผนการก่อสร้างโรงงานผลิตเภสัชเคมีภัณฑ์แห่งใหม่ เพื่อผลิตเคมีภัณฑ์ชุดทดสอบต่างๆ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ วัตถุดิบทางยา แผนการพัฒนาระบบคลัง และกระจายสินค้าให้มีความทันสมัย ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น กระจายได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ