ข่าว

ภัยแล้งลามจ.อุตรดิตถ์ชาวบ้านแห่จองคิวซื้อน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภัยแล้งลามพื้นที่อ.ตรอน ชาวบ้านเริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พ่อค้าเร่งสูบน้ำในบ่อของตังเองส่งขายให้ชาวบ้าน หลังยอดสั่งจองซื้อน้ำอุปโภคบริโภคคิวยาวเป็นหางว่าว

               สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จ.อุตรดิตถ์ ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยนายเสริม อ้นน่วม และนางสมัย อ้นน่วม สองสามีภรรยา ชาวบ้านหมู่ 5 ต.น้ำอ่าง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ซึ่งมีบ่อน้ำส่วนตัวในบริเวณบ้านและเป็นแห่งเดียวของต.น้ำอ่างที่ยังมีน้ำเพียงพอ ได้เร่งสูบน้ำในบ่อส่วนตัวบรรจุใส่ถังบนรถบรรทุก เพื่อออกตระเวนขายให้เพื่อนบ้าน ซึ่งตอนนี้แต่ละวันยอดสั่งซื้อน้ำจำนวนมาก จนต้องจัดคิวส่งก่อนหลังเป็นคิวยาวเหยียด
    
               นางสมัย อ้นน่วม กล่าวว่า ภัยแล้งปีนี้มาเร็วมากปกติตนเริ่มขายน้ำช่วงเดือนมีนาคมแต่ปีนี้เริ่มขายตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ที่บ้านมีบ่อน้ำตื้นเชื่อว่าน่าเป็นตาน้ำพอดีทำให้มีน้ำตลอดทั้งปี เข้าช่วงหน้าแล้งตนจะหยุดทำนา แล้วหันมาส่งน้ำขายให้เพื่อนบ้านถังละ 15-20 บาท แล้วแต่ระยะทางใกล้ไกลโดยแต่ละถังจะบรรจุน้ำขนาด 200 ลิตร ซึ่งเดือนมกราคม 58 ยอดสั่งซื้อน้ำมีจำนวนมาก ต้องลงบันทึกไว้จะได้ไม่ลืมและจัดส่งให้ตามคิวที่สั่งจอง ซึ่งจะตระเวนไปส่งทุกซอกทุกซอยในต.น้ำอ่าง โดยเฉพาะพื้นที่หมู่ 3, 5,และ 10 ที่แล้งรุนแรงซ้ำซาก บางวันต้องเฉลี่ยกระจายให้ครบทุกบ้านให้พอมีน้ำใช้ในครัวเรือนไปก่อน ซึ่งทำแบบนี้มากว่า 10 ปีแล้ว

               ทุกวันนี้ตนและสามีจะตระเวนออกไปส่งน้ำให้ชาวบ้านที่สั่งจองวันละประมาณ 10 เที่ยว โดยรถไทยแลนด์ 1 คันสามารถบรรทุกได้ 11 ถัง วันหนึ่งส่งน้ำให้ชาวบ้านได้ 110 ถัง โดยเริ่มตั้งแต่เช้ามืดไปถึงค่ำๆ ทำให้ครอบครัวมีรายได้ในช่วงหน้าแล้ง เพราะครอบครัวของตนไม่ได้ทำนา โดยเฉลี่ยแล้วตนมีรายได้จากการส่งน้ำขายประมาณวันละ 2,000 บาท ซึ่งก็หวังจะเก็บเงินจำนวนนี้ไว้ เพื่อเป็นทุนในการทำนารอบใหม่ เมื่อถึงช่วงหน้าฝน

               ด้านนายจร คำมา อายุ 74 ปี ชาวบ้านหมู่ 2 ต.น้ำอ่าง กล่าวว่า ชาวบ้านรู้ว่าต้องแล้งรุนแรงไม่มีน้ำใช่แน่นอนเพราะเป็นเช่นนี้ประจำทุกปี แต่ยอมรับว่าปีนี้ภัยแล้งมาเร็ว ต้องลงทุนซื้อถังน้ำขนาด 5,000 ลิตร มาตั้งไว้หน้าบ้านก่อนสั่งซื้อน้ำจากนางสมัยและนายเสริม อ้นน่วม ต้องสั่งซื้อน้ำ 25 ถัง ถึงจะเต็มถังสำรองของตน เข้าใจถึงสถานการณ์ว่า ทุกปีต้องซื้อน้ำใช้จนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาพื้นที่ต.หนองแขม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ต้องปรับตัวหลังน้ำในคลองชลประทานลดลงโดยปรับเปลี่ยนอาชีพไปปลูกพืชระยะสั้นใช้น้ำน้อยแทนการทำนา โดยนายบรรจง พ่วงเพ็ง อยู่บ้านเลขที่ 57/1 ต.หนองแขม อ.พรหมพิราม กล่าวว่า ทำนาเป็นอาชีพหลักหลังน้ำในคลองชลประทานแห้งขอด ปลูกข้าวไม่ได้ กรมชลประทานได้ขอความร่วมมือให้งดทำนา เนื่องจากจะไม่มีการปล่อยน้ำมาช่วยพื้นทีเกษตรถึงพฤษภาคม 2558 แม้ตนมีบ่อบาดาลแต่คำนวณแล้วไม่คุ้มกับการจ่ายค่าน้ำมันเพื่อดึงน้ำใต้ดินมาใช้ อีกอย่างข้าวช่วงนี้ราคาไม่ดีคิดว่าไม่เสี่ยงดีกว่า

               จึงหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยในนาข้าวเพื่อส่งขายตลาดเช่นถั่วลำน้ำชีซึ่งเป็นถั่วเนื้อแน่นเป็นที่ต้องการของตลาดราคากิโลกรัมละ 30 บาท หรือมะเขือเจ้าพระยา ซึ่งเป็นมะเขือเนื้อเยอะ ส่วนใหญ่นำไปทำแกงเขียวหวาน ราคากิโลกรัมละ 15 บาท พืช 2 ชนิดเป็นพืชที่ใช้น้ำไม่เยอะ จึงเป็นทางเลือกช่วงหน้าแล้งเมื่อคำนวณแล้วรายได้ดีกว่าทำนาเสียอีก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ