Lifestyle

ลงพื้นที่ทำข่าวปัญหาสังคมพิราบฝึกหัดจำต้องเรียนรู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ลงพื้นที่ทำข่าวปัญหาสังคมพิราบฝึกหัดจำต้องเรียนรู้ : จารยา บุญมากรายงาน

           ในวันขับเคลื่อนประเด็นคนจนเมือง นักศึกษากว่า 10 คน ที่ทยอยลงพื้นที่สลัมบางปิ้ง จ.สมุทรปราการ เพื่อถ่ายภาพและหาข้อมูลมาเขียนงาน ในกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการที่จัดโดยสาขาวิชานิเทศศาสตร์นั้น เป็นอีกมุมหนึ่งของการศึกษานอกห้องเรียนที่น่าสนใจไม่น้อย หลังผ่านการอบรมภาคทฤษฎีมาเป็นเวลา 2 วัน นักศึกษาบางคนเลือกเดินเข้าไปในซอก หลืบ เล็กๆ ของสลัม ที่บางมุมมีซากปรักหักพังจากการรื้อถอน

           ขณะที่บางคนเลือกนั่งคุยกับแหล่งข่าวชาวบ้านด้วยความสนใจในปัญหาชุมชนเก่าแก่กว่า 150 ปี ที่กำลังมีปัญหากรณีการไล่รื้อจากเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเอกชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการดำเนินคดีในชั้นศาล นับเป็นปรากฏการณ์ภาคปฏิบัติของพิราบฝึกหัดที่ท้าทายพอสมควรกับการทำประเด็นเล็กๆ ของสังคม

           "ได้ยินชาวบ้านเขาเล่าว่า การออกหมายจากเจ้าของที่ดินสลัมบางปิ้ง เพื่อให้ชาวบ้านย้ายออกจากสลัม มันเป็นเรื่องจริงที่แสนเจ็บปวด แต่ก็น่าสนใจ เพราะเราเองก็ไม่เคยคิดว่าจะมีเรื่องแบบนี้มาก่อน มันเหมือนละคร แต่เป็นเรื่องจริง สลัมบางปิ้งใหญ่มาก มีทั้งพุทธ มุสลิม อาศัยอยู่ เราก็ยังสงสัยว่า แล้วคนมากขนาดนี้จะไปอยู่ตรงไหน แต่เดี๋ยวภาคบ่ายเราจะเข้าไปคุยต่อ หนูอยากได้ภาพมากกว่านี้ค่ะ ถ่ายไม่ได้ก็ถ่ายซ่อมเอาหลายๆ ครั้ง” วราภัสร์ มาลาเพชร นักศึกษาสาวสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงประสบการณ์จากการลงพื้นที่สลัมบางปิ้ง

           วราภัสร์ย้ำด้วยว่า จากข้อมูลที่ได้รับฟังจากชาวบ้านพอจะมีชุดความจริง และความเห็นหลายๆ ด้านที่พอจะประกอบการเขียนข่าวได้ แต่ในส่วนของการถ่ายภาพอาจจะต้องประเมินสถานการณ์หลายๆ ครั้ง และอาจต้องขอแหล่งข่าวถ่ายภาพในหลายมุม แม้ค่ายสารคดีที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้นจะเป็นช่วงสั้นๆ ของการอบรมเชิงปฏิบัติการ

           แต่ วราภัสร์และเพื่อนๆ ได้เรียนรู้หลายอย่างพร้อมกัน ตั้งแต่ทฤษฎีการถ่ายภาพสารคดี วิธีการสื่อความหมายจากองค์ประกอบภาพโดยช่างภาพมืออาชีพ ตลอดจนหลักการตั้งประเด็นคำถามเพื่อให้ได้งานเขียนที่เล่าเรื่องราว ซึ่งในที่นี้หมายถึงเรื่องราวของชุมชนสลัมบางปิ้ง

           วราภัสร์ เสริมข้อมูลอันน่าสนใจของชุมชนบางปิ้งด้วยว่า จากการสอบถามชาวบ้านในชุมชน ทราบว่ามีหลายคนถูกฟ้องดำเนินคดี โดยอ้างคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และย้ายที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2552 ทว่า ในปี 2557 คนในชุมชนยังต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินต่อเนื่อง เริ่มที่ 200 บาทเป็นอย่างต่ำ ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ชี้ว่า ชาวสลัมถูกเอาเปรียบ แต่อาจต้องพิสูจน์จากหลักฐานเอกสารต่อไป

           โดยส่วนตัวต้องการเขียนมุมมองผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการไล่รื้อชุมชน ซึ่งจากการสอบถามพบว่า มีทั้งมิติของการศึกษาในชุมชนมุสลิมที่ต้องยุติบทบาทลงไป และการสิ้นสุดของชุมชนที่ก่อร่างสร้างตัวมานานนับร้อยปี รวมทั้งความหวังในอนาคตของคนสลัมบางปิ้ง เพื่อสะท้อนว่าพวกเขาวางแผนอะไรบ้าง ข้อเท็จจริงของสลัมบางปิ้งจะเป็นอย่างไร

           ซึ่งจะตรงกับข้อมูลที่วราภัสร์และเพื่อนๆ ได้รับมาหรือไม่ ทว่าอย่างน้อยการเริ่มต้นศึกษาประเด็นปัญหาของสังคมในฐานะว่าที่นักสื่อสารรุ่นใหม่ ก็เป็นบทเรียนสำคัญนอกมหาวิทยาลัยที่ช่วยจุดประกายประเด็นขับเคลื่อนสังคมของคนจนเมืองได้

           ผศ.มัทนา เจริญวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวารสารศาสตร์ อธิบายถึงที่มาของโครงการว่า การจัดอบรมสารคดีครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการวิจัย “การเรียนการสอนแบบบูรณาการเพื่อการผลิตสารคดี:การเชื่อมโยงการรู้จักตนเองสู่ความเข้าใจสังคมและการสื่อสารสาธารณะ” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้ชุดโครงการ “ภาวนาคือชีวิต : วิถีชีวิตที่เอื้อต่อชุมชนและสังคม” และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร มีอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมเป็นนักวิจัย 4 คน คือ อ.ภัทราพันธ์ หรุ่นรักวิทย์ ผศ.มัทนา เจริญวงศ์ อ.สมศักดิ์ ชาติน้ำเพ็ชร และผศ.ดร.อภิญญา อิงอาจ

           “จริงๆ แล้วโครงการนี้มีกิจกรรมหลายอย่าง แต่จะต่างจากการอบรมสารคดีทั่วไปตรงที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับเรียนรู้แบบองค์รวมมาเกี่ยวข้องด้วย กิจกรรมส่วนนี้จะเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้และตระหนักในตัวเอง โดยมีข้อสมมุติฐานว่า หากนักศึกษารู้จักตัวเองก็จะเกิดความเข้าใจคนอื่น รวมถึงเข้าใจบริบทต่างๆ ที่แวดล้อมประเด็นที่จะนำเสนอด้วย เช่น รู้ว่าตัวเองอยู่ในภาวะอารมณ์แบบไหน ที่เขียนเรื่องแบบนี้เพราะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร รู้จักตั้งคำถามว่าตัวเราเองมีการรับรู้ หรือเข้าใจคนอื่นที่เป็นแหล่งข่าวของเราอย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น รวมทั้งมีความเข้าใจประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างไร” ผศ.มัทนา กล่าว

           ส่วนสาเหตุที่เลือกลงพื้นที่ชุมชนแออัดทั้ง 4 แห่ง คือ ชุมชนบางนา ชุมชนวัดใต้ ชุมชนช่องลม และชุมชนบางปิ้ง เนื่องจากตอนประชุมวางแผนการจัดกิจกรรมอยากให้นักศึกษาลงพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย แต่มีเรื่องราว มีมิติของความเป็นมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก หรืออาจมีแง่มุมความขัดแย้ง แต่ต้องไม่ไกลมากจนมาเก็บข้อมูลซ้ำสองด้วยตัวเขาเองไม่ได้ จึงสรุปกันว่าจะให้นักศึกษาลงพื้นที่ชุมชนแออัด

           โดย ดร.ธรรมนิตย์ ได้ช่วยประสานติดต่อแกนนำเครือข่ายสลัมสี่ภาคก่อนลงพื้นที่เพื่อให้มีแกนนำชาวบ้านแต่ละชุมชนนำนักศึกษาลงพื้นที่ดังกล่าว และกำหนดว่า ลงพื้นที่ นักศึกษาจะต้องคิดประเด็นนำเสนอเอง ไม่มีโจทย์บังคับว่าต้องทำประเด็นไหน พวกเขาสามารถคิดเองได้เต็มที่ เท่าที่ลงภาคสนามนักศึกษามีความตื่นตัวกันดี หลายกลุ่มมีประเด็นที่น่าสนใจ

           ด้าน สุปรียา นาวาทอง ผู้ประสานงานชุมชนบางปิ้ง ที่นำคณะศึกษาลงพื้นที่ กล่าวว่า รู้สึกดีที่มีค่ายเยาวชนเข้ามาทำความรู้จักกับชุมชน อย่างน้อยคนรุ่นใหม่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถรับฟังปัญหาคนจนเมืองแล้วถ่ายทอดออกสู่สังคมได้ ยิ่งรู้ว่าเป็นนักศึกษาที่เรียนด้านงานข่าวด้วยแล้ว ก็ยิ่งน่ายินดี เพราะประเด็นคนเล็กคนน้อย ปัจจุบันนี้แทบไม่มีมุมสาธารณะให้เล่าขานแล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ