Lifestyle

ลอดถนนใต้ดิน เยือนถิ่นลาวครั่ง 'บ้านนาตาโพ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชวนเที่ยว : ลอดถนนใต้ดิน เยือนถิ่นลาวครั่ง 'บ้านนาตาโพ' : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์

 
                           อุทัยธานี เมืองเล็กๆ ไม่ไกลกรุง จัดเป็นเมืองที่ผ่านบ่อยมากๆ แต่ไม่บ่อยครั้งที่พักตัวเองลงกลางทางแถวเมืองนี้ แต่พอลองไว้แวะสักครั้ง ก็มักมีครั้งต่อๆ ไปตามมา 
 
                           ครั้งนี้จะลองไปเที่ยวท่อง ส่องถิ่นวิถีของชาวบ้านใน อ.บ้านไร่ อำเภอที่อยู่ตอนใต้ของอุทัยธานี ที่นี่ เป็นถิ่นที่ชาวลาวครั่ง และลาวเวียง ที่อพยพมาจากประเทศลาว มาอาศัยอยู่ตั้งแต่เมื่อ 300 ปีก่อน พร้อมๆ กับนำเอาประเพณี วัฒนธรรมติดตัวมาด้วยและยังคงรักษาไว้จนทุกวันนี้ โดยเฉพาะการทอผ้าฝ้ายแบบดั้งเดิมที่มีลวดลายและสีสันงดงาม โดยนำเส้นฝ้ายมาย้อมด้วยสีธรรมชาติ เช่น ครั่งที่ให้สีแดง ซึ่งนิยมมาแต่โบราณจนเรียกตัวเองว่า ลาวครั่ง  
 
                           ถึงบ้านไร่ แวะไว้พระที่ วัดผาทั่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านผาทั่ง หมายถึงบ้านที่มีน้ำมากระทบกับหน้าผา  วัดนี้สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของคณะศิษยานุศิษย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมื่อก่อนตั้งอยู่บริเวณท่าน้ำเชิงสะพานเข้าหมู่บ้าน  แต่ที่ตั้งเดิมคับแคบ และน้ำท่วมอยู่บ่อยๆ ชาวบ้านเลยพร้อมใจกัน ย้ายวัดไปอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน ในตำบลห้วยแห้ง โดยมีเนื้อที่ 60 ไร่เศษ  
 
                           ในส่วนของตัววิหาร ที่อยู่ด้านหน้า จะเห็นพระพิมหลวงพ่อโต ประดิษฐานเด่นชัดที่ซุ้มประตู นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้ร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์ฯ สร้างองค์หลวงพ่อโตปางประทานพร ขนาดใหญ่ สูง 52 เมตรวัดจากฐานกลีบบัว และกว้าง 24 เมตร จากเข่าซ้ายถึงเข่าขวา จัดได้ว่าเป็นพระที่องค์ใหญ่อันดับต้นๆ ของเมืองไทยเลยทีเดียว ใช้เวลาสร้างนานถึง 8 ปี ฐานด้านใต้องค์หลวงพ่อโต เปิดให้คนเข้าไปไหว้พระได้ โดยมีประดิษฐานรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์, หลวงปู่ทวด หลวงปู่ศุข ไว้ด้วย  
 
                           ส่วนที่ตั้งเดิมของวัดผาทั่ง ก็ปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 ชุมชนบ้านผาทั่งเป็นหนึ่งในชุมชนทอผ้าลายโบราณที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุทัยธานี จนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งราชินีผ้าฝ้าย มีการสืบสานและอนุรักษ์ลายผ้าโบราณสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่การปลูกฝ้าย เก็บเกี่ยว และเข้าสู่กระบวนการปั่นฝ้าย และทอผ้า โดยมีลายพญานาคเล่นน้ำเป็นลายที่ยากที่สุด ซึ่งผ้าทอบ้านผาทั่งนี่เอง ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโก เป็นผ้าทอคลุมเตียง ที่ประยุกต์ให้มีหน้ากว้างขึ้น 
 
                           ออกจากบ้านผาทั่ง ก็ตรงไปที่ บ้านนาตาโพ เพื่อไปชม ถนนใต้ดิน ที่เขาบอกว่า เป็นอันซีนหนึ่งของถนนสายเดียวที่ไม่เหมือนใคร เพราะเป็นได้ทั้งคลองและถนน แถมยังเป็นถนนใต้ดินอีกด้วย ฉงนกันไม่ได้ไม่นาน รถอีเแต๊ก ก็พาเราออกจากหมู่บ้านมุ่งตรงไปที่ถนนสายอันซีนที่ว่านี้ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านราว 400 เมตร จากทางระนาบเดียวกัน  แต่ไปๆ มาๆ เหมือนมีกำแพงมาขนาบข้าง สูงขึ้นเรื่อยๆ บางช่วงอยู่สูงท่วมหัวทีเดียว ถนนสายนี้ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านอาศัยใช้ลำเลียงพืชผลทางการเกษตรออกมาจากไร่ แต่พอถึงช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำก็จะไหลมาตามถนนสายนี้กลายเป็นคลองไป  รอจนน้ำแห้งก็สามารถใช้สัญจรไปมาได้อีกครั้ง จะว่าไปมันก็คือเส้นทางไหลของน้ำ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั่นเอง แต่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกทาง
 
                           กลับมาที่ ศูนย์แสดงและสาธิตการทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาตาโพ ที่นี่เป็นอีกชุมชนที่ทอผ้าฝ้ายลายโบราณตามแบบฉบับลาวครั่ง ที่สืบสานการทอผ้ามาจากวัฒนธรรมของชาวลาวอพยพ ชาวบ้านที่นี่ ยังคงวิถีชนบทที่เลี้ยงดูตัวเองได้ ผู้ชายออกทำไร่ ทำนา ผู้หญิงอยู่บ้านทอผ้าฝ้ายตามแบบฉบับดั้งเดิม สมัยก่อนผู้หญิงจะทอผ้าใช้เองทุกอย่าง และจะได้แต่งงานหรือไม่ ก็อยู่ที่ผ้าทอชุดเครื่องนอนก่อนวิวาห์ด้วย เพราะต้องทอเองและนำไปให้แม่ของชายคนรักพิจารณาว่ามีคุณสมบัติพอที่จะเป็นสะใภ้หรือไม่  
 
                           นอกจากนี้ ยังมีการทอผ้าม่านถวายวัด โดยมากเป็นลวดลายเกี่ยวข้องกับสัตว์ ทั้งไก่ ช้าง ม้า ไปจนถึงผ้านุ่ง ผ้าห่ม  และประยุกต์การทอไปเป็นผ้าสารพัดประโยชน์อื่นๆ เช่น ผ้าคลุมโต๊ะ ผ้ารองจาน ผ้าขาวม้า ลวดลายที่มี เช่น ลายพญานาค ลายขอ ลายสัตว์ต่างๆ  ลายหมาน้อย ลายขอหลวง แล้วยังทำหมอนขิดอีกด้วย
 
                           คนที่รักผ้าทอ บอกเลยว่า มาที่นี่ไม่มีผิดหวัง นอกจากจะได้ชมผ้าทอโบราณที่เก็บรักษาไว้ เป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังมีผ้าทอจำหน่าย แต่ขอย้ำว่า ซื้อไปแล้วไม่ควรตัด แต่ใช้วิธีพับหรือพันจะเก๋กว่าและไม้ทำให้ผ้าเสียคุณค่าและราคา(ที่แพง) ด้วย   
 
                           ชมผ้าทอไปแล้ว เติมอาหารลงท้องด้วยสำรับฉบับชาวบ้าน แม้ไม่มีลาบไก่ลาวครั่งที่ขึ้นชื่อ แต่อาหารทุกอย่างอร่อยเริ่ด ที่ชุมชนนี้ปัจจุบัน จัดทำโฮมสเตย์ รองรับการมาเที่ยวพักผ่อน ชมวิถีชาวบ้านด้วย ขณะเดียวกันก็เปิดรับกลุ่มดูงานต่างๆ อีกด้วย 
 
                           ออกจากบ้านนาตาโพ แวะไปชมวัดที่ได้ชื่อว่า สวยงามที่สุดอีกแห่งหนึ่ง คือ วัดถ้ำเขาวง เป็นวัดที่สร้างในรูปแบเรือนไทยประยุกต์ ตัววัดเป็นอาคาร 4 ชั้นอยู่ติดกับเขา โดยตัวโบสถ์อยู่ชั้น 4 สร้างด้วยไม้สัก และไม้มะค่า  รวมทั้งใช้ไม้เก่าจากเรือนไทยแถวอยุธยาและอ่างทอง หลังคาประยุกต์มาจากลำพูน ฉากหลังเป็นเขาหินปูนสูง ด้านหน้ามีบ่อน้ำขนาดใหญ่ และสวนที่ตกแต่งด้วยหิน ไม้ประดับ  ส่วนบนเขามีถ้ำอีก 7-8 ถ้ำ  บางถ้ำเป็นที่นั่งวิปัสสนาของพระภิกษุ บางถ้ำมีค้างคาวอยู่ บางถ้ำมีหินงอกหินย้อย ใครมีแรงเหลือๆ จะลองทดสอบพละกำลังเดินขึ้นเขาไปเที่ยวชมถ้ำได้ 
 
                           อำเภอบ้านไร่ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่หลากหลายอีกไม่น้อย ทั้งน้ำตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รวมถึงวนอุทยานส่วนที่ติดกับอุทยานแห่งชาติพุเตย จ.สุพรรณบุรี  ซึ่งมีน้ำตกห้วยอ้ายเฒ่า ถ้ำพุหวายฯ ที่สุดท้ายต้องติดไว้ก่อน เพราะคงได้กลับมาเยือนกันบ่อยๆ 
 
                           เที่ยวอุทัย ไม่ไปไม่รู้จริงๆ
 
 
 
 
 
------------------------
 
(ชวนเที่ยว : ลอดถนนใต้ดิน เยือนถิ่นลาวครั่ง 'บ้านนาตาโพ' : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์)
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ