Lifestyle

อัญชันพันธุ์ใหม่เพิ่มทางเลือกเกษตรกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ไซมอน กรูท' วิจัยอัญชันพันธุ์ใหม่ 3 สีสันเพิ่มทางเลือกเกษตรกรไทย : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

                         ไม่เพียงแค่เป็นดอกไม้ที่มีสีสันสวยงาม เป็นพวงชูช่อ เหมาะเป็นไม้ประดับริมรั้ว หากแต่มีคุณประโยชน์มากมายมหาศาลอย่าง "ดอกอัญชัน" ไม้ดอกทรงคุณค่าที่มีสรรพคุณทางยาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นไม้ดอกที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในทุกรูปแบบทั้งปลูกเพื่อความสวยงาม แปรรูปเป็นเมนูอาหาร ตลอดจนรับประทานเป็นยารักษาโรค

                         ด้วยเหตุนี้ทำให้กลุ่มบริษัทอีสท์ เวสท์ ซีด (ประเทศไทย) โดยศูนย์วิจัยไซมอน กรูท ตั้งอยู่ภายในสถานีทดลองพันธุ์พืชฟาร์มเลิศพันธุ์ ริมถนนสายเชียงใหม่-พร้าว ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ได้พยายามปรับปรุงสายพันธุ์ดอกอัญชันให้มีหลากสีสันมากขึ้น มีกลีบดอกเพิ่มขึ้นก่อนนำไปส่งเสริมแก่เกษตรกรที่สนใจ

                         ประจวบ บำรุงศรี หัวหน้าปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอก ศูนย์วิจัยไซมอน กรูท ณ สถานีทดลองพันธุ์พืชฟาร์มเลิศพันธุ์ ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกของฟาร์มแห่งนี้ โดยประจวบระบุว่า ศูนย์เริ่มให้ความสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ดอกอัญชันเมื่อไม่นานมานี้ หลังมีการสำรวจพบว่าความต้องการของดอกอัญชันในตลาดนับวันมีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากดอกอัญชัยมีคุณประโยชน์สูงมากเมื่อเทียบกับไม้ดอกชนิดอื่นๆ  

                         "เราเริ่มมีการพัฒนาและปรังปรุงสายพันธุ์ดอกอัญชันเมื่อไม่นานมานี้เอง เพราะมองเห็นช่องทางการตลาดที่ชัดเจน หลังจากที่ทำการวิจัยมาได้ระยะหนึ่งตอนนี้ก็ได้ดอกอัญชันมาแล้ว 3 สีที่นำมาเสนอคือสีขาว สีม่วงและสีน้ำเงินไวโอเลต จุดเด่นคือกลีบดอกจะซ้อนกันและมีขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นอัญชันธรรมดาทั่วๆ ไปจะเป็นดอกเล็กมีแค่ชั้นเดียว" ประจวบเผย

                         ประจวบระบุอีกว่า อัญชันแต่ละสีจะมีคุณประโยชน์ที่ต่างกัน อย่างดอกสีน้ำเงินไวโอเลตจะมีสารแอนโธไซยานิน (Anthocyanin) อยู่มาก ชาวบ้านมักนิยมมาใช้ทำสีขนม เช่น ขนมดอกอัญชัน ขนมช่อม่วง ทำน้ำดื่มสมุนไพร เนื่องจากสีของดอกอัญชันละลายน้ำได้ รวมทั้งสีเปลี่ยน ไปตามความเป็นกรดด่าง นอกจากนี้ดอกอัญชันยังสามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ ทั้งจิ้มน้ำพริกสดๆ หรือชุบแป้งทอด 

                         "การวิจัยพบว่าสารกลุ่มแอนโธไซยานิน มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของไขมันแอลดีแอล และยังทำให้เซลล์บุผนังหลอดเลือดมีความอ่อนนิ่ม สามารถชะลอการเกิดโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือดและโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวได้ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติล้างพิษ ของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย ชะลอความแก่บำรุงสมองและช่วยลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน"

                         หัวหน้านักปรับปรุงพันธุ์คนเดิมเผยต่อว่า นอกจากอัญชันแล้วศูนย์ยังมีการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกชนิดอื่นอีกมากมาย โดยเฉพาะดาวเรืองและแพงพวย ซึ่งเป็นไม้ดอกหลักของบริษัทที่ทำตลาดอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะดาวเรืองถือเป็นไม้ดอกที่คนไทยรู้จักกันดี เป็นดอกไม้ที่ปลูกง่าย โตเร็ว คงทนต่อสภาพแวดล้อม มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 60-70 วัน รวมทั้งยังเป็นพืชที่ขึ้นได้ดีทุกสภาพพื้นที่และทุกฤดูกาล โดยเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 ส่งไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ 

                         "ที่จริงไม้ดอกหลักของเราตอนนี้มีอยู่ 2 ตัวคือ ดาวเรืองกับแพงพวย แต่เราก็มีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์อยู่ตลาดเวลาเช่นกัน เหตุผลที่เราให้ความสำคัญกับ 2 ประเภทนี้ เพราะมีตลาดที่ใหญ่ มีตั้งแต่ตลาดบูชาพระ ไปจนถึงการจัดสวน ตลาดหลักก็คืออินเดีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา ส่วนใหญ่เราจะขายเมล็ดพันธุ์ มีชื่อเป็นอินเตอร์ว่า แอโรโกและซิมาเยลโล ส่วนแพงพวยที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่จะเป็นสีเข้ม แต่จะเน้นเอาไปจัดสวนการ์เด้นเป็นหลัก" ประจวบกล่าวทิ้งท้าย

                         นับเป็นอีกก้าวของอีสท์ เวสท์ ซีด (ประเทศไทย) โดยศูนย์วิจัยไซมอน กรูท ในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอก โดยมีเป้าหมายหลักสำคัญในเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง

 

 

--------------------

('ไซมอน กรูท' วิจัยอัญชันพันธุ์ใหม่ 3 สีสันเพิ่มทางเลือกเกษตรกรไทย : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ