ข่าว

ล้อมคอก'ถังส้วมมีชีวิต'ในแดนภารต(2)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นอกบ้านผ่านเมือง : ล้อมคอก 'ถังส้วมมีชีวิต' ในแดนภารต (2) : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

                          ไม่ต้องสงสัยแม้แต่น้อยว่าคำสั่งพิลึกๆ ของคณะกรรมการหมู่บ้านซันเดอร์บารี ชุมชนชาวมุสลิมทางเมืองปัตนะที่ห้ามผู้หญิงทุกวัยทั้งที่ยังเป็นสาวโสดหรือแต่งงานแล้วใช้โทรศัพท์มือถือเด็ดขาด ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชุมชนมุสลิมหลายชุมชนด้วยกัน อาทิ ที่ตำบลมุสซาร์ฟานากาซึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว มีหนุ่มสาวแอบหนีตามกันถึง 34 คู่ แต่มี 8 คู่เคราะห์ร้ายถูกจับได้และถูกฆ่าด้วยการตัดหัวเสียบประจานเพื่อรักษาเกียรติยศของครอบครัว

                          เรียกได้ว่า "ความผิดไม่ได้อยู่ที่หยก แต่อยู่ที่ผู้ครอบครองหยก" ต่างหาก

                          ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกลุ่ม "ดิชช่า" ซึ่งเป็นกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรีอินเดีย จึงพากันประท้วงและประนามกฎประหลาดล้าหลังและหลงยุคของคณะกรรมการหมู่บ้านแห่งนี้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิสตรี และเป็นการคุกคามสังคมประชาธิปไตย เนื่องจากการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถือว่ามีความจำเป็นสำหรับผู้หญิงในชนบท ช่วยให้เด็ก ๆ มีงานทำ ที่สำคัญ คนๆ หนึ่งไม่ควรถูกกีดกันไม่ให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวด้วยเหตุผลในเรื่องเพศเพียงอย่างเดียว

                          จะว่าไปแล้ว กฎประหลาดนี้เท่ากับตอกย้ำถึงอคติในเรื่องเพศสภาพที่ยังตกผลึกฝังแน่นอยู่ในสังคมแดนภารต โดยเฉพาะในเขตชนบทห่างไกล ก่อนหน้านี้ วิทยาลัยสตรีอาดาร์ช ในรัฐหรยาณา ทางเหนือของประเทศและอยู่ห่างจากกรุงนิวเดลีไปทางตะวันตกราว 110 กิโลเมตร ซึ่งคงจะภูมิใจในประวัติศาสตร์ของที่นี่เพราะเป็นที่ตั้งของทุ่งกุรุเกษตรในมหาภารตะยุทธ จึงได้ออกกฎเหล็กห้ามนักศึกษานุ่งกางเกงยีน สวมกระโปรงสั้น และเสื้อยืด ใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษด้วยการปรับเป็นเงิน 100 รูปีในแต่ละครั้ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยสตรีแห่งนี้อ้างว่าคำสั่งนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศอันเนื่องจากการแต่งกายที่ยั่วยุของตะวันตก

                          อย่างไรก็ดี นักศึกษาหญิงที่วิทยาลัยสตรีแห่งนี้ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 16-19 ปี โอดครวญว่าพวกเธอถูกลงโทษอย่างอยุติธรรมยิ่ง เพราะข้อห้ามสวมกางเกงยีน และเสื้อยืดไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีอาชญากรรมเกิดขึ้น หรือเป็นหลักประกันว่าแม้นักศึกษาหญิงจะยอมนุ่งส่าหรีแล้ว พวกเธอจะรอดพ้นจากการถูกผู้ชายพูดจาแทะโลมหรือพูดจาสัปดนลามก ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการรังควานทางเพศ

                          ขณะที่ผู้นำคณะกรรมการสตรีแห่งชาติย้ำว่าการล่วงละเมิดทางเพศในอินเดียนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการบังคับให้เด็กสาวนุ่งส่าหรี หรืออย่างล่าสุดก็คือการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ถูกจุด

 

 

--------------------

(นอกบ้านผ่านเมือง : ล้อมคอก 'ถังส้วมมีชีวิต' ในแดนภารต (2) : โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์)

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ