บันเทิง

วินเซนต์กับคืนที่ดาวเต็มฟ้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วินเซนต์กับคืนที่ดาวเต็มฟ้า : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... วิภว์ บูรพาเดชะ

 
   
          ค่ำคืนที่ดวงดาวพร่างพรายเต็มท้องฟ้าคืนหนึ่งในเดือนมิถุนายนปี 1889 เคยเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินโพสต์-อิมเพรสชั่นนิสต์ชื่อ วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent Van Gogh ภาษาดัตช์ออกเสียงว่า ฟินเซนต์ ฟัน โคค) ถ่ายทอดภาพดวงดาวพราวพร่างในสายตาของตัวเอง จนกลายเป็นภาพเขียน The Starry Night อันโด่งดัง พอๆ กับภาพดอกทานตะวันหรือภาพพอร์เทรตของตัวเขาเองที่เป็นงานชิ้นสำคัญไม่แพ้กัน
 
          วินเซนต์เขียนภาพนี้จากวิวนอกหน้าต่างของโรงพยาบาลบ้า
 
          เราไม่รู้แน่ชัดว่าเขา ‘บ้า’ แค่ไหน ที่แน่ๆ ก็คือวินเซนต์เคยคลุ้มคลั่งถึงขนาดที่ตัดหูข้างซ้ายของตัวเองทิ้ง และเขาต้องไปอยู่ในโรงพยาบาลบ้าเป็นเวลากว่าหนึ่งปี
 
          แต่การตัดสินว่าใครบ้าหรือไม่บ้าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก หากย้อนไปศึกษาประวัติของศิลปินชื่อก้องโลกคนนี้ เราจะพบว่าวินเซนต์อาจจะเป็นเพียงชายหนุ่มผู้อ่อนไหวคนหนึ่ง เขาเพียงแค่สนใจเรื่องศาสนาอย่างจริงจัง เขาเพียงแค่อยากจะมีชีวิตตามครรลองของสังคมในยุคนั้น เขาเพียงแค่มีความรักให้กับหญิงสาว แต่ทุกสิ่งที่เขาต้องการกลับตอบปฏิเสธอย่างไรเยื่อใย ในที่สุดเขาก็พบว่าตัวเองเหลือเพียงแค่งานศิลปะ และน้องชายของเขาที่ชื่อธีโอเท่านั้น ที่ยังพอใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจได้บ้าง
 
          หลังกลับคืนสู่สังคมปกติ วินเซนต์ยังคงใช้ชีวิตอย่างลำบากแร้นแค้น แต่เขายังวาดรูปเป็นจำนวนมากและเขียนจดหมายถึงธีโออย่างสม่ำเสมอ ผลงานในช่วง 2 ปีหลังจากออกจากโรงพยาบาลถือว่าเป็นห้วงเวลาที่ความสามารถทางศิลปะของเขาเข้าสู่จุดสูงสุด เส้นสายสั่นสะเทือน สีสันรุนแรง แสดงถึงอารมณ์พลุ่งพล่านและเป็นภาพแทนมุมมองจากสายตาเฉพาะตัวของศิลปินได้อย่างน่าตื่นใจ
 
          แต่ทุกอย่างยังคงไม่มีอะไรดีขึ้น งานศิลปะของเขายังคงไม่มีใครสนใจ ในที่สุดวินเซนต์ก็พานพบกับความมืดมนในจิตใจอีกครั้ง เขาตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการยิงสีข้างตัวเองเมื่ออายุ 37 ปี 
 
          ตลอดชีวิตของวินเซนต์ เขาวาดรูปไปกว่า 2,000 ชิ้น และเขียนจดหมายถึงธีโอกว่า 600 ฉบับ จดหมายเหล่านี้ก็กลายเป็นหลักฐานบ่งบอกความคิดและชีวิตของวินเซนต์ที่หลงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลัง
 
          แล้วคนรุ่นหลังนี่เองที่ค่อยๆ ยกย่องให้ วินเซนต์ แวน โก๊ะ เป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก เมื่อเวลาผ่านไปผลงานของเขาก็กลายเป็นของล้ำค่า และชีวประวัติแสนขื่นขมของเขาก็กลายเป็นตำนาน
 
          เวลาผ่านไปราว 80 ปีหลังความตายของวินเซนต์ ในเช้าวันหนึ่งของฤดูใบไม้ร่วงปี 1970 ชายหนุ่มชาวอเมริกันชื่อ ดอน แม็กลีน (Don Mclean) กำลังอยู่กับวันเวลาที่ย่ำแย่ เขามีชีวิตแต่งงานที่ขมขื่น ความฝันที่อยากจะเป็นนักร้องชื่อดังก็ยังไปไม่ถึงไหน ตอนนั้นการร้องเพลงของเขาก็มีแค่งานร้องเพลงให้เด็กๆ ในชั้นเรียนฟังเท่านั้น เช้านั้นดอนนั่งอ่านชีวประวัติของ วินเซนต์ แวน โก๊ะ อยู่ตรงเฉลียงหน้าบ้าน เรื่องราวชีวิตของวินเซนต์กระทบใจของดอนอย่างรุนแรง เขาเข้าใจทันทีว่าวินเซนต์ไม่ใช่คนบ้า เขาเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของศิลปินคนนี้ แล้วเขาก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะแต่งเพลงเกี่ยวกับชีวิตของศิลปินผู้อาภัพคนนี้
 
          ดอนหาภาพ The Starry Night มานั่งดู แล้วเขาก็เริ่มแต่งเพลง
 
          “Starry, starry night...”
 
          เพลง Vincent ไม่มีอินโทรใดๆ ทั้งสิ้น นักแต่งเพลงหนุ่มเพียงเริ่มต้นคำแรกและโน้ตแรกของเพลงจากชื่อภาพของ วินเซนต์ แวน โก๊ะ ที่เขาถืออยู่ในมือ แล้วหลังจากนั้น เนื้อเพลงที่งดงามที่สุดเพลงหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรีอเมริกันก็ค่อยๆ ถูกวาดขึ้นมา
 
          ดอนใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับสีสันที่เปี่ยมอารมณ์ในหลายๆ ท่อนเพลงอย่าง “Swirling clouds in violet haze”, “The eyes of China blue” หรือ “Snowy linen land” ซึ่งดูจะเป็นการใช้ถ้อยคำมาระบายสีในวิถีเดียวกับที่วินเซนต์ใช้พู่กันบรรเลงความรู้สึก มีการพูดถึงดอกทานตะวันจากภาพวาดเลื่องชื่อภาพหนึ่งของวินเซนต์ว่า “Flaming flowers that brightly blaze” นอกจากนี้ ดอนยังใส่ถ้อยคำปลอบประโลมราวกับว่าเขาแต่งเพลงนี้โดยมีวินเซนต์มานั่งอยู่ตรงหน้า ช่วงหนึ่งดอนเขียนว่า เขาเข้าใจความเจ็บปวดจากการพยายามทำให้ตัวเองให้ดูเป็นคนปกติของวินเซนต์!
 
          นักแต่งเพลงหนุ่มแบ่งท่อนเวิร์สของเพลงออกเป็น 3 ท่อน สองท่อนแรกลงท้ายด้วยความหวังที่ค่อยๆ ริบหรี่ลง ก่อนจะปิดท้ายเพลงด้วยความหวังที่มอดดับไป ในช่วงกลางเพลงเขายังแทรกเรื่องอัตวินิบาตกรรมของวินเซนต์ไว้อย่างงดงามราวบทกวี
 
          เพลง Vincent ของ ดอน แม็กลีน กลายเป็นดังขนาดที่ติดอันดับ 1 ที่ประเทศอังกฤษ แล้วมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัลบั้ม American Pie (1971) ของเขากลายเป็นงานอมตะของคนดนตรีโฟล์กมาจนทุกวันนี้
 
          เพลงนี้ยังเข้าไปอยู่ในใจของศิลปินจำนวนนับไม่ถ้วน นักร้องหลากหลายแนวเพลงคัฟเวอร์เพลงนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า มีตั้งแต่วงร็อกหนักๆ ศิลปินป๊อปจ๋า ยันคนดนตรีแจ๊ส 
 
          แต่เวลาและสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดที่เพลง Vincent ถูกนำไปบรรเลง ก็คือที่พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะที่อัมสเตอร์ดัม เพลงหวานเศร้าเพลงนี้ถูกเปิดเป็นบรรยากาศในพิพิธภัณฑ์ทุกวัน ในห้องที่จัดแสดงพู่กันที่ครั้งหนึ่งวินเซนต์ แวน โก๊ะ เคยใช้ระบายอารมณ์และความรู้สึก
 
          “ตอนนี้ฉันคิดว่าฉันเข้าใจสิ่งที่เธอพยายามบอกฉันแล้ว         
          วมทั้งความเจ็บปวดจากความปกตินั่นด้วย
          เธอพยายามที่จะปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระ
          แต่พวกเขาไม่เคยฟัง ...ตอนนี้ก็ยังไม่ยอมฟัง
          บางที พวกเขาอาจไม่มีวันรับฟัง”
 
          ชีวิตและผลงานของวินเซนต์ถูกนำมาตีความ วิเคราะห์ และเล่าซ้ำในปริมาณนับไม่ถ้วน วันนี้เขากลายเป็นศิลปินที่คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี แต่ภายใต้คำที่กว้างใหญ่อย่าง ‘ศิลปะ’ หรือ ‘ศิลปิน’ นั้น จะมีสักกี่คนกันที่เข้าใจชีวิตของเขาอย่างแท้จริง
 
          แต่อย่างน้อยที่สุด วันนี้ใครบางคนก็อาจเคยตั้งใจรับฟัง และแว่วได้ยินสุ้มเสียงแผ่วเบาที่แอบกระซิบอยู่ในภาพวาดของ วินเซนต์ แวน โก๊ะ บ้างแล้ว
 
          ผ่านทางบทเพลงที่ชื่อ Vincent ของ ดอน แม็กลีน
 
 
.......................................
(หมายเหตุ  วินเซนต์กับคืนที่ดาวเต็มฟ้า : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... วิภว์ บูรพาเดชะ)


 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ