ข่าว

'ขันติ'นำสู่'สันติ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ขันติ'นำสู่'สันติ' : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ [email protected]/ twitter@DoctorAmorn

            ยิ่งใกล้วันแห่งการชี้ชะตาอนาคตของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมไปถึงคณะรัฐบาล บนตารางเวลาที่มีการคาดเดากันจากประสบการณ์ในอดีตและความเป็นไปได้ในกระบวนการพิจารณาของตุลาการทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลสถิตยุติธรรม ยิ่งเพิ่มความกังวลใจให้ทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายที่ประสงค์จะเห็นทางออกของปัญหาบ้านเมืองวันนี้ที่เชื่อว่าไม่มีใครต้องการเห็นการปะทะหรือความรุนแรงที่นำไปสู่ความสูญเสียของแต่ละฝ่าย

            ทางกองทัพได้มีการหารือเป็นการภายในเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในการชุมนุมของกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งพิจารณาจากท่าทีของฝ่ายผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงที่มองกันว่านัดหมายในวันที่ 5 เมษายน อาจจะมีจำนวนมากเหมือนดังการชุมนุมที่เคยจัดขึ้นในราชมังคลากีฬาสถาน กระทั่งเคยนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้คนทั้งสองกลุ่ม ยังคงเป็นภาพที่สะเทือนใจคนจำนวนมาก ที่ได้เห็นต่างฝ่ายต่างแสดงความเคียดแค้นชิงชังประหัตประหารกันด้วยสรรพอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธที่สรรหามาห้ำหั่นกัน

            บทเรียนครั้งแล้วครั้งเล่าของเหตุการณ์เช่นที่ว่านี้ มีตัวอย่างในหลายสังคมดังรับทราบกันดี ซึ่งเปรียบไปแล้วสังคมของเรานับว่าสามารถรอดพ้นการเข่นฆ่าอย่างรุนแรงเช่นที่ปรากฏในบางประเทศทั้งในแอฟริกาและยุโรปมาได้ เพราะเชื่อว่าเบื้องลึกของจิตใจคนไทยส่วนใหญ่อาจไม่ชอบและแสดงออกซึ่งความโกรธเกลียด แต่ภายในก็ยังคงแฝงไว้ด้วยความรู้สึก “เมตตา” และพร้อมจะให้ “อภัย” ซึ่งกันและกันได้

            มุมมองในด้านดีของ “ความเป็นไทย” ยังคงเป็นประตูที่ถูกเปิดขึ้นเพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์ในครั้งนี้ได้หลายครั้งครา แม้จะเป็นการพูดคุยหารือของ “ตัวแทน หรือ ผู้มีศักยภาพในการเชื่อมต่อประสานประโยชน์ของคนหลายฝ่ายเข้าหากัน” ก็ต้องถือว่าได้ช่วยผ่อนคลายเยียวยาแก้ไขวิกฤติมิให้พัฒนาไปสู่การเผชิญหน้าได้อย่างน่าพอใจ ถึงแม้บุคคลที่อยู่ “หลังฉาก” จะไม่แสดงตัวหรือถูกเผยตัวออกมาอย่างชัดแจ้ง ก็จำเป็นต้องให้กำลังใจและขอให้ใช้ “ขันติ คือ ความอดทนอดกลั้น (resilient)” ต่อความท้าทายนี้ต่อไป

            ขณะที่คู่กรณีเองอาจดูเหมือนถูก “จับแยก” ให้อยู่นอกวงปะทะแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน มาเป็นการพูดคุยสื่อสารกับมวลชนของตน “อย่างมีเหตุมีผล” มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะมีสัญญาณบ่งบอกนัยอะไรตามกระแสข่าวที่ปรากฏทั้งในแวดวงข่าวสารทั่วไปหรือในโลกสังคมออนไลน์ จะต้องเข้าใจว่า “กฎแห่งการปะทะ (rules of engagement)”  เพื่อเอาชนะภัยคุกคามทุกรูปแบบสำคัญที่สุดคือ “การรู้แน่ชัดถึงตัวตนศักยภาพของฝ่ายตรงข้าม และเลือกใช้ทรัพยากรปัจจัยสนับสนุนต่างๆ อย่างถูกที่ถูกเวลา”

            แต่วันนี้ ยังไม่มั่นใจได้อย่างแน่ชัดว่า “การเปิดแนวปะทะ” อย่างศัพท์แสงที่ใช้ในเชิงความมั่นคง ต่อการเข้าต่อกรกับอีกฝ่ายหนึ่งของทั้งสองกลุ่มที่เห็นแย้งเห็นต่างกันนั้น จะกระทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมีเจตนาเพื่อดึงรั้งหน่วงเหนี่ยวเวลาให้เข้าสู่วงล้อมเพื่อการระดมโจมตีเอาชนะในขั้นสุดท้ายหรือไม่ แต่ได้เห็นคนจำนวนหนึ่งกำลังถูกทำลายความน่าเชื่อถือของกันและกันอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในวันที่เราต้องการบุคคลซึ่งจะเข้ามาแก้ไขเยียวยาสถานการณ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมส่วนใหญ่ที่ปกติหาได้ยากยิ่ง กลับยิ่งหาได้ยากมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว

            กลยุทธ์การแก้ปัญหาบนภาวะความสุ่มเสี่ยงต่อ “โอกาสการเผชิญหน้าขั้นแตกหัก” ยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ “กฎการปะทะของแต่ละฝ่าย” ต้องถูกพิจารณาทบทวนครั้งแล้วครั้งเล่า ดังจะเห็นได้จากท่าทีของความเป็นไปได้ที่น่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเหมือนในอดีตหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็ได้แปรเปลี่ยนไปในทางตรงข้ามได้อย่างง่ายดาย ถึงกระนั้นการต่อสู้ด้วยวิธีการรอการเพลี่ยงพล้ำของอีกฝ่ายในลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า “waiting game” คือ ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยเวลานี้ ต้องวัดใจกันดูว่า “ขันติ” ของใครจะเหนือกว่าใครหรือของใครจะกลายเป็น “ขันแตก” กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างที่หลายคนหวั่นเกรง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ