Lifestyle

นกหัวขวานใหญ่สีเทา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นกหัวขวานใหญ่สีเทา : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว

              ปัจจัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของนกป่านอกเหนือไปจากการถูกจับมาขายป้อนธุรกิจสัตว์เลี้ยง คือการสูญเสียถิ่นอาศัย ลำพังการตัดไม้ทำลายป่าเพียงเหตุผลเดียวก็สามารถทำให้นกบางชนิดสูญพันธุ์ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนของนกป่าที่ต้องสูญไปตลอดกาลอันเป็นผลจากการตัดไม้คือนกหัวขวานที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Imperial Woodpecker และ American Ivory-billed Woodpecker ทั้งสองชนิดหายไปอย่างไร้ร่องรอยไม่ต่ำกว่า 50 ปีในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ชั่วอายุคน

             สถานการณ์เดียวกันนี้กำลังเกิดขึ้นกับ นกหัวขวานใหญ่สีเทา (Great Slaty Woodpecker) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นกหัวขวานใหญ่สีเทามีขนาดตัวเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสองชนิดที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้น แต่ปัจจุบันขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในปี 2010 สถานภาพของนกหัวขวานใหญ่สีเทาก็ถูกยกขึ้นมาจากชนิดพันธุ์ที่ไม่มีความเสี่ยง (Least Concern) ข้ามมาเป็นชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ในบัญชีรายชื่อสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ในประเทศจีนและสิงคโปร์ก็ไม่มีการพบเห็นมันมานานแล้ว

            นกหัวขวานใหญ่สีเทามีขนาดตัวไล่เลี่ยกับอีกา มันมีลำตัวสีเทาอมฟ้าทั่วทั้งตัวสมชื่อ คอผอมยาว ใต้คอสีเหลือง และมีปากที่ยาวแหลมแข็งแรง เพศผู้มีแถบเคราสีแดงอมชมพู ชนิดย่อยหลัก (Pulverulentus) พบได้เฉพาะทางภาคใต้ และมีสีเข้มกว่าชนิดย่อย Harterti ที่พบในภาคอื่นๆ มันอาศัยอยู่ในป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าพรุ และป่าชายเลนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ยังคงพบได้บ่อยในพื้นที่อนุรักษ์ที่ไม่ถูกคุกคาม

            แม้จะตัวใหญ่แต่นกหัวขวานชนิดนี้ก็ว่องไวอย่างไม่น่าเชื่อ มันมีนิสัยขี้อายและระแวดระวังภัยมาก เรามักได้ยินเสียงร้องดังโวยวายของฝูงนกหัวขวานชนิดนี้ก่อนเห็นตัว อาจเป็นเสียงร้องของมันนี่เองที่ดึงดูดนกหัวขวานอื่นๆ ให้มาหากินด้วยกัน และมันเองก็ถูกเลียนเสียงโดย นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ (Greater Racket-tailed Drongo) อยู่บ่อยๆ ในครอบครัวหนึ่งๆจะมีผู้ช่วยเลี้ยงลูก (Helper) คอยช่วยพ่อแม่นกด้วย

            ความสำคัญของนกหัวขวานใหญ่สีเทาในระบบนิเวศนับว่ามหาศาล นอกจากมันจะต้องการไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เพื่อหากินและเจาะโพรงแล้ว ต้นไม้เหล่านี้ยังต้องการมันเพื่อช่วยกำจัดตัวอ่อนด้วงที่เจาะกินเนื้อไม้ ยิ่งไปกว่านั้น นกและสัตว์ชนิดอื่นๆ ยังสามารถใช้โพรงเก่าของมันทำรังหรือเป็นที่หลบซ่อนได้อีกด้วย

....................................
(นกหัวขวานใหญ่สีเทา : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ