Lifestyle

เยือน 'บ้านคุกพัฒนา' เมืองในตำนานพระร่วง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถิ่นไทยงาม : เยือน 'บ้านคุกพัฒนา' เมืองในตำนานพระร่วง

 
                              บ้านคุกพัฒนา  ต.สารจิตร อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย แยกตัวออกมาจากบ้านคุก หมู่ที่ 2 ตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งชื่อของบ้านคุก ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคนคุก แต่เป็นชื่อที่ตั้งตามเรื่องราวในสมัยพระร่วง รวมถึงสถานที่ต่างๆ ในหมู่บ้าน ก็มีเรื่องเล่าที่สอดรับกับเหตุการณ์ในสมัยพระร่วงเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งว่าวพระร่วง ที่กลายมาเป็นของฝาก ของที่ระลึกของหมู่บ้านนี้ไปโดยปริยาย
 
                              ผู้ใหญ่นุช หรือ นางทรรศวรรณ ลิสวน เล่าให้ฟังว่า ตามตำนานเมืองพระร่วงเล่าว่า บ้านคุกพัฒนา เป็นสถานที่ที่พระร่วงคุกเข่าร้องไห้ สืบเนื่องจาก พระร่วงผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ ไปเล่นว่าว แล้วว่าวไปตกในนา ซึ่งนางคำกำลังดำนาอยู่ พระร่วงเกิดหลงรัก แต่นางคำกลัว ก็ออกอุบายด้วยการท้าแข่งกัน ดำนา พระร่วงได้ยินดังนั้นก็พูดว่า ข้าจะดำนาแล้ว นาจงมีแต่ต้นกล้าทั้งแปลงเดี๋ยวนี้ ทันใดนั้น ต้นกล้าก็งอกขึ้นเต็มท้องนาทันที นางคำ เห็นอย่างนั้นจึงตกใจ รีบวิ่งหนีพระร่วงทันที
 
                              เมื่อนางคำวิ่งมาถึงวัดศิริเขตคีรี นางคำก็ได้มาหลบอยู่บริเวณทุ่งนานั้น แล้วร้องเรียกให้คนมาช่วยชาวบ้านที่ผ่านมาแถวนั้นผ่านมาพอดี ได้ยินเสียงร้องช่วยด้วยๆ แต่ไม่เห็นใครเพราะนางคำซ่อนตัวอยู่ ก็แปลกใจที่นามันร้องได้ จึงกลายเป็นชื่อหมู่บ้าน บ้านนาร้อง 
 
                              นางคำซ่อนตัวอยู่นานเริ่มเห็นท่าไม่ดี เพราะไม่มีใครมาช่วยเลย พร้อมกับเห็นพระร่วงวิ่งตามมา จึงออกจากทุ่งนาวิ่งหนีไปอีกพื้นที่หนึ่ง เมื่อพระร่วงตามมาเข้ามาใกล้ เกิดสะดุดตอไม้ ล้มลุกคลุกคลาน จึงได้หันกลับมามองตอไม้ พร้อมสบถว่าตอบ้าอะไรเยอะเป็นแสนๆ ทำให้บริเวณนั้นมีตอผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก กลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านว่า บ้านแสนตอ ส่วนนางคำนั้นยังคงวิ่งหนีต่อไป พระร่วงก็ยังวิ่งตามไม่ลดละ แต่ตามเท่าไรก็ไม่ทัน จึงเสียอกเสียใจที่สาวเจ้าไม่รัก
จนถึงกลับคุกเข่าร้องไห้ และกลายมาเป็นชื่อหมู่บ้าน “บ้านคุก” นั่นเอง (เรื่องเล่าของพระร่วงยังมีอีกมาก อันเป็นที่มาของชื่อสถานที่ต่างๆ)
 
                              "ชาวบ้านคุก มี 230 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา แต่พอ อพท.เข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ก็มีการศึกษา ดูงาน และจัดการท่องเที่ยวขึ้นโดยเที่ยวอย่างที่ชุมชนเป็น ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วย เด็กๆ ก็ชอบ แล้วยังเป็นการสำนึกรักบ้านเกิดด้วย เพราะวันนี้ประเพณีหลายๆ อย่างที่หายไป ก็นำกลับมาทำกันใหม่ อย่างเช่นประเพณีกิน 4 ถ้วย การทำว่าวพระร่วง"  ผู้ใหญ่นุช เล่าให้ฟัง เพราะทุกวันนี้ หลังเสร็จจากหน้านา มีการปรับพื้นที่นาเป็นลานเล่นว่าว ทางชุมชนมีการทำว่าวประกวดกันด้วย โดยงานจะจัดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี  
 
                              นอกจากการรื้อฟื้นประเพณีดั้งเดิมของชุมชนแล้ว บ้านคุกพัฒนายังมีศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นตัวขับเคลื่อนให้ความรู้กับชาวบ้าน เน้น การพึ่งพาตนเอง การรวมกลุ่มพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง ลดภาระหนี้สิน  จนทุกวันนี้ บ้านคุกพัฒนามีกิจกรรมต่างๆ มากมาย พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว และผู้ที่จะมาศึกษาดูงานด้วย ทั้งการจัดทำเตาเผาถ่านอิวาเตะ เพื่อผลิตถ่านไม้ไผ่ที่เป็นคาร์บอนบริสุทธิ์ คือนำไฟฟ้าได้ โดยถ่านที่นำไฟฟ้าได้ จะเลือกมาทำเป็นสบู่บ้าง ทำหมอนสุขภาพบ้าง เพราะถ่านนี้จะช่วยดูดประจุไฟฟ้าจากร่างกาย ทำให้ร่างกายสมดุลได้ และยังมีผลพลอยได้จากการเผาถ่านก็คือ น้ำส้มควันไม้ ไว้เป็นปุ๋ย และไล่แมลง 
 
                              ที่น่าสนใจคือ ที่หมู่บ้านนี้ มีการทำน้ำดื่มขึ้นมาใช้กันเองในหมู่บ้าน ภายใต้แบรนด์ บ้านคุกพัฒนา ขวดพลาสติกที่บรรจุก็นำมารีไซเคิล ทันสมัยจริงๆ นอกจากนี้ก็มีการปลูกพืชผักเพื่อไว้รับประทนกันในครัวเรือน รวมถึงการรองรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ มานอนบ้านพักด้วยกัน ขณะเดียวกัน ก็มีการนำผู้เชี่ยวชาญ มาอบรมให้ความรู้กับชาวบ้านด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าพัฒนาไปคู่กันจริงๆ
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ