พระเครื่อง

มองโนเบลเห็นมหาจุฬาฯผุดหลักสูตรสันติภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มองโนเบลเห็นมหาจุฬาฯ: นกตะวันตกคาบช่อมะกอก นกตะวันออกคาบดอกบัว : บทความโดยพระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)

                รางวัลโนเบลเป็นความตั้งใจก่อนเสียชีวิตของ อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) นักเคมีชาวสวีเดน ผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ ซึ่งรู้สึกเสียใจจากการที่ระเบิดของเขาถูกนำไปใช้ในการคร่าชีวิตมนุษย์ และนั่น จึงเป็นที่มาของแรงบันดานใจสำคัญในการมอบ ๙๔% ของทรัพย์สินมาให้เป็นเงินทุนในรางวัลโนเบล ๕ สาขา ซึ่งหนึ่งในสาขาเหล่านั้น คือ "สาขาสันติภาพ" จะเห็นว่าหลายครั้งที่การสูญเสียได้กลายตัวแปรสำคัญที่ทำให้มนุษย์เห็นคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และสิ่งที่อัลเฟรดเห็น คือ "สันติภาพ"

                ในขณะที่ปีนี้ "สหภาพยุโรป" ได้รับการประกาศยกย่องให้รับรางวัล "โนเบลสาขาสันติภาพ" โดยคณะกรรมการตัดสินให้เหตุผลว่า แม้ปัจจุบันสหภาพยุโรปกำลังประสบภาวะยากลำบากด้านเศรษฐกิจภายใน รวมถึงปัญหาความไม่สงบด้านสังคม แต่สิ่งที่โดดเด่นอย่างยิ่งคือ บทบาทในการส่งเสริมสันติภาพและความปรองดอง รวมถึงการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยความมีเสถียรภาพของการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรปได้ช่วยแปรเปลี่ยนยุโรปจากภูมิภาคที่เต็มไปด้วยสงคราม เป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพ

                และในขณะที่ปีนี้ มหาจุฬาฯ เปิดโครงการหลักสูตรสันติศึกษา ได้เพียรพยายามที่จะนำลมหายใจของสันติภาพของ "พระพุทธเจ้า" ที่ผ่านการซึมซับ ศึกษา และ เรียนรู้ อีกทั้งประสบการณ์ของนักคิด และนักปฏิบัติการทั้งไทย และต่างประเทศมานำเสนอภายใต้กรอบ "พุทธสันติวิธี" เพื่อเปิดพื้นที่ให้ให้มนุษยชาติที่เผชิญหน้ากับความสูญเสียอันเนื่องมาจากความขัดแย้งและความรุนแรงในมิติต่างๆ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแบ่งปัน "ลมหายใจแห่งสันติภาพ" อันจะนำไปสู่การปลุก และฟื้นฟูพลังแห่งสันติภาพที่เลือนหายไปให้กลับมามีชีวิตชีวา และเบ่งบานงอกงามในโลกนี้ต่อไปตราบนานเท่านาน

                มหาจุฬาฯ เห็นอะไร จึงนำมาสู่การผลักดันให้ มจร ไปสู่การผลักดันให้เกิดหลักสูตร ในขณะที่โลกและสังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง กลุ่มคน และองค์กรมากมากมายในสังคมไทย และสังคมโลกเพียรพยายามที่จะแสวงหาหลักการและเครื่องมือเพื่อไขไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ มหาจุฬาฯถือเป็นหนึ่งในองค์กรเหล่านั้น

                การถอดบทเรียนทั้งหลักการ อุดมการณ์ วิธีการและเครื่องมือสำหรับสร้างสันติภาพในพระพุทธศาสนาไปสู่การบูรณาการกับเครื่องมือใหม่ๆ จนกลายเป็น "พุทธสันติวิธี" จึงเป็นภารกิจสำคัญที่มหาจุฬาฯ ภายใต้โครงการหลักสูตรสันติศึกษากำลังมุ่งมั่นที่จะดำเนินการ เพื่อเป็นทางเลือกของสังคมในการที่จะ "ร่วมสร้างสรรค์จรรโลงสันติภาพให้งอกเลย และผลิดดอกออกผลเจริญงอกงามบนโลกใบนี้" โดยการฝึกฝนและพัฒนานักสันติวิธีไปร่วมสร้างสันติภาพในพื้นที่ต่างๆ สอดรับกับปฐมบรมพุทธปณิธานที่ว่า "เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไป เพื่อเกื้อกูน เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อความสุข แก่ชาวโลก"

                "นกสันติภาพตะวันตกคาบช่อมะกอก นกสันติภาพตะวันออกคาบดอกบัว" ช่อมะกอกเป็ญสัญลักษณ์ของสันติภาพสากลที่สะท้อนภาพลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความสงบ ความสามัคคีของชาวกรีกโบราณ ที่แสดงตัวผ่านกีฬาโอลิมปิคและองค์การสหประชาชาติ อีกทั้งองค์กรการสันติภาพต่างๆ ได้นำไปเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ และความสามัคคีของมนุษยชาติทั่วไป

                ในขณะที่โครงการสันติศึกษา มหาจุฬาฯ พยายามจะสื่อให้เห็นถึงแง่มุมในการสร้างทางเลือกการสร้างสันติภาพในโลกตะวันออก โดยการนำ "ดอกบัว" มาเป็นสัญลักษณ์ เพราะดอกบัวคือสัญลักษณ์ของการ "รู้ ตื่น และเบิกบาน" เพราะบ่งบอกถึงสภาพของใจที่เปี่ยมล้นด้วยพลังของสันติภาพ ไม่ตกเป็นทาสของความโกรธ เกลียด เคียดแค้น และชิงชังเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

                จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นช่อมะกอกหรือดอกบัว หัวใจสำคัญ คือ "สันติภาพ" ที่อุดมไปด้วยพลังของความรัก ความบริสุทธิ์ ความความสงบ ความสามัคคี ความรู้ ตื่น และเบิกบาน" ที่มวลมนุษยชาติจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัวเอง ชุมชน สังคม และโลกของเรา การพัฒนาสันติภาพให้เกิดขึ้น จึงไม่ได้จบอยู่ที่ตัวตนของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น หากแต่หมายถึงความอยู่รอดของมนุษยชาติทุกหมู่เหล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ