ข่าว

'มาร์ค'ฟันธง'บิ๊กตู่'นายกฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'อภิสิทธิ์' ฟันธง 'ประยุทธ์' นั่งนายกฯ แน่นอน แนะปรับกติกาสรรหา 'สปช.' แก้ปัญหาล็อกสเปก ห่วงงบฯ58 ไม่กระตุ้นศก. เหตุต้องใช้หนี้เก่า

 
                           19 ส.ค. 57  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 ส.ค.นี้ ว่า ตอนนี้เป็นที่คาดหมายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะหลักสำคัญที่หัวหน้า คสช.ต้องมอบ คือ ต้องทำเพื่อให้เดินไปสู่ความสำเร็จ ส่วนที่มองว่า อาจขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่กำหนดให้หัวหน้า คสช.คานอำนาจกับนายกรัฐมนตรีนั้น ส่วนตัวมองว่า เราอยู่ในระบบที่มีความผิดปกติ และมีข้อยกเว้นอยู่แล้ว ดังนั้นการตัดสินใจของ คสช.ต้องมุ่งว่าทำอย่างไรเพื่อจะทำให้เกิดความสำเร็จ และสิ่งที่รัฐบาลกับ คสช.ต้องเร่ง คือ การวางโจทย์การปฏิรูปให้ชัด เพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดคล้องกัน เพราะที่ผ่านมา มีการสะท้อนปัญหา แต่ยังไม่ได้กำหนดทิศทางการปฏิรูป
 
                           หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการสรรหาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีข่าวการล็อกสเปกการสรรหาในระดับจังหวัดว่า ในพื้นที่จะทราบดี และเมื่อถูกวิจารณ์ ก็อยากให้ทุกฝ่ายแสดงความโปร่งใส ว่าการสรรหาในแต่ละจังหวัด ดำเนินการกันอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่า ผู้ที่เสนอชื่อเข้าไปเป็น สปช.อาจจะยังไม่ได้มีความมั่นใจหลายอย่าง ซึ่งเรื่องนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องประเมินว่า หลักเกณฑ์ที่กำหนดมีคนสมัครเท่าใด เพราะหลายคนรอมาสมัครในช่วงท้ายๆ จึงอาจต้องปรับแก้ในหลายอย่าง โดยอยู่ในวิสัยที่ทำได้ 
 
                           นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนมีข้อห่วงใยมาก เพราะจากการดูรูปแบบแล้ว ตัว สปช.มีอำนาจเพียงแค่เสนอแนะกับศึกษาเท่านั้น แต่งานหลายอย่างที่ต้องเดิน เช่น เรื่องการปฏิรูปพลังงาน กว่าจะมี สปช.เข้ามาทำงาน ทาง ครม.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจดำเนินการไปแล้วก็ได้ ซึ่งหัวหน้า คสช.อาจต้องทำให้ชัดเจนขึ้น ว่าการปฏิรูปเรื่องใดที่ต้องรอ สปช.หรือเรื่องใด ที่สามารถดำเนินการได้เลย
 
                           "ผมห่วงเรื่องการปฏิรูปพลังงาน เกรงว่าผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการสรรหา เป็นผู้อยู่กับระบบพลังงานอยู่แล้ว จะไม่สนับสนุนผู้ที่มีแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน จึงต้องตีโจทย์ให้ชัด เช่น ปัญหาเรื่องท่อก๊าซที่ตีโจทย์ยังไม่ถูก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ต้องแยกมาเป็นบริษัท แต่ความจริง คือ มีการผูกขาดโดยธรรมชาติ ซึ่งไม่เป็นธรรม รูปแบบที่เหมาะสมไม่ใช่เฉพาะคู่แข่งของผู้ประกอบการด้านพลังงาน แต่ต้องเป็นธรรมกับประเทศและประชาชน ตอนนี้ดูเหมือนพยายามแยกบริษัทออกมาแล้วบอกว่าสร้างความเป็นธรรมระหว่างบริษัทคู่แข่งขันท่อก๊าซเท่านั้น โดยหลักแล้ว ผู้ที่จะมาบริหารจุดนี้ต้องเป็นอิสระ ไม่ควรมีส่วนได้ส่วนเสียกับการประกอบธุรกิจพลังงานในส่วนอื่น และท่อก๊าซไม่ควรเป็นของผู้ที่มีส่วนได้เสียทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งรัฐต้องมาคิดว่าจะใช้กลไกใด"
 
 
 
ห่วงงบฯ58 ไม่กระตุ้นศก. เหตุต้องใช้หนี้เก่า
 
 
                           นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2558 ในวาระ 1 ว่า มีข้อเป็นห่วง คือ มีงบจำนวนมาก ที่ไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะต้องไปใช้หนี้เก่าจากโครงการประชานิยมกว่า 1 แสนล้านบาท ถือเป็นปัญหาสำคัญที่งบประมาณปี 58 ต้องเผชิญ ซึ่งไม่มีประโยชน์เกิดขึ้นใดๆ ทั้งสิ้นต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น โครงการจำนำข้าว ที่ตั้งงบไว้กว่า 71,000 ล้านบาท เพื่อชดใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่คาดว่า จะเป็นภาระงบประมาณอีก 3-4 ปีงบประมาณ เพื่อชดใช้เงินคงคลังในโครงการรถคันแรกอีกเกือบ 42,000 ล้านบาท เป็นต้น
 
                           หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วง คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจไม่ทำโครงการแทรกแซงราคาพืชผล ไม่จัดงบประมาณให้หลายโครงการ เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดการหยุดชะงักของการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในชนบท ที่ในขณะนี้ประสบกับปัญหากำลังซื้ออยู่แล้ว จากราคาพืชผลที่ตกต่ำ ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยากที่จะเพิ่มขึ้น เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก็ยังไม่มีความชัดเจนในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้
 
                           นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จึงเห็นว่า การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ควรจะครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้ คือ 1. ประเมินภาระงบประมาณที่เกิดขึ้น จากโครงการเก่าให้ชัดเจน เพื่อตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการบริหารทางการเงินการคลังในระยะกลาง ว่าศักยภาพของการใช้จ่ายของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีมากน้อยเพียงใด 2. ปรับลดงบประมาณในโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ตามที่หัวหน้า คสช.ได้ยืนยันว่า น่าจะสามารถกระทำได้ จากการขจัดปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ 
 
                           หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า และ 3. นำงบประมาณที่ปรับลดได้ มาจัดสรรในโครงการที่จะช่วยเหลือเศรษฐกิจในชนบท โดยปรับปรุงโครงการหลายโครงการที่เคยดำเนินการในอดีต เช่น โครงการประกันรายได้ เพิ่มเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับพื้นฐาน และนำวงเงินที่ปรับลดได้อีกบางส่วน สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในเรื่องน้ำ และระบบคมนาคมขนส่ง โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินนอกงบประมาณ หากรายละเอียดโครงการยังไม่พร้อม ก็อาจจัดทำในรูปของงบประมาณกลางปีได้ นอกจากนี้ อยากให้การทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นไปโดยเปิดเผยและโปร่งใสมากที่สุด เพราะมีเวลาจำกัดในการพิจารณาวงเงินมหาศาล ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ และโปร่งใสเท่านั้น จะทำให้เกิดความมั่นคงในทางเศรษฐกิจและการเมือง ในระยะที่สองของโรดแม็พ
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ