คอลัมนิสต์

'เกาะเต่า'โมเดล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'เกาะเต่า'โมเดล : บทบรรณาธิการประจำวันที่1ต.ค.2557

              กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีแผนโปรโมท "ปีการท่องเที่ยววิถีไทย" เป็นแคมเปญหลักในปี 2558 โดยจะเปิดตัวในงาน เวิลด์ ทราเวล มาร์เก็ต 2014 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในเดือนพฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ โดยกระทรวงได้ตั้งเป้ารายได้ว่า จะมีเงินจากนักท่องเที่ยวมากถึง 2.2 ล้านล้านบาท เงินจำนวนนี้จะเป็นรายได้หลักในการพัฒนาประเทศ แต่ปัญหาปัจจุบันที่อาจทำให้ตัวเลขดังกล่าวไม่เข้าเป้าคือ ปัญหาภายในของเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กรณีเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ที่นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 คน ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม จนป่านนี้ยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีได้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อต่างชาติว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยทำงานด้วยความผิดพลาด สะเปะสะปะทำให้ฆาตกรฉวยโอกาสหลบหนีไปได้ นี่จะเป็นบาดแผลใหญ่ที่ทำให้ความไว้วางใจต่อการท่องเที่ยวในบ้านเราลดน้อยลง ซ้ำร้ายอาจทำให้ประเทศเพื่อนบ้านนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย

               นโยบายอีกด้านหนึ่งของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คือ การผลักดันเมืองท่องเที่ยวระดับรอง หรือที่เรียกว่า "เมืองดาวรุ่ง" ใน 12 เมืองทั่วประเทศเพื่อช่วยกระตุ้นธุรกิจท้องถิ่นและสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ ใช้คำว่า "บูรณาการ" เหตุจากงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งในสถานการณ์ปกตินั้นค่อนข้างน่าสนใจและมีแนวโน้มที่ดี แต่จนถึงขณะนี้ นอกจากแนวคิดหรือนโยบายที่วางไว้แล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องควบคุมและจำกัดวงให้ได้ คือ การก่อเหตุอาชญากรรมนักท่องเที่ยว กรณีเกาะเต่า เป็นอุทาหรณ์ที่ดี เพราะขนาดเกาะแห่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาส แต่กำลังเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวกลับไม่สอดคล้องกัน มีตำรวจหรือเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงไม่กี่คนที่ดูแลจำนวนนักท่องเที่ยวนับพันนับหมื่นคนที่ทยอยกันเข้าออกพื้นที่แห่งนี้

               นโยบายที่จะโปรโมทเมืองท่องเที่ยวรองหรือเมืองดาวรุ่ง จึงต้องใช้การบูรณาการจากทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย เป็นหลัก เพราะปัญหาของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับสองหน่วยงานนี้ตั้งแต่เรื่องการหลอกลวง ต้มตุ๋น การทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยวไปจนถึงเรื่องฆาตกรรม ขนาดเรื่อง 2 นักท่องเที่ยวที่เกาะเต่ายังไม่ทันจางก็มีคดีข่มขืนแหม่ม โดยมีการโพสต์ข้อความว่ าเหตุเกิดที่ จ.ชลบุรี ทำให้ประเทศไทยเสียภาพลักษณ์ลงไปอีก และช่องทางโซเชียลมีเดีย แบบนี้แพร่ไปเร็วและกระจายทั่วโลกด้วย ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ดูแลความปลอดภัย จะประสานหรือวางแผนการทำงานร่วมกันได้ โดยเฉพาะเมืองกลุ่มเมืองดาวรุ่ง 12 แห่ง ที่เป็นเป้าหมายหลักของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กรณีเกาะเต่าโมเดล น่าจะเป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องเข้าไปอุดรอยรั่ว และสิ่งสำคัญที่จะทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและเรียกความเชื่อมั่นกลับมาคือ การจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้และต้องไม่ใช่แพะด้วย
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ