Lifestyle

'กล้วยตากนิตยา'รุกตลาดอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'กล้วยตากนิตยา' รุกปรับสินค้า ขยายตลาดทั่วไทย-อาเซียน : โดย...วรัทยา ไชยลังกา

                          "กล้วยตาก" เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของ จ.พิษณุโลก มายาวนาน ปัจจุบันได้พัฒนาคุณภาพ กระบวนการผลิต และบรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่ง "เจนวิทย์ จันทรา" เจ้าของผลิตภัณฑ์ "กล้วยตากนิตยา" ก็ได้ยกระดับสินค้าให้มีมาตรฐานในระดับสากล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีทางเลือกมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการปรับตัวเตรียมพร้อมการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558

                          "เจนวิทย์" เล่าว่า กล้วยตากนิตยา เป็นกิจการที่ทำมาตั้งแต่ต้นตระกูล เดิมเป็นการทำกล้วยตากแบบพื้นฐานทั่วไป กลุ่มลูกค้าเป็นคนในพื้นที่ แต่เมื่อจำหน่ายไปได้ระยะหนึ่งพบว่าลูกค้าเพิ่มขึ้น จึงขยายกิจการและทำระบบมาตรฐานการตากกล้วยในโดม โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และเป็นระบบปิด มีการคัดเลือกพันธุ์กล้วยที่มีคุณภาพ เหมาะแก่การทำกล้วยตาก การดูแลเอาใส่ใจเพื่อให้ได้กล้วยตากที่มีคุณภาพ บวกกับการปรุงรสชาติที่หวานพอดีและสะอาดถูกสุขอนามัย ทำให้เป็นที่นิยมของตลาดมากขึ้น

                          ผลิตภัณฑ์มีกล้วยตากอบน้ำผึ้ง 60% และกล้วยน้ำว้าอบแห้ง 40% แต่ละปีมียอดขายสูงสุดช่วงเดือนเมษายน, เดือนตุลาคม-มกราคม โดยจำหน่ายตลาดในประเทศเป็นหลัก แต่การตอบรับจากลูกค้าดี จึงเริ่มหาช่องทางจัดจำหน่ายในต่างประเทศ โดยเริ่มพัฒนามาตรฐานการผลิตที่ใช้ระบบจีเอ็มพี (GMP) และเอชเอซีซีพี (HACCP) เพื่อเป็นแนวทางประกันคุณภาพสินค้า และยกระดับมาตรฐานการผลิต

                          ขั้นตอนการผลิตมีการใช้โดมตากกล้วย มีเครื่องจักรช่วยบางขั้นตอน มีการควบคุมคุณภาพ แต่ยังไม่มีการเก็บข้อมูลปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ผลิต ความสูญเสีย และต้นทุนการผลิต จึงสมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค (OPOAI) กระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2555 ตามนโยบาย 1 Province 1 Agro-Industrial Product ด้านการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน

                          โดยเข้ารับการอบรมและศึกษาข้อมูล พบว่า สถานประกอบการต้องมีการปรับแก้ไขปัญหาคือ การสูญเสียของกล้วยในกระบวนการบ่มสุก ซึ่งพบว่าเปอร์เซ็นต์กล้วยเสียหายจากการบ่มคิดเป็นร้อยละ 10 สาเหตุเกิดจากกล้วยที่รับเข้ามามีตำหนิ ทั้งจากการขนถ่าย หรือกล้วยที่รับเข้าเป็นกล้วยอ่อน ที่ยังไม่ถึงอายุการเก็บ

                          ดังนั้น จึงมีการคัดแยกกล้วยอ่อน และกล้วยที่มีตำหนิออก ขณะที่คว่ำกล้วยบ่ม หากมีกล้วยตำหนิมากกว่า 10% ต้องแจ้งให้ผู้ขายทราบทันที นอกจากนี้มีการตรวจสอบและทำความสะอาดอุปกรณ์ก่อนการบ่ม เพื่อลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ และเป็นพื้นฐานในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานจีเอ็มพี ภายหลังการปรับปรุงลดการสูญเสียของกล้วยในกระบวนการบ่มสุกเหลือเพียงร้อยละ 2.5 จากเดิมร้อยละ 10 สามารถลดต้นทุนคิดเป็นมูลค่าปีละกว่า 240,975 บาท

                          ส่วนการปรับปรุงงานปัญหาเรื่องการสูญเสียจากการตากกล้วยไม่ได้คุณภาพ พบว่า ปริมาณของกล้วยตากที่ไม่ได้คุณภาพ เช่น เกิดสีน้ำตาลไหม้ ลักษณะผิดรูป มีตำหนิอื่น คิดเป็นร้อยละ 35 สาเหตุเกิดจากอุณหภูมิสูงมากทำให้กล้วยคล้ำ จึงปรับเปลี่ยนแล้วนำหลักการตากกล้วยด้วยตู้อบลมร้อนมาใช้

                          "ได้ออกแบบผังการตากกล้วย จุดวางพัดลมเพื่อให้อัตราการไหลของลมร้อนทั่วถึง คัดแยกกล้วยที่มีตำหนิ ตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์การตากเน้นความสะอาด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ฯลฯ ภายหลังการปรับปรุงพบว่าลดการสูญเสียกล้วยตากที่ไม่ได้คุณภาพจากเดิมร้อยละ 35  เหลือร้อยละ 21 คิดเป็นมูลค่าปีละ 448,894 บาท" เจนวิทย์ กล่าว

                          เจนวิทย์ กล่าวอีกว่า จากการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางานดังกล่าวสามารถลดต้นทุนและการสูญเสียของสถานประกอบการลงได้ปีละ 6.8 แสนบาท หรือกว่าร้อยละ 48 แม้กิจกรรมจะบรรลุเป้าหมาย แต่ก็ยังกระตุ้นพนักงานให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการแข่งขันต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์กล้วยตาก ติดต่อไปได้ที่ 08-1619-9691

 

 

--------------------

('กล้วยตากนิตยา' รุกปรับสินค้า ขยายตลาดทั่วไทย-อาเซียน : โดย...วรัทยา ไชยลังกา)

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ