Lifestyle

เตือนภัย'เด็กหอ'ข้อควรรู้เมื่ออยู่หอพัก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เตือนภัย'เด็กหอ'ข้อควรรู้ เมื่ออยู่หอพัก : คอลัมน์ท่องโลกเรียนรู้ : โดย...ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ

              “สุดแสนสบายแมนชั่น” หอพักที่อยู่สบายดั่งชื่อจริงๆ ถ้าคุณมีตังค์ คุณรวยจริง คุณก็อยู่ได้อย่างสะดวกสบาย เพราะเจ้าของหอ "หน้าเลือดมาก" เรื่องหักเงินเจ้าของหอผู้นี้ช่ำชองมาก ทั้งเก็บ 50 บาท เมื่อยืมกุญแจสำรอง, ค่าน้ำแบบเหมาจ่ายเดือนละ 200 บาท แต่หากเราใช้เกิน 10 หน่วย ท่านก็คิดเราเพิ่มหน่วยละ 20 บาท (แล้วจะบอกว่าเหมาจ่ายทำไม?), เปลี่ยนหลอดไฟ, ส้วมตัน ฯลฯ คิดเงินหมด 

                ประโยคข้างต้นจาก http://สุดแสนสบายแมนชั่น.blogspot.com อาจสะท้อนถึงปัญหาที่ “เด็กหอ” กำลังเผชิญ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังต้องเจอกับภัยอันตรายทางร่างกาย ทรัพย์สิน ดังนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นำโดย ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี พร้อมด้วยสำนักส่งเสริมและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จัดเสวนา “ข้อควรรู้ เมื่ออยู่หอพัก” พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าโครงการ “หอพักติดดาว” ครั้งที่ 5 ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีผู้ประกอบการหอพักบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก-บางนา) และนักศึกษาเข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ด้วย

                ณรงค์จันทร์ บูรณะพินิจ นักพัฒนาสังคมชำนาญการ สท.พม. เล่าว่า ทำงานคลุกคลี่อยู่กับหอพักนิสิตนักศึกษามาเป็นเวลานาน ปัญหาส่วนใหญ่คือ ผู้ประกอบการไม่จดทะเบียนหอพักตามกฎหมายระบุ หมายความว่าหอพักจะไม่มีการแยกหญิงชาย บุคคลทั่วไปสามารถพักรวมกับนักศึกษาได้ เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นผู้เช่าจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด

                “ถามถึงเหตุผลที่ไม่ขอจดทะเบียนหอพัก ได้คำตอบหลายอย่าง เช่น หากแยกชายหญิงห้องพักจะว่างเยอะขาดทุน เกิดอาการเครียด ต้องนอนโรงพยาบาล ต้องจ่ายภาษีแพง ผมว่าผู้ประกอบการเข้าใจผิด แม้ว่าหอพักไม่แยกชายหญิง ไม่จดทะเบียน แต่หากผู้ประกอบการขาด 2 ข้อนี้ ได้แก่ 1.มีเป้าหมายชัดเจนว่ากลุ่มผู้เช่าคือใคร 2.ความเอาใจใส่หอพักและผู้เช่า ต่อให้จดทะเบียนถูกกฎหมายกิจการหอพักไม่มีทางประสบความสำเร็จ ดังนั้นแนะนำให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนความคิด ทำหอพักให้น่าอยู่ เอาใจใส่ ดูแลผู้เช่าเหมือนเขาเป็นลูกหลานของเรา เท่านี้ผมเชื่อว่ารุ่นพี่จะบอกต่อรุ่นน้องให้มาเช่าหอคุณเอง” ณรงค์ กล่าว

                ขณะเดียวกัน แม้นักศึกษาจะอยู่ในหอพักที่ถูกกฎหมาย แต่ไม่ได้แยกชายหญิง และขาดความระมัดระวังตนเองก็จะตกเป็นเหยื่อผู้ไม่หวังดีได้ เช่น หอพักมหาวิทยาลัยย่านดินแดน มีทั้งหมด 5 ชั้น อยู่ติดกับหอพักรวม 6 ชั้น มีผู้ชายนำเชือกโรยตัวลงมาบนดาดฟ้า ลักลอบเข้าทางระเบียงห้องของนักศึกษาหญิงที่เปิดประตูทิ้งไว้ เข้าไปทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตและเก็บเอาทรัพย์สินที่มีค้าไป ญาติผู้เสียหายได้ร้องเรียนไปที่ สคบ. แต่ สคบ. ส่งเรื่องมายัง พม. ซึ่งเขาได้เป็นผู้ช่วยดำเนินการสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง

                “ผมแนะนำว่า เวลาอยู่ที่หอคนเดียว โดยเฉพาะผู้หญิง อย่าเปิดประตูทั้งหน้าห้อง และหลังห้องโดยเด็ดขาด เพราะทุกวันนี้ไว้ใจอะไรไม่ได้ ทั้งถนนหนทาง ผู้คน สถานที่ ต้องระมัดระวังตัวเองด้วย อย่างกรณีนักศึกษาสาวคนหนึ่งพักในหอมหาวิทยาลัย เธอกลับบ้านในวันเสาร์-อาทิตย์ และจะกลับมาเรียนในวันปกติ แต่หอปิดเวลา 22.00 น. แต่เธอมาถึง 22.30 น. เข้าหอไม่ได้ จึงนั่งรอที่ใต้ตึก ปรากฏว่ามีชายชาวกัมพูชาเข้ามาเอาไม้หน้าสามตี และเก็บทรัพย์สินไป ซึ่งหอมีทั้งยาม กล้องวงจรปิดครบ แต่ยังเกิดเหตุได้” ณรงค์ กล่าว

                ทั้งนี้ เชื่อว่าหากมีการแยกหอพักหญิงชายจะช่วยลดการเกิดอาชญากรรมได้ และหากในกรณีแยกชัดเจนแล้วแต่ยังเกิดเหตุร้าย ผู้ประกอบการต้องมาพิจารณาปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดเหตุขึ้น เช่น ตัวอาคารว่าควรปรับปรุงตรงไหน อย่างไรบ้าง

                อลงกฎ จิตต์ชื่นโชติ หัวหน้าข่าวอาชญากรรม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวว่า ตามที่อยู่ในวงการสื่อ มักพบเห็นข่าวและเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับนิสิตนักศึกษาจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่ 22.00 น.ขึ้นไป ทั้งในหอพัก และนอกหอพัก เช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (หัวหมาก) นักศึกษาออกไปซื้ออาหารเวลา 22.00 น. พอถึงสะพานใกล้กับมหาวิทยาลัยมีผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาหาเธอ พยายามดึงเธอลงไปใต้สะพานเพื่อจะข่มขืน จับได้ภายหลังพบว่าผู้ชายคนดังกล่าวเป็นโรคจิต

                อีกเหตุการณ์หนึ่ง นักศึกษาสาวพักอยู่ซอยรามคำแหง 53 จะไปหาเพื่อนที่ซอยรามคำแหง 51 ระหว่างทางก็มีผู้ชายฉุดไปข่มขืน ระยะทางไม่ไกล แต่สามารถเกิดเหตุการณ์ได้ตลอดเวลา ดังนั้นอยากฝากถึงทุกคนให้พยายามหลีกเลี่ยงการเดินทางในเวลาวิกาล

                “เหตุการณ์ที่ทุกคนคาดไม่ถึง เช่น เวลาเราได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากห้องข้างๆ หลายคนไม่กล้าออกไปดู และให้การช่วยเหลือ เพราะกลัวได้รับอันตราย ตรงนี้ผมแนะนำให้ออกไปเรียกหาคนใกล้ๆ มาช่วยเหลือ เช่น ยาม อย่าอยู่นิ่งเฉย ต้องรีบช่วยเหลือกัน" หัวหน้าข่าวอาชญากรรม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าว

                จิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการ สคบ.กล่าวว่า การร้องเรียนหอพักส่วนใหญ่จะเป็นกรณีคืนเงินประกัน ที่ผู้ประกอบการหักเงินประกันเกินจริง คืนเงินประกันช้า สคบ.ได้ทำการแก้ไขปัญหา โดยการจัดทำแบบฟอร์มใบเสร็จการรับ-จ่ายเงินประกัน ขณะนี้ก็มีหอพักนำไปใช้แล้ว และหากยังไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถแจ้งร้องเรียนเข้ามาสายด่วน สคบ.1166

                อริศรา เอ็มสรรค์ นักศึกษาชั้นปี 1 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เล่าว่า ก่อนจะเข้าหอพักได้หาข้อมูลหอพัก เช่น ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หอพักเป็นหอพักรวมหรือแยก บรรยากาศในอาคาร เจ้าหน้าที่หอพักอัธยาศัยดีหรือไม่ กลุ่มคนที่พัก  บริการที่ได้รับ เป็นต้น
        
..................................................

(เตือนภัย'เด็กหอ'ข้อควรรู้ เมื่ออยู่หอพัก : คอลัมน์ท่องโลกเรียนรู้ : โดย...ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ)

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ