ข่าว

มืดมน!ยางพาราขาลงรายได้ลด20%มีแต่เสี่ยง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มืดมน...ยางพาราขาลง เกษตรกรรายได้ลด20%มองไปทางไหนมีแต่เสี่ยง : ทีมข่าวภูมิภาครายงาน


              นับเป็นเวลานับสิบๆ ปี ที่ชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ล้วนตกอยู่ในสภาพลุ่มๆ ดอนๆ กระทั่งปี 2553 ราคา "น้ำยางสด" พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ ที่กิโลกรัมละ 126 บาท แสงแห่งความหวังได้จุดประกายในใจของชาวสวนหลายแสนครอบครัว พวกเขาฝันถึงอนาคตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น วาดหวังเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย

              เช่นเดียวกับครอบครัวของ "อุสมาน" ชาวสวนยางในพื้นที่ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เล่าว่า ช่วงที่ราคายางทะลุ 100 บาท/กก. ได้นำเงินส่วนใหญ่จากการขายน้ำยางไปดาวน์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ส่วนหนึ่งนำไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าอำนวยความสะดวกหลายรายการ ชีวิตตอนนั้นถือว่าอู้ฟู่มาก

              ทว่าชะตาชีวิตมักไม่มีอะไรแน่นอน ราคายางสูงเกินหลักร้อยบาทต่อเนื่องมาถึงช่วง 3 เดือนแรกของปี 2555 จากนั้นก็เริ่มดิ่งลงจนถึงวันนี้เฉลี่ยแค่กิโลกรัมละ 70 บาทเศษๆ นั่นหมายถึง "เงิน" ในกระเป๋าของ "อุสมาน" ได้หดหายไปกว่าครึ่งจากที่เคยได้รับ ซ้ำร้ายสินค้าหลายรายการที่ซื้อเงินผ่อนยังจ่ายไม่หมด

              "พอราคายางพาราตก ภาระหนี้สินที่จะต้องจ่ายค่างวดต่างๆ ก็หนักขึ้น เพราะรายได้ลดน้อยลงจากเดิม ผมและชาวสวนบางคนต้องหยิบยืมเงินมาใช้จ่ายจนหนี้สินพอกพูนขึ้น ยิ่งช่วงนี้ก็ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ของลูกหลาน ยิ่งลำบากมากขึ้น ประกอบพื้นที่ภาคใต้เริ่มเข้าสู่หน้าฝน ชีวิตตอนนี้เรียกว่า ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เป็นอุปสรรคซ้ำซ้อนเข้าไปอีก ส่วนลูกจ้างสวนยางก็ไปหยิบยืมเงินคนอื่นมาใช้จ่ายรายวัน เพราะรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำให้หนี้สินงอกขึ้นอีก" อุสมานยอมรับ

              ชาวสวนคนเดิม เล่าอีกว่า คนที่มีอาชีพรับจ้างกรีดยางพาราอย่างเดียว ไม่มีงานอื่นเสริม กลุ่มนี้จะเดือดร้อนมากที่สุด เพราะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา กระทั่งช่วงที่ต้นยางเริ่มผลิใบใหม่ๆ บางรายก็รีบกรีดไปขายเอาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ถึงรู้อยู่แก่ใจว่าต้นยางในช่วงนี้จะให้ปริมาณน้ำยางน้อย และไม่ได้คุณภาพ แต่จำใจกรีดยางด้วยความจำเป็น ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

              นิตยา จงโวหาญ ชาวสวนยาง 5 ไร่ ในพื้นที่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา บอกว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้แค่วันละ 400 บาท จากเดิมเคยได้ประมาณ 600-700 บาท ครอบครัวกำลังเดือดร้อน ลูก 4 คน เรียนอยู่ชั้นมัธยม 2 คน อีก 2 คน เรียนชั้นประถม หากเปิดเทอมจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตกวันละ 400-500 บาท นี่ยังไม่รวมค่าซื้อหนังสือ ชุดนักเรียน และรองเท้า นอกจากนี้ไม่มีเงินสำรองสำหรับซื้อปุ๋ยใส่ต้นยางประมาณ 3 เดือนต่อครั้ง ซ้ำร้ายบางครั้งฝนตกต่อเนื่อง 4-5 วัน ทำให้กรีดยางไม่ได้ ดังนั้นอยากฝากไปยังรัฐบาล หรือผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยว่า ตอนนี้ลำบากมาก

              ขณะที่ ณรงค์ศักดิ์ นุ่มนวล เจ้าของสวนยาง 15 ไร่ ในพื้นที่ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี บอกว่า ลูก 3 คน กำลังเรียนระดับปริญญาตรี อาชีวศึกษา และมัธยมต้น ใกล้เปิดเทอมแล้ว ยังไม่รู้จะหาเงินจากไหนมาจ่ายค่าเทอม อาจจะหยิบยืมเพื่อนบ้าน หรือขอผ่อนผันจากสถานศึกษาไปก่อน

              "ลำพังค่าใช้จ่ายประจำวันก็ลำบากอยู่แล้ว น่าแปลกยางราคาตก แต่ของกินของใช้ทุกอย่างราคาสูงขึ้น ปีนี้ยอมรับว่าลำบากหนักสุด แถมบางช่วงกรีดยางไม่ได้ เพราะฝนตก อยากให้นายกฯ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และรัฐบาล เร่งแก้ไขด้วย" ณรงค์ศักดิ์ย้ำ

              เมื่อความทุกข์ร้อนมาเยือนหลายชีวิตพยายามดิ้นรนหาทางออก ลูกจ้างกรีดยางพารารายหนึ่ง เล่าว่า ครอบครัวต้องหารายได้เสริมจากทางอื่น ไม่ว่าจะเป็นรับจ้างทั่วๆ หรือขายลูกชิ้นปิ้ง ถ้าไม่วางแผนล่วงหน้าพอลูก 2 คนไปโรงเรียนชีวิตคงแย่กว่านี้

              ชะตากรรมผู้ปลูกยางในดินแดนที่ราบสูงก็ไม่ต่างไปจากคนปักษ์ใต้ บุญถอง คุณสิงห์ เจ้าของสวนยางกว่า 80 ไร่ ในพื้นที่ อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ระบุว่า ทำสวนยางมานานกว่า 20 ปี ช่วงที่ยางราคาดีมีรายได้เฉลี่ยกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายจิปาถะยังเหลือเงินเดือนละ 4 หมื่นบาท จึงตัดสินใจดาวน์รถบรรทุกหกล้อ 1 คัน และรถไถนาเดินตาม 2 คัน ทำให้ทุกเดือนจะมีรายจ่ายส่งค่างวดรถสูงถึงเดือนละ  6 หมื่นบาท

              “รถบรรทุกหกล้อใช้รับจ้างขนยางส่งโรงงาน ช่วงที่ราคายางมีราคาสูงชาวสวนยางจะนำยางมาขายกันอย่างคึกคัก ทำให้มีรายได้จากการรับจ้างอีกทางหนึ่ง ส่วนรถไถเดินก็รับจ้างชาวไร่ชาวนา แต่พอยางราคาตก รายได้ก็ลดลง จึงให้ลูกสาวช่วยผ่อนรถไถนาเดินตาม 1 คัน และตัดสินใจกู้เงินจากสหกรณ์ภูสิงห์มิ่งมิตรบ้านชัยพร จำนวน 5 แสนบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าผ่อนส่งรถอีก 2 คัน รวมถึงค่าปุ๋ยที่ยังมีหนี้สินอีกกว่า 1 แสนบาท ถึงตรงนี้ต้องกัดฟันสู้ให้ถึงที่สุด ดีกว่าปล่อยให้บริษัทมายึดรถไป” บุญถองยืนยันหนักแน่น

              ด้าน ประนอม โพธิภาค ชาว อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ ยอมรับว่า ราคายางตกลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อรายได้ และมีภาระค่างวดรถปิกอัพ 2 คัน รถบรรทุกหกล้อ 2 คัน ซึ่งตั้งใจดาวน์มาเพื่อขยายกิจการ อีกทั้งมีค่าปุ๋ย ค่าจ้างแรงงาน และเงินลงทุนจมไปกับการรับซื้อยางถ้วย หรือ ยางก้นถ้วย กว่า 10 ตัน ช่วงราคา 55-60 บาท/กก. จนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายหลายด้าน ทุกวันนี้เมื่อซื้อมาจะรีบขายต่อให้โรงงานทันที เพราะเก็บไว้เสี่ยงขาดทุนสูง ตอนนี้เงินเก็บไม่เหลือแล้ว รายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย ทุกอย่างกระทบกันเป็นลูกโซ่ไปหมด

              เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนความ "ทุกข์" เพียงเสี้ยวหนึ่งของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเท่านั้น... ชีวิตที่แขวนไว้กับ "ราคายาง" ที่กำลังผันผวนและมีแนวโน้มดิ่งลงต่อเนื่อง ถึงวันนี้ยังไม่มีใครยื่นมาเช็ดคราบน้ำตาให้พวกเขาอย่างเป็นรูปธรรม


รุ่งอรุณราคายางพารา

ปี 2553

              -ดัชนีน้ำยางสด : เดือน ม.ค.-ธ.ค. ราคาสูงขึ้นต่อเนื่องจาก 86 บาท/กก. ถึง 126 บาท/กก.

              -ดัชนีชีวิต : ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ระบุว่า รายได้ภาคเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดีจากราคายางและปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มถึง 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้เงินฝากและสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 13.8% และ 15.5% ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวในสินเชื่อเช่าซื้อรถ


ปี 2554

              -ดัชนีน้ำยางสด : เดือน ม.ค.-ธ.ค. ช่วงต้นปีราคาเริ่มต้นที่ 134 บาท/กก. เคยสูงสุดเมื่อเดือน ก.พ. 150 บาท/กก. กระทั่งช่วงกลางปีจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงเหลือ 90 บาท/กก.

              -ดัชนีชีวิต : ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ระบุว่า ปี 2554 เป็นปีทองของเศรษฐกิจภาคใต้ ทั้งภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม มีการขยายตัวดีตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตปาล์ม และยางพารา ส่งผลให้เงินฝาก สินเชื่อ และการใช้จ่ายอื่นๆ สูงขึ้นตามไปด้วย

ปี 2555

              -ดัชนีน้ำยางสด : เปิดตลาดช่วงต้นปีราคากลับขึ้นมาแตะที่ 108 บาท/กก. กระทั่งเดือน มี.ค. ราคา 114 บาท/กก. จากนั้นราคาเฉลี่ยที่ 80-90 บาท/กก. จนถึงสิ้นปี

              -ดัชนีชีวิต : ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว เนื่องจากไม้ยางพาราแปรรูปลดลงตามความต้องการของตลาดจีน ขณะยางพาราได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้รายได้เกษตรกรลดลงส่งผลให้การอุปโภคบริโภคชะลอตัวลง
 

ปี2556สินค้าเกษตรอัสดง

              -ดัชนีน้ำยางสด : ผลพวงจากปีที่ผ่านมาราคายางยังลดลงต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยเดือน ม.ค. 79 บาท/กก. เดือน ก.พ. 78 บาท/กก. เดือน มี.ค. 79 บาท/กก. เดือน เม.ย. 75 บาท/กก. ล่าสุดเดือน พ.ค.อยู่ที่ 71-75 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนของชาวสวนยางตก กก.ละ 80 บาท จึงเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคาที่ 120 บาท/กก.

              โดยมีปัจจัยจากปัญหาการซื้อขายล่วงหน้าที่เทขายสัญญา โดยเฉพาะที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้ากรุงโตเกียว กดดันให้การซื้อขายส่งมอบจริงในตลาดโลก ขณะที่จีนนำเข้าน้อยลง บวกกับวิกฤติกระแสเงินของกองทุนต่างๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดการอัดฉีดเงินเข้าระบบและเก็งกำไรที่รุนแรงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคายางตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยราคาตลาดล่วงหน้าลดจาก 111.55 บาท/กก. ในเดือนม.ค. เหลือเพียง 73 บาท/กก. หรือลดลง 34.56%

              -ดัชนีชีวิต : ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในไตรมาสแรก ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง มาจากผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กุ้งขาว ลดลงร้อยละ 1.1


เกษตรกรรายได้ลด20%มองไปทางไหนมีแต่เสี่ยง

              ผลพวงจากราคายางพาราที่ลดลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะกำลังซื้อของเกษตรกร พฤธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ระบุว่า จากผลผลิตภาคเกษตรที่ลดลงทั้งในส่วนของยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลผลิตกุ้งขาว ซึ่งเกิดโรคระบาดอีเอ็มเอสส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีอัตราการขยายตัวลดลง อีกทั้งในส่วนของยางพารายังมีแรงกดดันจากสต็อกโลกและในไทยยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรลดลงร้อยละ 1.1 รวมไปทั้งราคากุ้งขาวแม้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 ทำให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 19.7

              ในส่วนของภาคบริโภคและการลงทุนยังขยายตัวได้ดี จากรายได้การท่องเที่ยว โดยดัชนีอุปโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.5 การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเร่งตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 จากที่ลดลงร้อยละ 3.3 ไตรมาสก่อน ยกเว้นการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงตามรายได้เกษตรกร

              "ภาคใต้ยังได้รับผลกระทบจากมูลค่าการส่งออกที่ลดลง 3.6% ถือว่ายังปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนที่ลดลง 12.7% เนื่องจากการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและไม้ยางแปรรูปเพิ่มขึ้น แต่ยางพารา สัตว์น้ำ และถุงมือยางยังลดลง ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 2 ปี 2556 ว่า ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว จากการผลิตและราคาชะลอลง การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอตัว อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยง ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนความผันผวนของค่าเงินบาท และการอ่อนค่าเงินในประเทศคู่ค้า ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้และโรคระบาด เช่น ไข้หวัดนก" พฤทธิพงศ์กล่าว

              ด้าน โสฬส เอมเอก ผู้จัดการฝ่ายขายบริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด สาขาหาดใหญ่ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า กล่าวว่า เมื่อรายได้ลดลงการตัดสินของลูกค้าก็ยากขึ้น ในส่วนไตรมาสแรก ภาพรวมการจำหน่ายก็ยังได้รับผลกระทบจากรถยนต์คันแรกเช่นกัน แต่ก็ไม่มากนัก เนื่องจากโตโยต้ามีรถที่อยู่ในโครงการเพียงไม่กี่รุ่น คือ รุ่นวีออส รุ่นอแวนซ่า ส่วนยอดยกเลิก ไม่มี และรถที่เคยค้างสต็อกอยู่ขณะนี้ได้ระบายออกไปหมดแล้ว

              "ส่วนไตรมาสสอง และไตรมาสสาม มองว่าตลาดรถน่าจะเห็นผลอย่างชัดเจน จากปัจจัยราคาสินค้าเกษตร เดิมทางบริษัทเคยตั้งเป้ายอดขายทั้งรถยนต์และรถเพื่อการพาณิชย์ไว้ตลอดทั้งปีที่ 7,000  คัน แต่สถานการณ์ในขณะนี้ได้ลดยอดลงมาที่ 6,000 คัน ถือว่าใกล้เคียงกับปี 2555 ส่วนการยึดรถคืนจากลูกค้าที่มีปัญหาในขั้นตอนของการผ่อนชำระนั้น ยังไม่มีความเคลื่อนไหวแต่อย่างใด เนื่องจากก่อนที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อรถ จะมีการวางการใช้จ่ายที่รัดกุมปัญหาในส่วนนี้จึงไม่รุนแรงมาก ถ้าจะมีปัญหาจะเป็นกรณีของการยกเลิกใบจอง เพราะอาจจะประเมินแล้วว่า ในอนาคตจะมีผลกระทบในเรื่องของรายได้" โสฬสกล่าวในช่วงท้าย

 

.........................

(หมายเหตุ : มืดมน...ยางพาราขาลง  เกษตรกรรายได้ลด20%มองไปทางไหนมีแต่เสี่ยง : ทีมข่าวภูมิภาครายงาน)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ