ข่าว

พรรคร่วมฯผวา'ประชามติล่ม'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'มท.1' ขู่ประชาชนไม่มาลงประชามติแก้รธน.ถือว่าผิดก.ม. 'พรรคร่วมฯ' รับหนักใจดึง 23 ล้านคนใช้สิทธิ-ผวาประชามติล่ม เปิด 4 แคนดิเดตปชป.ชิงผู้ว่าฯกทม.

              19ธ.ค.2555 รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.ในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ ใช้เวลาประมาณ 45 นาที โดยที่ประชุมมีการแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง และมีความเป็นห่วง จนทำให้หาทางออกด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อให้โปร่งใสที่สุดและเคลียร์ที่สุด เพราะถ้ามีคนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง หรือไม่ถึง 23 ล้านคน ก็จะถือเป็นโมฆะ

              รายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุม ครม.นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามขั้นตอนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ได้รายงานผลการดำเนินการหลังจาก ครม.มีมติมอบหมายกระทรวงยุติธรรม ไปประสานกับประธานสภา และประธานวุฒิสภา ซึ่งก็เห็นด้วย รวมทั้งจากการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ต่างก็เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด รวมทั้งกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์รณรงค์ให้ประชาชนไม่ออกมาลงคะแนนเสียงในการทำประชามตินั้นก็ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ครม.ไม่มีความเห็นว่าจะฟ้องดำเนินคดีกับพรรคประชาธิปัตย์

              ส่วนนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ได้ประเมินตัวเลขกลมๆ ให้ที่ประชุมได้เห็นภาพ คือมีผู้ที่มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด 45 ล้านคน และคนที่จะออกมาใช้สิทธิ์คือ 23 ล้านคน และหากได้เสียงสนับสนุนเกินกว่า 12 ล้านเสียง ก็จะผ่านประชามติ

              “แต่ประเด็นวันนี้คือจะต้องเอาข่าวสารออกไปสู่ประชาชนให้ทราบว่า คุณต้องออกมาใช้สิทธิ์เพราะเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เช่นนั้นจะผิดกฎหมาย ดังนั้นต้องสื่อให้ประชาชนเข้าใจ ส่วนจะออกมาแล้วไม่เห็นด้วย ก็เรื่องของคุณ ซึ่งเรื่องนี้นายกฯ ก็เห็นด้วย เพราะอยากทำความเข้าใจ” แหล่งข่าวระดับสูงกล่าว
 

เช็กเสียง 6 พรรคร่วม-ผวาประชามติล่ม

              รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับที่รัฐบาลยังไม่เดินหน้าให้มีการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ โดยตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายการทำประชามติ ขึ้นมาศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติก่อน เพราะรัฐบาลยังไม่มั่นใจในเรื่องของจำนวนผู้มีสิทธิ์ที่จะมาออกเสียง ว่าจะถึงตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่นั้น

              ถ้าตั้งสมมุติฐานว่ารัฐบาลจะทำประชามติที่เป็นข้อยุติ จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจากการเลือกตั้ง วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มีทั้งสิ้น 46,939,549 คน หากมีการจัดทำประชามติจะต้องมีผู้มาออกเสียงในชั้นแรกก่อนเกินครึ่งหนึ่ง คือ ต้องเกินกว่า 23,469,775 คน จากนั้นต้องมาคิดจำนวนเสียงที่ลงประชามติเห็นชอบกับประเด็นที่ตั้งไว้ว่า ต้องเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ คือเกินกว่า 11,734,887 คนขึ้นไป

              แต่เมื่อนำคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อที่เลือก 6 พรรคร่วมรัฐบาลในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 มาพิจารณาเป็นเสียงที่จะสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า พรรคเพื่อไทยได้คะแนน 15,752,470 คะแนน พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ได้คะแนน 495,762 คะแนน พรรคประชาธิปไตยใหม่ ได้คะแนน 125,753 คะแนน พรรคพลังชล 178,042 คะแนน ชาติไทยพัฒนา ได้คะแนน 907,106 คะแนน และพรรคมหาชน ได้คะแนน 133,752 คะแนน รวมเป็นคะแนนทั้งสิ้น 17,592,885 คะแนน ซึ่งยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้ที่ต้องออกมาใช้สิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนด หรือถ้ารวมคะแนนของพรรคภูมิใจไทย ที่โหวตผ่านไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมาอีก 1,281,652 คะแนน ก็ได้คะแนนรวม เพียง 18,874,537คะแนนเท่านั้น

              จากคะแนนดังกล่าวเชื่อว่า ทำให้รัฐบาลต้องถอยกลับไปตั้งหลัก ด้วยการตั้งคณะทำงานและให้ความสำคัญกับการให้กระทรวงมหาดไทยไปดำเนินการเรื่องการสานเสวนา เพื่อหยั่งกระแสเสียงของประชาชนเสียก่อน
 

พรรคร่วมหนักใจ23ล้านเสียงประชามติ

              ด้านนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 กล่าวว่า คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเคยหารือถึงจำนวนเสียงประชาชน 23 ล้านคนที่ต้องออกมาใช้สิทธิ์ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะหากรวมฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคแล้ว ก็ยังไม่ถึง 23 ล้านเสียง แต่เมื่อรัฐบาลตัดสินใจเลือกช่องทางประชามติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 และ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 แล้ว ก็คงมีข้อมูลที่มากกว่าพวกตน และคงมีวิธีการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ให้ได้ตามเป้า ทั้งนี้ในฐานะสมาชิกพรรค ก็คงต้องร่วมรณรงค์กับรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เกิน 23 ล้านคน แม้ว่าการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาจะมีผู้มาใช้สิทธิ์ทั่วประเทศถึง 30 ล้านเสียง แต่การทำประชามตินั้นไม่เหมือนกับการเลือกตั้งใหญ่ ดังนั้นคงต้องทำงานหนักกันจริงๆ


เปิด 4 แคนดิเดตปชป.ชิงผู้ว่าฯกทม.  

              รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงการคัดเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 มกราคม ว่า ในการสัมมนาพรรคที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการหารือกันในประเด็นนี้ โดยคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครลงเลือกตั้ง ที่มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธาน โดยมีรายชื่อผู้ที่แสดงเจตจำนงลงสมัคร 4 คน ได้แก่ 1. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน 2.นายประกอบ จิรกิติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ที่เสนอโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี 3.นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ที่เสนอตัวเอง และ 4.นายอภิชัย เตชะอุบล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เสนอโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ได้ชี้แจงเรื่องนโยบายที่จะทำต่อไป พร้อมนำผลสำรวจของพรรคประชาธิปัตย์ล่าสุด ซึ่งมีการสำรวจตั้งแต่วันที่ 12-17 ธันวาคมที่ผ่านมา มาเปิดเผย โดยพบว่าหากพรรคเพื่อไทยส่งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นผู้สมัคร จะทำให้มีคะแนนสูสี โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ 36% และคุณหญิงสุดารัตน์ได้ 35% แต่หากเป็นพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. และเลขาฯ ป.ป.ส. ทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จะมีคะแนนนำ 35% ต่อ 30% นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ถึงการเปรียบเทียบ การตัดแต้มกันเองระหว่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร.ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นไปได้ว่า จะมีการตัดคะแนนกับผู้สมัครทั้ง 2 ฝ่าย
 

"กรณ์"ยังแบ่งรับแบ่งสู้ลงผู้ว่าฯ

              ส่วนกระบวนการต่อจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกจะนำผลสรุปการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครทั้งหมด มาหารือต่อและน่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ ก่อนจะนำรายชื่อเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค และประกาศหลังวันที่ 10 มกราคม 2556 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ส่วนกรณีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่มีชื่อของนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะลงชิงผู้ว่าฯ กทม.นั้น ขณะนี้พรรคยังไม่มีการตัดชื่อออกและนายกรณ์ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ที่จะลงสมัคร

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ