ข่าว

สังคมไทยจะเดินไปอย่างไรในวันที่คนไม่เคารพเกรงกลัวกฎหมาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ต่อปากต่อคำ : สังคมไทยจะเดินไปอย่างไรในวันที่คนไม่เคารพเกรงกลัวกฎหมาย : โดย ... ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ [email protected] twitter@DoctorAmorn

 
                          ผมได้รับข้อความที่ส่งต่อมาทางไลน์จากเพื่อนในกลุ่มที่มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่เสมอ ในครั้งนี้มีเรื่องราวที่ส่งมาให้อ่านพิจารณาเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "ความสำเร็จของชาวเยอรมันในการสร้างบ้านแปลงเมืองจากประเทศที่ถูกพันธมิตรทิ้งระเบิดยับเยินในช่วงสงครามโลก สามารถฟื้นฟูพัฒนาตัวเองมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ แถมด้วยระบอบการเมืองการปกครองที่สามารถเอาเป็นแม่แบบได้ดีอีกประเทศหนึ่งในโลก" ก็ว่าได้ 
 
                          โดยส่วนตัวให้ความรักและชื่นชมกับ “ความเป็นไทยและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยอย่างเหนียวแน่น” ยังจำได้ว่า ในสมัยเรียนหนังสือในต่างประเทศ จะทำตัวเหมือน "กระบอกเสียง" คอยชี้แจงแก้ต่างในสิ่งที่คนต่างชาติเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนไทยสังคมไทยอยู่เสมอๆ ทั้งผ่านข้อเขียน และการสนทนาให้ความรู้ซึ่งกันและกัน แต่การหยิบยกทั้งประเด็น "ความมีวินัยของคนอื่น และความที่คนของเราจำนวนมากไม่เคารพยำเกรงกฎหมายบ้านเมืองมาเปรียบเทียบกัน เพราะเรื่องดังกล่าวกำลังเป็นปัญหาที่อาจนำไปสู่ความเสียหายอย่างร้ายแรงของการบริหารปกครองบ้านเมืองในอนาคต"
 
                          เราจะเห็นได้จาก "ความประมาทเลินเล่อกระทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรืออันตรายถึงแก่ชีวิตของคนขับขี่ยวดยานทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะ" เกิดขึ้นถี่ยิบ ล่าสุดรถเมล์สาย 1 วิ่งไล่ชนรถยนต์ตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่ง แม้ว่ารัฐมนตรีชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดูเหมือนจะเข้มงวดกวดขันดูแลกับกิจการงานขนส่งสาธารณะอย่างขะมักเขม้นแล้ว ก็ยังได้เห็นบทเรียนเดิมๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า 
 
                          เรื่องอุบัติเหตุจากความประมาทบนท้องถนนนั้นเรื่องหนึ่ง แต่การไม่เคารพกฎหมายเพราะสังคมนี้เชื่อกันว่า วิตามิน "ซี" ที่เหน็บแนมมาในไลน์ของคนคนเดียวกันที่ส่งมาให้อ่านก็บอกชัดเจนว่า C ว่าด้วย ความรู้ความสามารถ (Capability) น่าจะคิดคำนวณได้ราวๆ สามสิบเปอร์เซ็นต์ของความสำเร็จของคนเรา โดย C ต่อมา คือ Confident หรือ ความเชื่อมั่นของแต่ละคนอยู่ที่ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ตัว C ที่สำคัญที่สุดทุกคนน่าจะรู้จักดี นั่นคือ Connection เขาเชื่อกันว่า อยู่ที่ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของความสำเร็จของคนทุกคนในสังคมไทย
 
                          จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้คนวิ่งเข้าหาทำความรู้จักแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เป็นกลุ่มเป็นก้อน คล้ายๆ กับระบบ “พรรคการเมือง" ที่ใครถูกต้อนเข้าพรรคการเมืองใด ก็ดูเหมือนจะต้องถูก “กลืนกิน” กลายพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหรือแนวนโยบายของพรรคทั้งที่ชอบและไม่ชอบธรรมอย่างเคร่งครัด การเมืองจึงมักถูกมองว่าเป็นเรื่องว่าด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์และเป็นเรื่องสกปรกในสายตาของคนหลายคน เพราะเมื่อพูดถึงผลประโยชน์ เรื่องเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมจะกลายเป็นเรื่องไกลตัวผู้คนทั้งหลายเหล่านี้ออกไป เพราะคำว่า “พวก เพื่อน พ้อง น้องพี่" ย่อมถูกยกให้ความสำคัญยิ่งกว่าเรื่องอื่นใด
 
                          การได้อ่านแนวทางการดำเนินชีวิตของ “คนเยอรมัน” ดังได้กล่าวมาในช่วงแรก จึงเป็นการสะท้อนมุมมองความคิดของคนที่อยากเห็นบ้านเมืองของเราสามารถพัฒนาก้าวหน้าออกไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะหากนำข้อมูลเชิงประจักษ์จากการพัฒนาชาติบ้านเมืองของหลายประเทศที่ก้าวล้ำนำหน้าไปไกล ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์และมี “ตัวร่วมปัจจัยแห่งความสำเร็จคล้ายๆ กัน" นั่นคือ “ความมีวินัยและความมุ่งมั่นมองผลประโยชน์ของชาติมาก่อนเรื่องส่วนตัวเป็นสำคัญ” เพราะตัวอย่าง ทั้งของ “เยอรมัน" “เกาหลีใต้" “ญี่ปุ่น" "จีน" “สิงคโปร์" กระทั่ง “เยอรมนี" ที่ได้ยกมาเป็นอุทาหรณ์ล้วนแล้วแต่ใช้ “วิตามิน D" คือ Discipline หาใช่วิตามิน C หรือ Connection เป็นเครื่องมือสำคัญแบบในสังคมของพวกเรา 
 
                          เราคงไม่ปฏิเสธว่า Connection คือสิ่งจำเป็น หรือ มองเรื่องการมีพรรคพวกเครือข่ายทั้งหลายเป็นเรื่องเสียหายไปในทุกกรณี เพราะความเป็นจริงที่มนุษย์เป็น “สัตว์สังคม" (social animal) อย่างนักปราชญ์ชาวกรีก เช่น อริสโตเติล ชี้ชัดมายังคงได้รับการยอมรับและเชื่อถือกัน สิ่งที่น่ากังวล คือ การใช้ connection ในทางที่ผิด ด้วยอาจมีความเชื่อที่ผิด หรือ มุ่งแต่จะแสวงทำมาหาได้จาก connection กระทั่งละทิ้งคุณงามความดี ซึ่งคือที่มาของการไม่เคารพยำเกรงกฎหมายของผู้คนในสังคมนี้ ที่คนจำนวนมากเริ่มไม่เชื่อระบบคุณธรรม (merit system) แต่เชื่อระบบแห่ง “อำนาจ คือ ธรรม" (might is right) ทุกคนจึงพยายามแสวงหาอำนาจและเกาะเกี่ยวผลประโยชน์ให้กันและกันอย่างเหนียวแน่น
 
 
 
 
------------------------
 
(ต่อปากต่อคำ : สังคมไทยจะเดินไปอย่างไรในวันที่คนไม่เคารพเกรงกลัวกฎหมาย : โดย ... ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ [email protected] twitter@DoctorAmorn)
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ