ข่าว

'แอสเพอร์เกอร์'จิตประสาท...สังหารหมู่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'แอสเพอร์เกอร์' จิตประสาท...สังหารหมู่ : โต๊ะรายงานพิเศษ

               โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในโรงเรียนประถมแซนดี้ ฮุก เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนคทิคัต สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามาแถลงข่าวแสดงความเสียใจด้วยน้ำตา พร้อมสัญญาว่า จะต้องมีการขุดคุ้ยสืบสวนคดีวัยรุ่นกระหน่ำยิงเด็กประถมและผู้ใหญ่ตาย 27 คนให้ถึงที่สุด

               เอฟบีไอและสื่อมวลชนในรัฐคอนเนคทิคัตต่างวิ่งวุ่นเสาะหาประวัติข้อมูลมือปืนอย่างเร่งด่วน โดยหนึ่งในข้อมูลที่ได้คือ นายอดัม แลนซา มือปืนวัย 20 ปี ผู้ก่อเหตุนั้น ป่วยเป็นโรค “แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม”?!!

               พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้ใน “เว็บไซด์คลินิกเด็กดอทคอม” ว่า โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) คือ กลุ่มอาการที่ระบบประสาททำงานผิดปกติ จัดอยู่ในโรคกลุ่มออทิสติก ที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมแปลกๆ แต่ละคนเป็นมากน้อยต่างกัน ส่วนใหญ่ดูเหมือนคนปกติทั่วไป แต่จะมีปัญหาด้านการพูด ปัญหาด้านการใช้ภาษาและปัญหาในการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น มีลักษณะย้ำคิดย้ำทำ เป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีตรวจหาอย่างเฉพาะเจาะจง แพทย์ต้องพิจารณาจากทักษะและพฤติกรรมตั้งแต่เด็ก ทำให้โรคนี้มีความยากลำบากในการวินิจฉัยรักษา คาดว่าในสหรัฐอเมริกามีอย่างน้อย 4 แสนครอบครัว ที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งมีอาการแอสเพอร์เกอร์

               ย้อนอดีตไป 60 ปีที่แล้ว นพ.ฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ หมอคนแรกที่รายงานการค้นพบผู้ป่วยแอสเพอร์เกอร์ คนไข้ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชายเฉลียวฉลาด มีสติปัญญาปกติ แต่พบปัญหาพัฒนาการด้านใช้ภาษาและการสื่อสารกับผู้คนในสังคม ไม่รู้จะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างไร เด็กที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการตั้งแต่ 3 ขวบ แต่จะเด่นชัดเมื่อเข้าสู่วัย 5-9 ขวบ เช่น มีนิสัยย้ำคิด ย้ำทำ ขี้รำคาญ หงุดหงิดกับเรื่องที่คนทั่วไปสังเกตไม่เห็น เช่น แสงไฟเล็กๆ บนเพดาน หรือชอบใส่เสื้อผ้าแบบเดิมๆ

               “แอสเพอร์เกอร์” แตกต่างจาก ”ออทิสติก” ผู้ป่วยแอสเพอร์เกอร์ช่วงเป็นเด็กพูดได้ค่อนข้างดีเป็นปกติ แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะเริ่มมีปัญหาในการใช้ภาษาหรือสมาธิสั้น แต่สามารถช่วยตัวเองได้เหมือนคนปกติ โดยรวมมีระดับสติปัญญาปกติ หรืออาจจะดีกว่าปกติด้วย ปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าโรคนี้เกิดจากอะไร อาจมีสาเหตุหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม สมองทำงานผิดปกติ ฯลฯ เพราะผู้ป่วยบางคนมีอาการของโรคทางจิตประสาทร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า ฯลฯ

               นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้เชี่ยวชาญจากเว็บไซด์แฮปปี้โฮมคลินิกดอทคอม อธิบายว่า เด็กที่มีอาการแอสเพอร์เกอร์ส่วนใหญ่การเรียนหนังสือจะปกติ แต่มักมีปัญหาเรื่องเพื่อน เช่น เล่นกับเพื่อนไม่เป็น เล่นแรงไปบ้าง เล่นไม่เหมาะสมบ้าง ไม่เล่นตามกติกา จึงมักถูกปฏิเสธไม่ให้เข้ากลุ่มทำให้เกิดปัญหาตามมา เมื่อเพื่อนไม่เล่นด้วย พวกเขาจะหาวิธีการเล่นที่แหวกแนวยิ่งขึ้น บางครั้งอาจรบกวนคนอื่นหรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน จนกลายเป็นปัญหารุนแรง

               จากการศึกษาด้านระบาดวิทยา พบว่า มีความชุกของโรคประมาณ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน สำหรับการรักษาผู้มีอาการแอสเพอร์เกอร์นั้น ต้องเน้นการดูแลฝึกฝนทักษะทางสังคมและบุคลิกภาพอย่างต่อเนื่อง หากได้เรียนหนังสือหรือทำงานในสถานที่หรือสังคมที่ยอมรับตัวเขาได้ พวกนี้จะมีความสามารถสูง โดยเฉพาะในเรื่องที่เขาสนใจ เขารู้จริงและรู้ลึกมากกว่าคนอื่นๆ

               พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต บอกว่า ความรุนแรงของคนที่เป็นโรคนี้จะมีความก้าวร้าว คนใกล้ชิดต้องสังเกตอาการว่ามีความก้าวร้าวเกิดขึ้นมากหรือไม่ ซึ่งเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะตามมา ยิ่งเข้าถึงอาวุธและนำมาใช้ได้ง่ายก็เป็นส่วนทำให้เกิดความรุนแรง

               "การก่อเหตุของคนเหล่านี้จะมีสัญญาณเกิดขึ้นก่อน เช่น มีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในเรื่องการจัดการอารมณ์ที่ก้าวร้าว หมกหมุ่นกับความรุนแรง หรือขาดทักษะและการปรับตัวในสังคม คนใกล้ชิดไม่ได้สนใจ ไม่รู้เท่าทัน ก็นำไปสู่การก่อเหตุได้ เป็นหนึ่งในภาวะออทิสติก และเป็นคนที่มีสติปัญญาดี ถ้าดูแลกันอย่างใกล้ชิด จัดการกับความก้าวร้าวรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งระวังไม่ให้มีอะไรไปกระตุ้นมากๆ ก็จะจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้" พญ.อัมพรกล่าว

               นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต อธิบายว่า มีการเกิดลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมองว่าเพราะอาวุธปืนค่อนข้างหาง่าย และตกอยู่ในมือของคนที่ขาดวุฒิภาวะมากจนเกิดไป ไม่ใช่เฉพาะคนที่เป็นโรคนี้อย่างเดียว ถ้าอาวุธอยู่ในมือใครก็อันตรายทั้งนั้น การแก้ไขต้นเหตุคือ การควบคุมอาวุธไม่ให้หาง่ายและตกไปอยู่ในมือคนที่ควบคุมไม่ได้ และไม่ได้รับการฝึกมา ในประเทศไทยควรระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาวุธปืนค่อนข้างจะหาง่าย

               "ความเสี่ยงของคนที่เป็นโรคนี้ ที่จะไปทำร้ายคนอื่นมีน้อยมาก ส่วนมากมักโดนคนอื่นทำร้ายด้วย ตามลักษณะโรคนี้ไม่ใช่โรคทำให้เป็นคนก้าวร้าว แต่ความก้าวร้าวของคนเป็นโรคนี้มีการป่วยซ้ำซ้อนกับโรคอื่น หรือมีการสั่งสอนที่ผิดๆ มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งพ่อแม่ควรจะสอนให้เขาคิดบวก ไม่สอนให้ใช้ความรุนแรง หมั่นเอาใจใส่ อาการรุนแรงเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แนะนำ


2 อัจฉริยะ..ป่วยแอสเพอร์เกอร์

               เมื่อปี 2548 สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยชื่อดัง เคมบริดจ์ (Autism Research Centre) ตีพิมพ์รายงานว่า “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” และ “เซอร์ไอแซค นิวตัน” 2 อัจฉริยะโลก อาจป่วยเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ด้วย เนื่องจาก "ไอน์สไตน์" ตอนเด็กค่อนข้างโดดเดี่ยว มีอาการพูดซ้ำๆ แต่อาการนี้ดีเมื่ออายุได้ 7 ขวบ แต่ยังสื่อภาษาสับสนเข้าใจยาก โดยเฉพาะการบรรยายในมหาวิทยาลัย ส่วน "นิวตัน" นั้น มีลักษณะหมกมุ่นกับงานมาก มีเพื่อนน้อย ไม่ค่อยพูดคุยกับใคร มีอาการประสาทและหวาดระแวงช่วงบั้นปลายชีวิต ขณะที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับงานวิจัยนี้ โดยแย้งว่า คนเป็นอัจฉริยะมักจะทำเรื่องยากๆ เมื่อคนฟังไม่รู้เรื่องจะโจมตีว่าพูดไม่เข้าใจ ส่วนนิวตันนั้น เมื่อฉลาดมากก็ไม่อยากพูดกับคนโง่ เพราะเสียเวลา!!

...................

(หมายเหตุ :'แอสเพอร์เกอร์' จิตประสาท...สังหารหมู่ : โต๊ะรายงานพิเศษ)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ