คอลัมนิสต์

ภาพเก่าเล่าเรื่อง 'ลุง'ในตำนาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาพเก่าเล่าเรื่อง 'ลุง'ในตำนาน : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

               ผมเห็นภาพชายสูงวัยที่คุ้นเคยจากเฟซบุ๊กของ "อิฐ สิทธิราษฎร์" แบบไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้เห็นภาพของ "ลุง" อีกครั้ง และเรื่องราวที่เคยบันทึกไว้ก็ถูกนำมาเรียงร้อยใหม่

               "ชายแปลกหน้าของหมู่บ้าน" เป็นชื่อเรื่องที่ผมเขียนไว้เมื่อปี 2529 ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องการเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านในภาคอีสานยุคก่อนปี 2500 ในรูปแบบต่างๆ บ้างก็เป็นหมอยา, ช่างตัดผม, ครูสอนหนังสือ ฯลฯ

               ที่บ้านนาไร่ใหญ่ มีชายแปลกหน้าขี่ม้าเข้ามาที่หมู่บ้าน เขามีอาชีพช่างไม้ ไม่มีใครรู้ประวัติเขามากนัก และชายคนนั้นก็ปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมบ้านนาไร่ใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว

               กลางวันชายแปลกหน้าจะเป็นช่างไม้ รับจ้างทำงานทั่วไป ตกกลางคืน ชายชาวใต้จะนำหนังสือพิมพ์มหาชน มาอ่านให้ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งฟัง ซึ่งการล้อมวงในคุยกันยามค่ำคืน ก็เป็นรูปแบบการปลุกระดมมวลชนในนาม "องค์การชาวนากู้ชาติ"

               ต่อมา ชายแปลกหน้าแต่งงานกับสาวนาไร่ใหญ่ ซึ่งเธอเป็นลูกสาวคนสุดท้องของครอบครัวชาวนา ที่มีพี่ชายสองคนเป็น "แกนนำ" องค์การชาวนากู้ชาติประจำหมู่บ้าน

               เมื่อบ้านนาไร่ใหญ่ อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (สมัยโน้น อำนาจเจริญเป็นอำเภอหนึ่งของอุบลฯ) กลายเป็นหมู่บ้าน "สีแดง" ชายแปลกหน้า จึงหายตัวไปจากหมู่บ้าน

               ปี 2515 ชายแปลกหน้าปรากฏตัวที่ "ฐานที่ภูพาน" ในนาม "สหายสยาม" หนึ่งในองค์การนำอีสานเหนือ และรับผิดชอบฝ่ายทหาร สามารถบัญชาการรบต้านยันการล้อมปราบของฝ่ายกองทัพภาคที่ 2 และปกป้องฐานที่มั่นไว้ได้ และในปีถัดมา "สหายสยาม" เป็นเลขาธิการพรรค ภาคอีสานเหนือ

               เดือนมิถุนายน 2519 ผมขึ้นไปศึกษาในโรงเรียนการเมือง-การทหารที่ฐานที่มั่นภูพาน และเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นหน้า "ลุงสยาม" ผู้นำสูงสุดของภูพาน

               ปลายปี 2523 ผมได้ข่าวว่า ลุงสยามขัดแย้งกับนักศึกษา เนื่องจาก "กลุ่มปัญญาชนปฏิวัติ" ได้วิพากษ์การนำของลุงสยามอย่างดุเดือด และเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างชาวนากับนักศึกษายุติลง เมื่อฝ่ายคนเมืองตัดสินใจขอแยกทางกลับบ้าน

               หลังจากขบวนนักศึกษาคืนเมือง ลุงสยามก็ปรับทัพครั้งใหญ่ ปลุกขวัญนักรบชาวนาให้ยืนหยัดต่อสู้ตามแนวทาง "ชนบทล้อมเมือง"

               ปี 2524 ลุงสยาม ในฐานะเลขาธิการใหญ่ของอีสานเหนือ ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ "การทหารนำการเมือง" เพื่อกู้วิกฤติศรัทธา ภายใต้คำขวัญ "ทุกคนเป็นทหาร ทุกหน่วยงานประสานการรบ และหนุนช่วยสงคราม"

               ลุงสยามยึดบทเรียนเก่าๆ หวังใช้ "การทหารแก้ไขปัญหาการเมือง" และได้ตั้งคณะเสนาธิการทหารอีสานเหนือ เปิดยุทธการ "ประเดิมชัย" ให้ทหารปลดแอกทุกเขตงาน ยกระดับโจมตีระดับอำเภอ

               แม้จะมีข่าวสารชัยชนะจากสนามรบ แต่ด้วยความเหนื่อยล้า ความสิ้นหวัง ก็ทำให้นักรบทยอยออกมอบตัว ไม่ขาดสาย และในที่สุด ยุทธศาสตร์การทหารนำการเมือง ก็ไม่บรรลุเป้าหมาย

               ปฏิบัติการทางทหารครั้งสุดท้าย คือการโจมตีฐานกองร้อยทหารพราน ที่บ้านขัวสูง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ทหารภูพานทำลายฐานข้าศึกย่อยยับ แต่วิกฤติศรัทธาก็เหมือนเมฆหมอกดำปกคลุม จนไม่มีใครมองเห็นชัยชนะ

               กลางปี 2525 ลุงสยาม ออกจากภูพานไปประชุมสมัชชาพรรค ที่ช่องช้าง สุราษฎร์ธานี เมื่อเสร็จภารกิจก็กลับมาพักอยู่ที่กรุงเทพฯ

               ปลายปีนั้นเอง ระหว่างรอการเดินทางกลับภูพาน ลุงสยามนั่งดูข่าวทางทีวี เห็นภาพทหารปลดแอก เขตงาน 444 (ภูสระดอกบัว) ออกมอบตัวแบบยกเขตงาน

               มีคนเล่าให้ฟังว่า ลุงสยามสะอื้นในอก และลุงเจ็บปวดยิ่งกว่าตอนนักศึกษาทิ้งภูพาน เพราะสหายคนหนึ่งที่ไปเจรจากับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จนนำมาสู่การมอบตัว คือคนบ้านนาไร่ใหญ่ เป็นญาติข้างภรรยาลุงสยาม

               จากนั้นไม่นาน ลุงสยามก็ร่างคำแถลงของศูนย์การนำอีสานเหนือ ประณามการมอบตัวของเขตงาน 444 ว่าเป็น "ผู้ทรยศต่อพรรค" ผมได้อ่านคำแถลงฉบับนั้น อ่านแล้วก็ไม่มีความเห็นใดๆ

               เพียงแต่สงสัย ทำไมคนที่ลุงไว้ใจมากที่สุด จึงคิดการใหญ่พานักรบชาวนาออกมอบตัวทั้งเขตงาน โดยไม่แพร่งพรายให้ลุงรู้แม้แต่นิดเดียว

               ลุงจากไปนานแล้ว แต่ป้าชาวนาไร่ใหญ่ พร้อมกับลูกหลานของลุง ยังอยู่ที่เมืองจันทบุรี และจนถึงวันนี้ ลุงยังเป็น "ตำนาน" ของภูพาน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ