ข่าว

กว่า'เขา'จะได้อย่างวันนี้ :

กว่า'เขา'จะได้อย่างวันนี้ :

28 มี.ค. 2557

กว่า'เขา'จะได้อย่างวันนี้ : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ [email protected]/ twitter@DoctorAmorn

              ผมร่วมคณะเดินทางไปต่างประเทศกับสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติสถาบันหนึ่งเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสเห็นกระบวนการทางการเมืองการปกครองของหลายประเทศในยุโรป จะนำมาพูดคุยกับท่านทั้งหลายในส่วนของสาระสำคัญที่ได้พบเห็นในประเทศหลักๆ เผื่อว่าจะเป็นตัวอย่างให้บ้านเมืองของเราสามารถผ่านพ้นวิกฤติในวันนี้ไปได้บ้าง

              ต้องยอมรับว่า เรื่องของสายการบินมาเลเซียที่สูญหายกับการผนวกดินแดนบนแหลมไครเมียของรัสเซีย เป็นประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของคนในยุโรปเป็นอย่างยิ่ง ระหว่างอยู่ในโรงแรมส่วนมากผมจะเปิดทีวีในระบบ "ดิจิทัล" ที่เขาเริ่มใช้ก่อนหน้าสังคมของเราราวๆ กว่าสิบปี ทำให้เห็นวิวัฒนาการของความกลมกลืนทางวัฒนธรรม ที่แม้แต่ด่านผ่านคนเข้าเมืองระหว่างประเทศในยุโรปวันนี้เป็นโครงสร้างที่อยู่บนถนนเชื่อมต่อระหว่างประเทศ แต่ไม่ได้ใช้งานมานานนม เพราะมีการวางระบบวีซ่าและกรรมวิธีทางราชการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรป (อีซี) จึงเห็นว่า ในอนาคตประเทศของเราเมื่อเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบคงหนีสภาพเช่นเดียวกันนี้ไม่พ้นแน่นอน

              แต่เรื่องน่าห่วงของหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ซึ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง พบว่าวันนี้คนเยอรมันไม่นิยมมีบุตรหลานคล้ายๆ กัปประเทศสิงคโปร์ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ทำให้เราได้เห็นคนเติร์ก คนเชื้อชาติอื่นๆ ที่มิใช่คนเชื้อชาติเยอรมันอพยพเข้าไปอยู่ในประเทศ กระทั่งเป็นปัญหาที่ "แองเจลา แมร์เคิล" นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กของเยอรมัน ต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งในรูปสวัสดิการและระบบภาษี

              ทั้งนี้ความสำเร็จอย่างยิ่งยวดของหลายประเทศเชื่อว่า นอกจากความมีวินัยการเคารพสิทธิหน้าที่ของกันและกันแล้ว ยังอยู่ที่ความสามารถของผู้นำที่เข้ามาบริหารประเทศด้วยความเสียสละและมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หลายคนในเยอรมันอาจพยายามลืมความหลังอันโหดเหี้ยมในช่วงสงครมโลกครั้งที่สอง แต่พยายามรักษา "บทเรียนต่างๆ" ไว้ในสถานที่ต่างๆ ทั้งสถานที่ราชการ สิ่งก่อสร้าง รวมถึงพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวมเอาสิ่งดีและสิ่งที่หลายคนอยากลืมเอาไว้เตือนความทรงจำ โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ทหารสมัยสงครามใหญ่ทั้งสองครั้ง

              ผมหันมาดูความขัดแย้งของสังคมเราในวันนี้ เห็นทางออกที่สำคัญว่า ต้องอยู่ที่ความเสียสละของคนจำนวนมาก เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทุกฝ่าย อาจต้องใช้โอกาสที่เหลืออยู่เรียนรู้ความผิดพลาด ลดทิฐิความเกลียดชังซึ่งกันและกันลงให้มากที่สุด เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าร่วมกันให้ได้เหมือนบทเรียนของหลายประเทศในยุโรป