ข่าว

10ข่าวเด่น'บิ๊กตู่'ทุบโต๊ะรัฐประหาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

10ข่าวเด่น 'บิ๊กตู่'ทุบโต๊ะรัฐประหาร : ทีมข่าวการเมืองรายงาน

                "หากเป็นแบบนี้ ผมขอโทษด้วยนะที่ต้องยึดอำนาจ"

                 สิ้นคำประกาศิตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ตำแหน่งขณะนั้น) เป็นอันว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ถูกฉีกลงทันที

                 22 พฤษภาคม 2557 เวลาประมาณ 16.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ หรือ "บิ๊กตู่" ตัดสินใจทำ "รัฐประหาร" ยึดอำนาจการปกครองประเทศ หลังการเจรจา 7 ฝ่าย ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนรัฐบาล วุฒิสภา คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยกองทัพเป็นตัวกลางในการจัดหาสถานที่ เพื่อหวังแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งของประเทศ ต้องล่มลง โดยไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้

                 นาทีของการตัดสินใจทำรัฐประหารนั้น เริ่มจากในวงประชุม ทางแกนนำพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้รัฐบาลลาออก เพื่อเปิดทางให้มีนายกฯ คนกลาง ขณะที่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยืนกระต่ายขาเดียวว่า ทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย ส่วน นปช.เสนอให้ประชามติก่อน โดยการหารือใช้เวลา 2 ชั่วโมงเศษ ก่อนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ขอหารือกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.เพียงลำพัง แต่หลังการหารือนานกว่า 30 นาที เมื่อกลับมาก็ยังไม่มีข้อยุติ จน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพยายามรวบรัดการเจรจาในวงประชุมอีกครั้ง โดยถามว่า สรุปแล้วจะเอาอย่างไร และเมื่อนายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาลยืนยันว่า "รัฐบาลไม่ลาออก"

                 พล.อ.ประยุทธ์ จึงตัดสินใจทะลุกลางปล้องขึ้นว่า "หากเป็นแบบนี้ ผมขอโทษด้วยนะที่ต้องยึดอำนาจ" เล่นเอาตกตะลึงกันไปทั้งห้องประชุม มีบางคนยังนึกว่า พล.อ.ประยุทธ์พูดเล่น แต่ "บิ๊กตู่" เดินหันกลับมาพูดว่า “พวกคุณอยู่ตรงนี้ อย่าไปไหน” แล้วเดินออกจากห้องประชุมไปทันที จากนั้นทหารได้กรูเข้ามาในห้องประชุม และควบคุมตัวแกนนำทั้ง 7 กลุ่ม โดยแยก ส.ว.กับ กกต.ออกไป ทำให้เหลือ 5 กลุ่ม คือ กปปส. นปช. ตัวแทนรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ถูกคุมตัวไปยังค่ายทหารใน ร.1 รอ.

                 ปมเหตุความขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกลามบานปลาย เริ่มปะทุขึ้นหลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ฟังเสียงคัดค้าน เพราะคิดว่ามีอำนาจเสียง ส.ส.ในมือ เดินหน้าเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้ามาในสภา กลายเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ จนทำให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศนำเหล่ามวลมหาประชาชนออกมาชุมนุมตามท้องถนนสายต่างๆ

                 แม้ว่าหลังจากนั้นรัฐบาลจะยอมถอนร่าง พ.ร.บ.เจ้าปัญหานี้ออกไปก็ตาม แต่การชุมนุมประท้วงก็ยังไม่หยุดลง รวมถึงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในนามกลุ่ม นปช.จนทำให้เกิดการลุกฮือ กลายเป็นความแตกแยกของคนไทยทั้งแผ่นดิน กระทั่งเกิดเหตุลุกลามบานปลาย ระเบิดเอ็ม 79 ที่ถูกยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมไม่เว้นแต่ละวัน กระสุนปืนที่ลอบยิงเข้ามาจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะคดีทุจริตรับจำนำข้าว ที่ชาวนานำข้าวมาเข้าโครงการ แต่กลับไม่ได้รับเงิน จนต้องฆ่าตัวตายไปหลายคน และคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายของกองทัพ เพราะรู้ว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป ความรุนแรงจะไม่มีวันสิ้นสุด และนั่นย่อมหมายถึงโอกาสที่คนไทยจะเข่นฆ่ากันเอง กลายเป็น "สงครามกลางเมือง" ขึ้นได้

                 เหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น เป็นการทำรัฐประหารครั้งที่ 13 ของไทย ครั้งแรกคือเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา, ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา, ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 นำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง, ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

                 ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร, ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง, ครั้งที่ 9 วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร, ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ, ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครั้งที่ 13 วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

                 หลังจากยึดอำนาจแล้ว พล.อ.ประยุทธ์พร้อมด้วย ผบ.เหล่าทัพทุกเหล่าทัพ ได้ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ต่อจากนั้นได้ออกคำสั่งแต่งตั้ง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช.ขึ้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นหัวหน้า คสช.เอง ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 และเดินหน้า "แผนโรดแม็พปฏิรูปประเทศ"

                 โรดแม็พที่ว่านี้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นระยะเพื่อความปรองดอง ในกรอบเวลาประมาณ 2-3 เดือน, ระยะที่สอง คือ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อปฏิรูปการเมือง ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีบวกลบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความร่วมมือ ซึ่งถ้าหากปฏิรูปสำเร็จแล้วก็จะเข้าสู่ ระยะที่สาม คือการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

                 การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ยังเป็นต้นกำเนิดของ "แม่น้ำ 5 สาย" อันประกอบด้วย แม่น้ำสายที่ 1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนไม่เกิน 220 คน เพื่อทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ, แม่น้ำสายที่ 2 คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินชั่วคราว, แม่น้ำสายที่ 3 คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวนไม่เกิน 250 คน ทำหน้าที่เสนอแนะแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวมทั้งการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่, แม่น้ำสายที่ 4 คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน ทำหน้าที่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาตราต่างๆ และแม่น้ำสายที่ 5 ที่เป็นสายสุดท้าย คือ คสช. ทำหน้าที่แบ่งเบาภาระรัฐบาลในด้านการดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศ รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อนำไปปฏิบัติ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของโรดแม็พขั้นที่สอง คือการร่างรัฐธรรมนูญ

                 การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ จึงถือเป็นการเดิมพันอนาคตประเทศครั้งสำคัญ เพราะหากไม่สามารถออกแบบปฏิรูปประเทศไปในแนวทางสร้างสรรค์ ตามที่ตั้งใจไว้ได้ ไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่สามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงเลือกตั้ง และยังคงเปิดช่องให้นักการเมืองเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ แทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ ได้เหมือนเดิมแล้ว สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์และกองทัพ ตัดสินใจเทหมดหน้าตักครั้งนี้ ก็จะกลายเป็นการ "เสียของ" และนั่นหมายถึงโอกาสที่กงล้อรัฐประหารอาจจะย้อนกลับมาให้เห็นอีกก็เป็นได้
                                                                                                                                          
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ