ข่าว

แนะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดย'สันติวิธี'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สภาพัฒนาการเมือง แก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดย'สันติวิธี' : สัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง

              สมัยอดีตอยุธยา เป็นความขัดแย้งระหว่างคนไทยกับคนพม่า แต่ปัจจุบันเป็นการขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกัน เป็นความขัดแย้งที่ลงลึกถึงรากฐานของประเทศ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในอดีตเป็นเรื่องความขัดแย้งด้านการทหาร แต่ปัจจุบันเป็นการขัดแย้งทางด้านความคิด อุดมการณ์ และมีมิติความขัดแย้งรอบด้านมากกว่าในอดีต

              สังคมไทยในปัจจุบัน มีทั้งความแตกต่าง และความเหมือน กับสังคมไทยในอดีต มีความแตกแยก ขาดความสามัคคี มีไส้ศึก มีการแบ่งแยกเป็นก๊ก เป็นเหล่า แต่กรณีของสมัยอดีตอยุธยา เป็นความขัดแย้งระหว่างคนไทยกับคนพม่า แต่ปัจจุบัน "เป็นการขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกัน" สภาพัฒนาการเมือง เกิดขึ้นเพื่อนำแผนแม่บทมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยเน้น "สันติวิธี"

              ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวถึงบทบาทการทำงานของ "สภาพัฒนาการเมือง" ว่า ก่อตั้งขึ้นมาจากวัตถุประสงค์ 3 ประการ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ และส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง ขณะเดียวกันต้องนำแผนพัฒนาการเมืองซึ่งเป็นแผนแม่บท มาดำเนินการพร้อมปฏิบัติหน้าที่ดำเนินการที่พระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง บัญญัติไว้ คือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ด้วยเหตุนี้ สภาพัฒนาการเมือง จึงจัดตั้งคณะกรรมการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อจะได้ช่วยเหลือความขัดแย้งในบ้านเมืองทุกวันนี้

              "ขณะนี้มีประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน ได้แก่ ความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมือง ความขัดแย้งแตกแยกปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ที่กลายเป็นปัญหาลุกลามใหญ่โต ความขัดแย้งกับประเทศกัมพูชา กรณีปราสาทพระวิหาร ศาลโลกตัดสินออกมาแล้ว ความขัดแย้งการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิของชุมชนในการทำมาหากิน สิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยทรัพยากรอันมีจำกัด เช่น ที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพ" 

              ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวในงานสัมมนา “ความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน : สาเหตุของปัญหาและแนวทางการแก้ไข” ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ในประวัติศาสตร์ชาติไทย กว่าที่จะสร้างชาติได้ ต้องผ่านการเสียเลือด เสียเนื้อ เสียชีวิตของผู้คนมากมายมหาศาล ประเทศไทยเกือบสิ้นชาติมาแล้วครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2112 สมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช และครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 สมัยพระเจ้าเอกทัศ ซึ่งอยากชี้ให้คนไทยเห็นถึงการเสียชาติเพื่อปกป้องชาติในสมัยก่อน กับความแตกแยกในปัจจุบันนี้ ลองวิเคราะห์ดูว่า เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

              ประเด็นที่เหมือนกัน คือ ความแตกแยก ความสามัคคี เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 1 มีคนไทยไปเข้ากับพม่า นำทางให้แก่พม่า ครั้งที่ 2 ในราชวงศ์ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพี่น้องทะเลาะกันเอง คือ พระเจ้าอุทุมพร กับ พระเจ้าเอกทัศ และความขัดแย้งจากพระราชโอรสที่ต่างมารดา แต่ความแตกแยกของคนในปัจจุบันมีสารพัดสี หลายฝักหลายฝ่าย ประเด็นเรื่องไส้ศึก สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็มีไส้ศึกเหมือนกัน เสียกรุงครั้งที่ 1 พระยาจักรีเปิดประตูเมืองให้พม่าเข้าไป สมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 ก็มีไส้ศึกเหมือนกัน ลองสังเกตดูว่า ในเรื่องของการปกป้องอธิปไตยของชาติ เรากลับไปเข้าข้างประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่กรณี เป็นต้น 

              และ ประเด็นการแบ่งแยกเป็นก๊ก เป็นเหล่า สมัยกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 1 และ 2 คนไทยแตกออกเป็น 5 ก๊ก ก๊กพระยาพิษณุโลก ก๊กพระยาพิมาย นครราชสีมา ก๊กเจ้าฟ้าฝาง ก๊กนครศรีธรรมราช และก๊กพระเจ้าตากสินมหาราช ถ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่สามารถกอบกู้บ้านเมืองได้ ไทยเราอาจจะเป็นเมืองขึ้นของพม่าไปแล้ว แต่โชคดีที่เรารวมชาติกันได้ 

              ศ.ดร.ธีรภัทร์ พูดถึงเรื่องสิ่งที่ต่างกันบ้าง ว่า กรณีของสมัยอดีตอยุธยา เป็นความขัดแย้งระหว่างคนไทยกับคนพม่า แต่ปัจจุบันเป็นการขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกัน เป็นความขัดแย้งที่ลงลึกถึงรากฐานของประเทศ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในอดีตเป็นเรื่องความขัดแย้งด้านการทหาร แต่ปัจจุบันเป็นการขัดแย้งทางด้านความคิด อุดมการณ์ และมีมิติความขัดแย้งรอบด้านมากกว่าในอดีต

              "ผมคิดว่า สิ่งนี้จะเป็นตัวช่วยวิเคราะห์ปัญหาว่า ปัญหาที่เกิดความขัดแย้งในปัจจุบันมีสาเหตุรากเหง้ามาจากอะไร เราจะได้แก้ไขปัญหารากเหง้าได้อย่างไร"

-------------

(หมายเหตุ : สภาพัฒนาการเมือง แก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดย'สันติวิธี' : สัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง) 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ