ข่าว

ยุบอบจ.-อบต.โมเดลท้องถิ่นรูปแบบใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยุบอบจ.-อบต.โมเดล ท้องถิ่นรูปแบบใหม่

                 ท่านคิดว่ารูปแบบใดเหมาะสมที่สุด เพราะเหตุใด หรือรูปแบบใดที่ท่านเห็นว่าดีแต่ควรปรับปรุงเพิ่มเติมอะไรเข้าไปอีก ช่วยกันคิดและช่วยกันสร้างครับ นี่เป็นข้อเสนอของปลัดเชื้อ ฮั่นจินดา ตัวแทนจากสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย ที่อยู่ในฝ่ายข้าราชการประจำของ อบต. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่คล้ายๆ กับฝ่ายธุรกิจให้กับฝ่ายบริหารหรือนายก อบต. ที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นเสมือนตัวแทนกรมการปกครอง ภาคการบริหารส่วนภูมิภาคในระดับท้องถิ่น 

                 รูปแบบที่เสนอมีดังนี้ครับ

                 โมเดล 1 มีเทศบาลจังหวัดกับเทศบาลอำเภอ

                 ..รูปแบบที่ 1 คือรูปแบบที่เคยเผยแพร่ มี อปท.รูปแบบเดียวแต่เหลือสองชั้น คือ...เทศบาลจังหวัด/เทศบาลอำเภอ ซึ่งมีบางท่านบอกควรมีเทศบาลตำบลเพิ่ม

                 โมเดล 2 มีเทศบาลจังหวัด

                 ..รูปแบบที่ 2 คือรูปแบบ หนึ่งจังหวัดหนึ่งท้องถิ่น เหลือเฉพาะเทศบาลจังหวัด คล้ายๆ จังหวัดจัดการตนเอง

                 โมเดล 3 หนึ่งอำเภอหนึ่งท้องถิ่น

                 รูปแบบที่ 3 คือรูปแบบ หนึ่งอำเภอหนึ่งท้องถิ่น เปรียบได้กับเอารูปแบบ กทม.มาใช้กับระดับอำเภอในต่างจังหวัด

                 โมเดล 4 ยกเลิก อบจ./อบต.

                 ..รูปแบบที่ 4 เหลือ อปท.รูปแบบเดียวคือ เป็นเทศบาลทั้งหมด แต่มี 3 ลักษณะ คือ เทศบาลตำบล/เทศบาลเมือง/เทศบาลนคร (ยกเลิก อบจ./อบต.) ภายใต้หลักหนึ่งตำบลหนึ่งท้องถิ่นเท่านั้นและอาจมีจำนวนประชากรมาเป็นตัวกำหนด เช่น ตำบลใดประชากรไม่ถึง 4,000 คนให้ยุบรวมครับ

                 อำนาจหน้าที่นอกเขต อปท.ในบางรูปแบบที่ต้องการหน่วยพัฒนาภาพรวมในจังหวัดนั้นๆ ให้เป็นอำนาจจังหวัด

                 ระบบบริหารงานบุคคลใช้รูปแบบคณะกรรมการบุคคลจังหวัดทุกรูปแบบ ข้าราชการลูกจ้างไม่ขึ้นตรงกับฝ่ายการเมือง การออกคำสั่งเป็นหน้าที่ปลัด อปท.หรือตำแหน่งอื่นๆ ที่กำหนดและให้มีกองทุนเงินเดือนและสวัสดิการไว้ส่วนกลาง การคัดสรรคน เลื่อนลดปลดย้าย เป็นอำนาจคณะกรรมการบุคคลระดับประเทศ/จังหวัดเท่านั้น

                 ข้าราชการ ลูกจ้าง ทุกตำแหน่ง อย่าวิตกว่าตำแหน่งตัวเองไม่มีในโมเดล จะถูกยกเลิกหรือเลิกจ้าง อันนี้แค่เพียงโมเดล ตอนที่เขาตัดสินใจเลือกแบบไหนกันแล้วถึงค่อยมาลงรายละเอียดครับ ลองพิจารณากันดู

                 ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ของสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย ได้มีผู้แสดงความเห็นมาดังนี้ครับ

                 ผมเคยทำงาน กทม.อ่านแล้วให้ข้อคิดดีที่จะเอาไปปรับให้เข้าที่ อย่างที่บอกครับ มันคือตุ๊กตา(โมเดลที่ 1) เดี๋ยวมีรูปแบบต่อไปอีก (โมเดลที่ 2, 3....) ผมจะนำมาเสนอเรื่อยๆ ครับ

                 ...อยากให้ติเพื่อก่อครับ ว่าควรเป็นแบบไหน อย่าคิดแต่ตำหนิเป็นที่ตั้ง แต่ให้คิดเพื่อส่วนรวมว่าจะแก้ไขอย่างไรในมุมข้าราชการลูกจ้าง เพื่อนำเสนอ เขาจะเอาหรือไม่ยังไม่รู้

                 ..ที่สำคัญไม่มีใคร...ตกงานครับ ทั้งข้าราชการและลูกจ้าง แต่โมเดลแรกที่นำเสนอ ฟังแล้วได้ข้อคิดหลายเรื่องครับ และนี่อีก 1 แนวคิดที่ผมอยากให้ลองอ่านดูจากคนทำงาน กทม. มาก่อนก็ค่อยเก็ษเเนวคิดที่มีประโยชน์ แต่ละโมเดลที่ผมนำเสนอครับ เพื่อไปหาจุดที่ดีที่สุดต่อไป

                 อีกท่านหนึ่งขออนุญาตแสดงความคิดเห็นว่า นายอำเภอ เสมือนผู้ว่า กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งปลัดเทศบาล/ปลัดอบต. ทำหน้าที่เหมือน ผอ.เขต ในตำบลนั้นๆ สรุป คือต้องการลดจำนวนนายกเทศมนตรี นายกอบต.ลงแล้วให้อำนาจปลัดเทศบาล ปลัดอบต. ทำหน้าที่เสมือนหนึ่ง ผอ.เขต ของตำบลนั้นๆ

                 ปัจจุบัน อปท.มีทั้งหมดเจ็ดพันกว่าแห่ง มีนายกเจ็ดพันกว่าคน ถ้าจะเหลือแค่นายกอำเภอก็ต้องไปดูว่าประเทศไทยมีอำเภอทั้งหมดกี่แห่งบวก นายกจังหวัดเข้าไปอีกก็จะเป็นจำนวนนักการเมืองท้องถิ่นตามโมเดลที่เสนอเป็นตุ๊กตา

                 ถ้า 1 อำเภอ มี 10 ตำบล สมมุติให้ตำบลละ 1 อปท.(รูปแบบเดิม) ก็จะมีปลัดซึ่งเป็นข้าราชการประจำทำหน้าที่ ผอ.เขต 10 คน ซึ่งจะลดนายกที่เป็นข้าราชการการเมืองไปได้ 10 คน

                 นี่คือสิ่งที่สรุปความได้จากการอ่านบทความของปลัดเชื้อ จากประสบการณ์การทำงานในสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร

                 ไม่ถือว่านี่เป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะมีการกระจายอำนาจให้ ผอ.เขตลงนามแทนผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เขตของตนอยู่แล้ว ถ้าประชาชนจะร้องเรียนก็ร้องเรียนมาที่เขต โดยถ้าเป็น พ.ร.บ.สาธารณสุข ผอ.เขตก็จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นอยู่แล้ว

                 แต่ในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ อันนี้เขตขาดอิสระในการตั้งงบประมาณเอง เพราะกทม.จะเป็นการจัดสรรจากสำนักงบประมาณของกรุงเทพมหานคร แบ่งสรรให้สำนักงานเขต 50 แห่ง และก็ให้สำนักต่างๆ ที่สังกัดกรุงเทพมหานครค่ะ เรื่องงบประมาณนี่จึงยังไม่แน่ใจว่าจะทำเทศบัญญัติรายจ่ายกันอย่างไร

                 ในกรณีของการยุบตำแหน่งนายกฝ่ายการเมือง แล้วให้ปลัดทำหน้าที่ ผอ.เขต กำกับควบคุมนโยบายในเขตตน ยังไงก็ต้องขึ้นตรงต่อนายกอำเภออีกทีอยู่ดี จึงไม่ถือว่าเป็นการกระจายอำนาจให้ระดับล่างอย่างแท้จริง และก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งเพื่อไปสู่อีกปัญหาหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากการปกครองแบบ กทม.(สมัยที่ยังรับราชการที่กทม.) จะมีการ Rotate ผอ.เขตทุกสี่ปี เพื่อป้องกันการเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ เพราะผอ.เขต มีอำนาจในเรื่องของการออกใบอนุญาตทั้งหมดทำได้เองหมดไม่ต้องถึงผู้ว่าฯ ไม่ทราบว่า ป. ได้มีการเตรียมช่องทางสำหรับป้องกันปัญหานี้ไว้หรือไม่คะ

                 อีกความคิด เห็นว่าการที่ให้อำเภอมาติดตามตรวจสอบ ไม่เป็นผลดีต่อการปฏิบัติงานของท้องถิ่นทุกวันนี้ อำเภอก็คิดว่าท้องถิ่นเป็นลูกน้องคอยส่งเงินให้ ควรแยกการบริหารงาน และการตรวจสอบถ่วงดุลต่างหาก น่าจะมีสำนักงานที่คอยตรวจสอบเรื่องงบประมาณโดยตรง ไม่ใช่ให้นายอำเภอมาตรวจสอบงบประมาณ แค่ทุกวันนี้เงินอุดหนุนและเงินนอกงบประมาณอีกจิปาถะ ไม่ทำตามที่ขอ ก็หาว่ากระด้างกระเดืองบ้าง ฉะนั้นการตรวจสอบการใช้งบประมาณควรตั้งเป็นสำนักงานโดยตรงทุกจังหวัด จะได้เป็นอิสระในการบริหารงาน ไม่ใช่อำเภอสั่งก็ต้องทำตาม ทุกวันนี้เงินอุดหนุนอำเภอ ปีละล้านกว่า เสียงบประมาณการบริหารจัดการฟรี ดังนั้น เรื่องงบประมาณผมขอเสนอให้ จัดตั้งเป็นสำนักตรวจสอบและติดตามการใช้งบประมาณระดับจังหวัด ส่วนคณะกรรมการให้อยู่ในรูปของแบบเหมือนคณะกรรมการ ก.จังหวัด

                 ผู้อ่านที่มีความเห็นประการใด สามารถแสดงความคิดเพื่อรวบรวมแนวคิดหลายๆ แนวคิดที่ตัวแทน อปท.ได้ไปนำเสนอไว้ก่อนหน้า นำมาปรับให้อยู่ในรูปแบบที่นำเสนอ

                 หมายเหตุ ความเห็นนี้รวบรวมจากความเห็นของสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย/สมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย/สมาคมข้าราชการ อบจ.แห่งประเทศไทย..วันศุกร์ มีอีกโมเดลจาก 3 ตัวแทนองค์ปกครองส่วนถิ่น เสนอ“คงรูปแบบ อบจ. มุ่งสู่จังหวัดจัดการตนเอง”

                 พบกับเวที "พลเมืองปฏิรูป" เวทีที่ทุกคนทุกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมออกเสียง แสดงความคิดเห็นได้ วันที่ 22 สิงหาคม ที่ จ.เชียงใหม่ ในหัวข้อ "การกระจายอำนาจการปกครอง เปิดหน้าใหม่ท้องถิ่น-ชุมชน"

                 ส่วนอีก 2 เวทีที่กำลังจะตามมาคือ ที่ จ.ระยอง ในหัวข้อ "พลังงานไทย...ทำอย่างไรให้คนได้ประโยชน์" ที่ จ.สงขลา ในหัวข้อ "กระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระ"

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ