Lifestyle

ผู้แต่งหนังสือเรียน'มานะ-มานี'ถึงแก่กรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เศร้า 'รัชนี ศรีไพรวรรณ' ผู้แต่งหนังสือเรียน 'มานะ-มานี' ในอดีต ถึงแก่กรรมแล้ว ปิดตำนานตำราเด็กดีสุดคลาสสิกของไทย

               นับเป็นอีกเรื่องน่าเศร้าของวงการหนังสือเรียนไทย เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 16 เมษายน นายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ หรือโหน่ง นักเขียน คอลัมนิสต์ และนิตยสาร อะเดย์ ได้ทวิตข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ ในชื่อ  @wongthanong ระบุข้อความ แสดงความเสียใจและไว้อาลัยต่อการจากไป ของอาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้ประพันธ์หนังสือ "มานะ มานี ปิติ ชูใจ" ที่ถึงแก่กรรมอย่างสงบแล้ว เมื่อคืนวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา ทั้งนี้จะยังไม่มีพิธีรดน้ำและสวดอภิธรรมศพ เนื่องจากอาจารย์รัชนีได้บริจาคร่างกายเพื่อใช้ในการศึกษาให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล

               สำหรับ อาจารย์ รัชนี เจ้าของรางวัลนราธิป ปี 2556  นั้น ปัจจุบัน อายุ 82 ปี เป็นผู้เขียนหนังสือที่ผู้คนซึ่งอยู่ในวัย 30-40 ปี ในปัจจุบันนี้ รู้จักกันดี คือ  "มานะ มานี ปิติ ชูใจ" ซึ่งเป็นชุดแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวม 12 เล่ม ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทยระหว่างปี พ.ศ.2521-พ.ศ. 2537 โดยแบบเรียนเล่มดังกล่าวใช้รูปภาพประกอบกับเนื้อหา โดยมีผู้เขียนภาพประกอบ 3 คน คือ นายเตรียม ชาชุมพร นักวาดการ์ตูนและนิยายภาพชื่อดังแห่งชัยพฤกษ์การ์ตูน นายโอม รัชเวช และนายปฐม พัวพิมล

               อย่างไรก็ตาม แบบเรียนภาษาไทยชุดนี้ ถูกยกเลิกใช้ในการศึกษาเมื่อปี 2537 แต่ถัดจากนั้นอีก 8 ปี นายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ บรรณาธิการอำนวยการนิตยสารอะเดย์ ได้นำตัวละครเรื่อง มานะ มานี ปิติ ชูใจ มาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยพิมพ์ใหม่เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กชื่อ "ทางช้างเผือก" จนขายดิบขายดี ซึ่งก็ได้ อาจารย์รัชนีมาช่วยเขียนต่อเนื่องให้ โดยเสริมของแบบเรียนภาษาไทยชุดที่ผ่านมา เน้นหนักไปที่เรื่องราวชีวิตตอนโตของมานะ มานี ปิติ ชูใจ และเพื่อนๆ ที่มีความเป็นผู้ใหญ่ยิ่งขึ้นกว่าเดิม

               ความคลาสสิก ของ "มานะ มานี ปิติ ชูใจ" ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำ ของกลุ่มคนอายุ 30 ปี ขึ้นไปมาก รวมถึงคนรุ่นใหม่ถัดจากนั้นมา ในปี 2557 นี้ จึงถูกนำมาสร้างเป็นละครเวที เรื่อง "มานีและชูใจ" ที่เปิดรอบการแสดงไปแล้ว เมื่อเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ด้วยโปรดักชั่นอลังการ และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี

               ด้านนางพนอ ธรรมเนียมอินทร์ ในฐานะผู้จัดและผลิตรายการสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ซึ่งเคยร่วมงานกับ อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ จัดทำรายการวิทยุโรงเรียนเพื่อเป็นสื่อให้ครูใช้สอนภาษาไทยทั่วประเทศ กล่าวว่า อาจารย์เป็นผู้มีคุณูปการด้านการศึกษาและวงการภาษาไทยอย่างมาก เคยเป็นครูภาษาไทยศึกษานิเทศน์ กรมสามัญศึกษาในขณะนั้น เป็นครูแนะแนว เป็นพี่เลี้ยงในการทำแบบเรียนหนังสือเรียนวิชาภาษาไทย โดยเฉพาะหลักสูตรหนังสือเรียนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ.2521 ได้แก่ มานะ มานี ปิติ ชูใจ

               “เท่าที่จำได้ ทางประเทศออสเตรเลีย ได้นำหนังสือภาษาไทยชุดนี้ ไปเป็นหลักสูตรการสอนภาษาไทย ในประเทศออสเตรเลียด้วย นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้เพิ่งจะนำบทประพันธ์กับแบบเรียนภาษาไทยชุดนี้ไปเป็นละครเวที ที่เน้นความเป็นเพื่อน ความรัก ความสามัคคี ของเพื่อนๆ ซึ่งมีผู้ชมล้นหลาม” นางพนอ กล่าว

               นางพนอ กล่าวกับหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก อีกว่า เมื่อช่วงสายวันที่ 16 เม.ย. ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากอาจารย์พูนศรี  อิ่มประไพ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดทำตำราแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ( ศธ.) แจ้งว่า อ.รัชนี ศรีไพรวรรณ ได้เสียชีวิตอย่างสงบแล้ว ตนในฐานะที่เคยร่วมงานกับอ.รัชนี ซึ่งท่านเป็นคณะกรรมการวิทยุโรงเรียน ภาษาไทย ของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ก็รู้สึกเสียใจกับการจากไปของบุรพาอาจารย์ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับวงการศึกษามาตราบจนสิ้นชีวิต มีโอกาสได้ร่วมจัดรายการวิทยุกับอ.รัชนี  และทราบมาว่าล่าสุดก่อนที่อ.รัชนีจะป่วยได้ไปบันทึกเทปรายการภาษาไทยใครว่ายาก ทางสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ซึ่งมีการออนแอร์ไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2556

               "ครูรัชนีถือเป็นปรมาจารย์ด้านภาษาไทย ที่ครูสอนภาษาไทยทุกคนยกย่องเชิดชู เป็นครูตลอดชีวิต แม้ว่าท่านจะสิ้นชีวิตแล้ว ดิฉันทราบจากญาติของอาจารย์รัชนีมาว่า ได้บริจาคร่างกายให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ของนิสิตแพทย์ได้ศึกษา ในโลกนี้หาได้ยากมากที่เป็นครูทั้งที่มีชีวิตอยู่และเสียชีวิตไปแล้ว ก็ยังทำหน้าที่ครู นับเป็นแบบอย่างที่ดีให้ครูรุ่นต่อไป" นางพนอ กล่าว

               นางพนอ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ลูกศิษย์ของอ.รัชนี ต่างได้รับรู้ข่าวการเสียชีวิตของอ.รัชนี จากทางโซเซียลเน็ตเวิร์คกัน และพร้อมใจนัดกันเวลา 09.30 น.ของวันที่ 17 เม.ย. จะเดินทางมาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เพื่อกราบศพเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะมารับศพไปเวลาประมาณ 10.00 น.


บุตรสาวเผยหนังสือ"ทางช้างเผือก"ผลงานล่าสุด

               นางพรพรรณ ศรีไพรวรรณ บุตรสาวของอาจารย์รัชนีกล่าวว่า แม้จะเกษียณอายุราชการมาหลายปีแต่คุณแม่ก็ยังช่วยงานที่กระทรวงศึกษาธิการอยู่บ้าง เพิ่งมาระยะ 2-3 ปีหลังที่หยุดไปเพราะมีปัญหาทางด้านสุขภาพ และปวดเข่าหากเดินมาก ๆ อีกทั้งช่วงปลายปีที่ผ่านมานั้นคุณแม่ป่วยเข้าโรงพยาบาลมีอาการภูมิแพ้ตนเอง และเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 เม.ย.เข้าโรงพยาบาลเพราะล้มและกระดูกเชิงกรานร้าวและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลงานล่าสุดของคุณแม่ที่ปรากฎก็คือ หนังสือ “ทางช้างเผือก” ที่ทำร่วมกับทางนิตยสารอะเดย์

               "ในฐานะลูกสาวรู้สึกภูมิใจแทนคุณแม่ ที่ทุกคนรักและชื่นชอบแบบเรียน “มานี-มานะ” ซึ่งแบบเรียนนี้คุณแม่ภูมิใจและท่านมีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบการศึกษาภาษาไทย ท่านทำโดยที่ไม่ได้หวังกอบโกยผลประโยชน์ ส่วนตัวแล้วไม่มีโอกาสได้ใช้แบบเรียนนี้เพียงแค่ได้ดูได้อ่านบ้าง แต่เพื่อนที่เป็นครูสอนหนังสือเด็กจะพูดให้ฟังเสมอ ๆ ว่าชื่นชอบแบบเรียนนี้ เพราะเป็นการสอนให้เด็กเข้าใจในภาษาไทยด้วยคำพูดง่าย ๆ และทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็ว ๆ ไม่สลับซับซ้อนซึ่งก็รู้สึกดีใจ”นางพรพรรณ กล่าว

               ด้าน นายประพันธ์ บุญสม อดีตศึกษานิเทศก์ ผู้ประสานงานสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า อ.รัชนี เป็นศึกษานิเทศก์ วิชาภาษาไทย ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 9 ของกรมสามัญศึกษา ที่ผ่านมาท่านอุทิศตนเพื่อการเรียนการสอนภาษาไทยอย่างยิ่ง ได้เขียนหนังสือประกอบวิชาภาษาไทยเรื่อง “กระต่ายน้อยและฝนหลวง” ได้ร่วมเขียนหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทย และผลงานที่เป็นยกย่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คือ หนังสือส่งเสริมการอ่านวิชาภาษาไทย ชุดแบบเรียน “มานี-มานะ” ซึ่งเป็นชุดแบบเรียนที่มีคุณค่าและศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย TLCC เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการไทย นำไปใช้เป็นหนังสือเรียนสอนภาษาไทยให้แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2524 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ อ.รัชนี นั้นยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียน นักแปล นักกวี และได้รับเลือกให้เป็นนักเขียนยอดเยี่ยม รางวัลนราธิป ปีพ.ศ.2554 ด้วย

               อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวตนนั้นแม้จะไม่ได้ทำงานร่วมกับ อ.รัชนี มาก่อนเพราะท่านเกษียณอายุราชการในปี 2533 ซึ่งตนเพิ่งเป็นศึกษานิเทศก์ แต่ก็มีโอกาสได้พบ อ.รัชนี ในงานของสมาคมฯ อยู่บ่อย ๆ เนื่องจากต้องประสานรวบรวมทำประวัติ ส่วนตัวแล้วก็มีการโอกาสศึกษางานเขียนของอาจารย์และจากประสบการณ์ที่ได้ติดตามประเมินการสอนได้พูดคุยกับอาจารย์ผู้สอนภาษาไทยที่ใช้แบบเรียนมานี มานะ ในสมัยนั้นต่างเห็นตรงกันว่าเป็นสื่อการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์เป็นหนังสือที่ดีที่สุด ทำให้เกิดวามเข้าใจในภาษาไทยได้ง่ายมีประโยชน์อย่างมากต่อการฟัง การพูด การเขียนภาษาไทย ช่วยแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกด้วย ซึ่งน่าเสียดายที่ยกเลิกใช้แบบเรียนนี้ไปแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้กระทรวงทบทวน นำตำราที่มีคุณค่ากลับมาใช้เรียนในระดับต่าง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ