บันเทิง

หนังโรงเล็ก:เรื่องของเรื่องก็คือว่า...

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องของเรื่องก็คือว่า... : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร

           เรื่องของเรื่องก็คือว่า  ในวงประชุมกรรมการงานสุพรรณหงส์ทองคำที่ผ่านไป ผมนั่งคุยกับหลายท่านว่า ทำไมปีที่ผ่านมา หนังไทยถือว่าซบเซามาก และคุณภาพอยู่ในชั้นแย่ เมื่อดูจากเกือบ 70 เรื่องที่ออกมา
 
          เรื่องของเรื่องก็คือว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา เวลาไปดูหนังตามที่ต่างๆ เจ้าหน้าที่ของโรงที่รู้จักมักคุ้นกันทุกเครือ จะออกมาเปรยๆ รำพึงรำพันว่า คนดูหนังหายไปไหน ต้นปีมานี้ไม่มีลูกค้าเลย แม้แต่ออสการ์ก็ช่วยไม่ได้ เพราะผู้คนหายไปอย่างต่อเนื่อง
 
          เรื่องของเรื่องก็คือว่า เมื่อดูจากรายได้ของภาพยนตร์ใน 10 อันดับแรก เราจะพบว่าเป็นการครองเบ็ดเสร็จของหนังต่างชาติ ซึ่งไม่มีหนังไทยแทรกขึ้นมา (ทั้งๆ ที่ความคิดนี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับแนวคิดชาตินิยมทั้งสิ้น เพราะผมคิดว่าหนังดีนั้น ชาติอะไรก็ดูเถอะ)
  
          จาก “3 เรื่องของเรื่องก็คือว่า” นี้ มันน่ากลับมาคิดว่า เกิดอะไรขึ้นและมันจะเป็นอย่างไรต่อไปกับการออกสตาร์ทในไตรมาสแรกของอุตสาหกรรมปีนี้มองอย่างเป็นทางการก่อน ถ้าไม่เข้าข้างใคร ก็ต้องบอกว่าเพราะสินค้าคือหนังนั้น ไม่ดีพอ ไม่แข็งแรงพอ ในการดึงให้คนดูออกจากบ้าน ต้นปีที่ผ่านมานี้ มีหนังที่อาจจะมองว่า อยากดูน้อย เพราะแม้แต่บรรยากาศของออสการ์หนึ่งเดือนนั้น อย่าลืมว่า คนทั่วไปก็ไม่ได้ดูหนังแบบนักวิจารณ์ ซึ่งมีหน้าที่ “ทางตรง” อย่าถ้าพวกเขาไม่ได้ดูหนังแบบนี้ ก็ไม่ผิด เหมือนคนชอบส้มตำ แต่แม่ค้าขายแต่แฮมเบอร์เกอร์ มันก็ว่ากันไม่ได้
 
          ประการต่อมา เราต้องยอมรับกันได้แล้วว่า ตลาดหนังของทุกวันนี้ เป็นเรื่องของวัยรุ่น ที่ไม่ใช่คนวัยทำงาน ผมเคยจะไม่เชื่อเรื่องนี้ แต่เมื่อยังคงไปดูหนังบ่อยๆ ก็ลองแอบสังเกตวัยคนที่มาซื้อตั๋ว ผลก็คือว่า เป็นวัยรุ่นถึง 85% ขณะที่คนวัยทำงานนั้นมีน้อยมาก นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทำไม ค่ายหนังจึงถูกบีบทางอ้อม ให้สร้างหนังที่ “เป็นของวัยรุ่น” (คำว่าเป็นของวัยรุ่นนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังวัยรุ่นจ๋า แต่อาจเป็นเรื่องราวที่วัยเขาสนใจ ฉะนั้น Amour หรือ Lincoln จึงไม่ได้เงิน ตั้งแต่ยังไม่เข้าโรง ทั้งที่เรื่องแรกนั้น ดีที่สุดในบรรดาหนัง 9 เรื่องที่เข้าชิงออสการ์ปีนี้)
  
          การที่ตลาดของคนดูหนังเป็นของ “วัยรุ่น” นั้น สร้างเงื่อนๆ หลายอย่าง บังคับค่ายหนังไปโดยปริยาย จีทีเอช สร้างมหาลัยเหมืองแร่ หรือค่ายไจแอนท์ซื้อ Amour เข้ามา ทั้งสองเรื่องนี้เป็นหนังดีมาก แต่ผลของมันคือเจ๊ง ถามว่าใครจะกล้าทำแบบนั้นอีก หลังจากสู้แล้วเจ๊ง มากกว่าสู้แล้วรวย ภาพที่สะท้อนออกมามันชัดมากในปี 2555 ที่ผ่านมา เมื่อ 80% ของหนังไทยทั้งปี เป็นเรื่องของการมุ่งเป้าหมายไปที่วัยรุ่น มากกว่าวัยทำงานหรือคนดูที่มีอายุ ตรงนี้ก็มองได้อีกว่า เพราะคนดูที่มีอายุหรือคนวัยทำงานนั้น ไม่ออกจากบ้านไปเข้าโรงแล้ว พวกเขาใช้ทางเลือกอื่นๆ ที่ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง นั่นคือบิดหนังเอาจากเน็ต หรือรอดูจากแผ่นดีวีดี พูดง่ายๆ คือไม่ต้องการบริบทแบบการไปดูหนังในโรง มีคนเยอะๆ มีความมืดและรู้สึกไปด้วยกันแบบเก่า ผมว่าเงื่อนไขนี้ เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะมันเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับทัศนคติของคนจำนวนหนึ่ง มันไม่ใช่เกี่ยวกับเครื่องฉายหนัง หรือที่นั่งดีไม่ดี พอทัศนคติของคนมองว่า หนังนั้นรอดูแผ่นได้ หรือเลือกด้วยการโหลดเถื่อนเอา มันก็เป็นทางออกที่สะดวกกว่าของพวกเขา เปรียบไป เหมือนคนเคยชอบทานบะหมี่แห้ง บะหมี่น้ำ ที่ละเอียดกับการทำอาหาร พอวันหนึ่ง ก็ดันพอใจกับมาม่าคัพใส่ถ้วย ที่กดน้ำร้อนเอา จบ
 
          ประการสุดท้าย การที่ภาวะของหนังเป็นแบบนี้ ทำให้หลายฝ่ายคงประชุมหาทางออกกันปวดหัวพอสมควร เพราะค่ายหนังก็คงต้องสร้างหนังและหาวิธีการขายใหม่ๆ ขณะที่โรงหนังปวดหัวกว่า เนื่องจากถ้าไม่มีหนังโดนๆ หรือค่ายหนังสร้างหนังน้อยลง โรงหนังนั่นเอง ต้องหาทางออกว่า แล้วจะทำอย่างไร เพราะตัวเองเป็นโรงหนัง ทิ้งไว้เฉยๆ ก็เสียไปเรื่อยๆ จากตรงนี้เอง alternative content จึงเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ และอย่างน่าเอาใจช่วย
 
          การนำเอาเนื้อหาหรือ content ด้านอื่นๆ มาผสมใช้กับโรง จึงน่าสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลหนังแปลกๆ หรือมวยปล้ำ หรือคอนเสิร์ต หรือการจัดอีเวนท์เกี่ยวกับสินค้า รวมไปถึงการจัดงานเสวนาต่างๆ ที่อยู่ในโรงหนัง แม้มันจะไม่ใช่การกอบกู้ แต่มันดีกว่าการทิ้งโรงเฉยๆ แล้วรอลุ้นว่า จะมีคนดูไหม
 
          เขียนมาถึงตรงนี้ เหมือนน่าสิ้นหวัง แต่ผมไม่สิ้นหวัง แถมจะยังหวังว่า อดใจรออีกนิด ในปลายเดือนนี้แหละ วงการหนังจะคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ! และขอแช่งให้ความคึกคักนั้น สะเทือนเลือนลั่น ส่งผลไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุดตลอดทั้งปี วงการหนังจะได้ลืมตาอ้าปากอีกครั้ง
 
          ผมนั่งคิดเล่นๆ ว่า ปลายเดือนนี้ไปจนถึงต้นเมษายน จะมีหนัง 3 เรื่องใหญ่ ที่น่าจะกอบกู้ตัวเลขคืนมา และทำให้คนดูกลับมาหาโรง ทั้ง 3 เรื่องก็คือ “พี่มาก พระโขนง”, “คู่กรรม” และ “G.I. Jo” ถ้าเป็นห้าง 3 เรื่องนี้ก็ประมาณ เซ็นทรัลชิดลม, พารากอน และเอ็มโพเรี่ยม และถ้าเป็นทีมบอล 3 เรื่องนี้ก็ประมาณแมนฯ ยู รีล มาดริด และบาเยิร์น กันทีเดียว
 
          “พี่มาก พระโขนง” จะเข้าวันที่ 28 มีนาคม หนังเรื่องนี้เป็นงานของจีทีเอช และเป็นของผู้กำกับโต้ง บรรจง ซึ่งเป็นคนที่มี sense ทางการตลาดและทางการตลก สูงคนหนึ่งของค่ายแกรมมี่ หนังของเขาทุกเรื่องได้เงินเกือบ 100% และด้วยหน้าตาของหนัง แนวทางของเรื่องที่แมสเข้าใจได้ แถมด้วยการทำการตลาดแล้วนาทีนี้ ผมค่อนข้างเชื่อว่า “พี่มาก พระโขนง” จะได้ 100 ล้านบาทขึ้นไป
โดยปกตินั้น สินค้าของจีทีเอชบางเรื่องก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ทุกเรื่องเวลามันจะได้เงินเท่านั้นเท่านี้ ให้บวกเข้าไปอีก 20% อันเกิดจากความเขี้ยวทางการตลาดและการใช้ viral marketing ที่เก่ง
  
          ถ้า “พี่มาก พระโขนง” มีโอกาสจะได้ น้องๆ 100 ล้านขึ้นไป หนังอย่าง G.I.joe ก็จะได้มากกว่าพี่มาก ไม่รู้ที่เท่าไหร่ ผมคิดว่า มันเป็นผลเสียมาก ที่หนังสองเรื่องนี้ดันมาเข้าในสัปดาห์เดียวกัน และถ้าจะมีเรื่องที่แย่งรายได้ไปจากพี่มาก มันก็คือเรื่องนี้แหละ
 
          G.I.Joe 2 นั้น เปิดตัวอย่างรุนแรงแน่นอนเมื่อดูจากหนังตัวอย่าง ที่เร่าร้อนและเรียกร้องคนดูเข้าโรงมาก ความเป็นหนังแบบที่เรียกกันว่า spectacle คือใช้ภาพตื่นตาตื่นใจ บวกเสียงโครมคราม ทั้งยังมีบุคลิกของศัพท์ที่ฝรั่งใช้เรียกว่าหนังสไตล์ big screen epic มันทำให้ผมรู้สึกว่า หนังเรื่องนี้คือ Transformers ภาค 4 นั่นเอง หรือใครจะเถียงว่า หลายอย่างของ G.I. joe 2 นั้น ไม่ได้มีความคล้ายเหมือนกับ Trandformers 3 ที่ทำเงินมหาศาล ช็อกตลาดแบบ 300 กว่าล้านบาทในบ้านเรา และเป็นหนังทำเงินสูงสุดของปี 2011 ที่จะมีใครทำลายได้ยากมาก
  
          ทั้งสองเรื่องนี้เข้าฉายวันเดียวกัน สัปดาห์เดียวกัน ซึ่งไม่ดีนักเพราะต้องมาแย่งกันเอง แต่ความแข็งแรงนั้นมีอยู่ทั้งคู่และคนละแบบ เรื่องหนึ่งแอ็กชั่น อีกเรื่องหนึ่งตลก ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ที่อาจจะมีเป็น “ม้ามืด” (ไม่ใช่ยาดำ) ขึ้นมาคว้าแชมป์ทำเงินมากสุดจาก 3 เรื่องนี้ หนังเรื่องนี้หลายคนคงเดาออกว่าเป็น “คู่กรรม” ที่ตอนนี้เพลงประกอบญี่ปุ่นถูกปล่อยออกมาถี่ยิบแล้ว “คู่กรรม” มีแต้มต่อหลายคะแนนนะครับ เมื่อดูจากหน้าหนัง
 
          อย่างแรก นี่คือหนังที่มี “ณเดชน์” เล่น อย่างที่สอง มันคืองานประพันธ์คลาสสิกที่คนทั่วไป รู้จักดีไม่แพ้ “แม่นาคพระโขนง” หรือ “ดาวพระศุกร์” ผู้กำกับหนังมีความสามารถแน่นอน แต่สิ่งที่เป็นประเด็นน่ามองคือ นี่คือหนังของค่ายโรงหนังเมเจอร์ ฉะนั้น การที่หนังมีโรงหนัง เป็นแต้มต่อที่ทำให้มีโอกาสมากขึ้นในการทำเงิน (เคสของ “คุณนายโฮ” คือตัวอย่างชัดเจน) แต้มต่อคะแนนต่อมา ที่คู่กรรมได้อีกก็คือ ขณะที่ G.I. joe กำลังรำเพลงดาบกับพี่มาก พระโขนงนั้น คู่กรรมรอเสียบโปรแกรมอยู่ข้างหลัง หนังเรื่องไหนได้เงินน้อย หรือส่อแววว่าจะเป๋ โอกาสโดนลดรอบมีแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องและชอบธรรม
  
          ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นหนังใหญ่หมด และเป็นหนังที่น่าดูทุกเรื่อง สิ่งที่ทุกคนต้องเอาใจช่วย ไม่ใช่เรื่องใดชนะเรื่องใด เรื่องไหนทำเงินมากกว่าเรื่องไหน แต่ควรจะเป็น ทุกเรื่องควรได้เงินหมด (และควรได้ 100 ล้านขึ้นไป) รายได้แบบนี้ มีผลทางตรงและอ้อม ที่จะทำให้บริบทของภาพยนตร์และตลาดกลับมาคึกคัก
 
          ถ้าถามผมว่า แล้วเรื่องไหนจะได้เงินเยอะสุด ผมตอบแบบเป็นเพื่อนกับทั้งสามค่ายว่า G.I. joe จะคว้าแชมป์ คู่กรรมจะได้รองแชมป์ และพี่มาก พระโขนง จะมาเป็นอันดับ 3

          แต่เป็นหนังอันดับ 3 ที่มีรายได้เยอะ ในระดับน้องๆ ร้อยล้าน
 
          ถ้าเดาผิด ผมจะยกเสื้อลิเวอร์พูลปี 1975 ให้คุณเก้ง จิระ มะลิกุล แต่ถ้าเดาถูก คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์จะยกออฟฟิศจีทีเอชให้เป็นเซฟเฮ้าส์ของผม ผมก็ไม่ว่าอะไร (ฮา)
.......................................
(หมายเหตุ เรื่องของเรื่องก็คือว่า... : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ