ข่าว

ฐานันดร5+:'ปรากฏการณ์นักข่าวพลเมือง'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ : ฐานันดร 5+ จากสื่อกระแสหลัก ถึงนักข่าวพลเมือง ตอนที่ 2 'ปรากฏการณ์นักข่าวพลเมือง' โดย กองบรรณาธิการ 'คม ชัด ลึก ออนไลน์'

          การอุบัติขึ้นของ “นักข่าวพลเมือง” ไม่ได้จู่ ๆ ก็มีขึ้น หากแต่มีขึ้น โดยมีนัยที่ซ้อนทับกับปรากฏการณ์ทางสังคม

          ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในทุกสังคม มีการผูกขาดสถานะ ในการทำหน้าที่ส่งข้อมูลข่าวสาร

          “สื่อมวลชน” ถูกนิยามให้มีภาระหน้าที่ ในการสะท้อนและนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ภายใต้ความคาดหวังของสังคม

          ว่ากันว่า วุฒิภาวะของสังคม ดูได้จากวุฒิภาวะของสื่อฯ

          นี่เพราะสื่อฯก็เลือกที่จะตอบสนองต่อความต้องการของสังคม โดยตอบสนองเฉพาะสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ต้องการ

          ภายใต้ความคาดหวังว่า สังคมส่วนใหญ่จะตอบรับกลับมา สำหรับสื่อฯนั้น ๆ เช่นกัน

          แน่นอนว่า ความหมายของสังคมส่วนใหญ่ เป็นความหมายส่วนหนึ่ง

          และความหมายที่ว่านี้ ก็นำมาซึ่งความหมาย ของคำว่า “กระแสหลัก”

          ซึ่งในความเป็นจริง “กระแสหลัก” ยังไม่ได้แปลว่า จะใช่สิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ ต้องการอย่างแท้จริง

          แต่ที่มากกว่านั้นก็คือ สื่อกระแสหลัก ยังไม่สามารถครอบคลุมในทุกพื้นที่ ในทุกเหตุการณ์ และในทุกสถานการณ์ความเคลื่อนไหว

          และโดยเฉพาะยังไม่สามารถสนองตอบ ต่อความต้องการบริโภคข่าวสาร ได้อย่างทันท่วงที ในทันทีที่เกิดเหตุหนึ่ง ๆ ขึ้น ในพื้นที่หนึ่ง ๆ ซึ่งควรต้องได้รับการรายงานอย่างรวดเร็ว

          สื่อมืออาชีพที่ยังมาไม่ถึง ย่อมไม่เทียบเท่าสื่อสมัครเล่น ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง !

          โดยเฉพาะในภาวะที่เครื่องไม้เครื่องมือในการสื่อข่าว มีครบถ้วนและพร้อมใช้ ภายใต้เทคโนโลยีที่ก้าวไกลในยุคปัจจุบัน

          แต่ที่มีมากกว่านั้นก็คือ “พื้นที่ข่าว” ในการ “นำเสนอข่าว”

          ผ่านตัวเชื่อมอย่าง “อินเตอร์เน็ต”

          โดยเครือข่ายสังคม “โซเชียลเน็ตเวิร์ค” กับเครื่องมือสื่อสารของสังคม อย่าง “โซเชียลมีเดีย” ในทุกรูปแบบของยุคสมัยปัจจุบัน

          ปรากฏการณ์ของ “นักข่าวพลเมือง” ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้อีกแล้ว ในโลกยุคปัจจุบัน

          ไม่เพียงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้น ยังท้าทายต่อภาวะความเป็นสื่อกระแสหลักอย่างยิ่ง และในหลายกรณี ยังคล้ายกับล้ำหน้าไปเสียด้วยซ้ำ

          กรณีการเสียชีวิตของนักร้องชื่อดัง "วิทนีย์ ฮุสตัน” (Whitney Houston) อาจเป็นรูปธรรมหนึ่ง

          มีรายงานระบุว่า 27 นาที ก่อนที่สื่อมวลชน จะรายงานข่าวการเสียชีวิตของ "วิทนีย์”

          “ชุมชนออนไลน์” ได้รับทราบข่าวก่อนแล้ว ผ่านทาง “ทวิตเตอร์” (Twiiter)

          mashable.com รายงานข้อมูลจากบริษัทวิจัย Topsy Labs ระบุว่า สำนักข่าวเอพี (Associated Press) ได้เริ่มส่งข้อความตั้งแต่ 4:57 p.m. PT หรือ 16.57 น. ตามเวลาแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา

          ขณะที่ข้อความทวีตแรก ซึ่งรายงานการเสียชีวิตของ “วิทนีย์” ถูกส่งในเวลา 4:30 p.m. PT จากชายที่ใช้ชื่อว่า @chilemasgrande

          "My sources say Whitney Houston found dead in Beverly hills hotel.. Not in the news yet!!"

          แต่นี่ยังไม่ยุติ เพราะมีผู้อ่านของ Mashable ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์ นาม @AjaDiorNavy ได้ทวีตข้อความก่อนหน้านั้น ถึง 15 นาที ซึ่งจะเท่ากับว่า ข่าวสารบนทวิตเตอร์ เร็วกว่าสื่อทั่วไปถึง 42 นาที

          "omgg , my aunt tiffany who work for whitney houston just found whitney houston dead in the tub . such ashame & sad :-( "

          นี่เป็นรูปธรรมหนึ่ง ที่บ่งชี้ถึงปรากฏการณ์ “นักข่าวพลเมือง”

          ไม่ว่าจะอย่างไร นี่ก็เป็นการ “แจ้งข่าว” ในลักษณะของการ “รายงานข่าว” จากพื้นที่จริง

          และกรณีการแจ้งข่าวในลักษณะที่ว่านี้ ก็ไม่ได้จำกัดเพียงแค่แวดวงใดแวดวงหนึ่ง

          ตรงกันข้าม ลักษณะของ “นักข่าวพลเมือง” ได้แพร่สะพัดอย่างกว้างขวาง ผ่านการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จากพื้นที่อย่างรวดเร็วและทันท่วงที

          ไม่เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ในพื้นที่โลกอันกว้างใหญ่เวลานี้

          หากแต่เป็นทุกพื้นที่ ในโลกอันกว้างใหญ่ ที่ถูกเชื่อมให้ถึงกันด้วย “อินเตอร์เน็ต” และเครือข่ายสังคม “โซเชียลเน็ตเวิร์ค” โดยผ่านกลไกของ “โซเชียลมีเดีย” ในทุกรูปแบบ

          และไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ของสังคมไทย

          กล่าวเฉพาะสังคมไทย “นักข่าวพลเมือง” เกิดขึ้นแล้วในหลายครั้ง

          อาจไม่ต้องย้อนไปไกลนัก เอาเฉพาะแค่ปรากฏการณ์ล่าสุด กับ "มหาอุทกภัย" สำหรับประเทศไทย ในปี 2554 ก็อาจเห็นภาพได้ชัดแจ้ง

          "มหาอุทกภัย" ปี 2554 "สื่อกระแสหลัก" ดำเนินการ "สื่อสารทางเดียว" เพื่อรายงานสถานการณ์

          ทว่า ! เครือข่าย "โซเชียลเน็ตเวิร์ค" ผ่าน "โซเชียลมีเดีย" ในหลายรูปแบบ กลับแสดงพลังในการ "สื่อสารสองทาง" อย่างมีประสิทธิภาพ

          ทั้งการแจ้งปรากฏการณ์ อันมีความเคลื่อนไหวผิดปกติ และส่อไปในทางไม่ชอบมาพากล

          ทั้งการรายงานสภาพการณ์ของ "อุทกภัย" ในทุกพื้นที่ ๆ ที่ประสบปัญหาอย่างหนัก

          ทั้งการนำเสนอ "ข้อมูล" ตลอดจน "ทางออก" และ "แนวทางแก้ปัญหา" ผ่านสื่อ "อินเตอร์เน็ต" ในรูปแบบของ "ข้อความ-ภาพนิ่ง-ภาพเคลื่อนไหว" อย่างกว้างขวาง

          และที่สำคัญที่สุด ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์การรวมตัว ในรูปแบบของ "จิตอาสา" เพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิผล

          "ข้อความ-ภาพนิ่ง-ภาพเคลื่อนไหว" ถูกนำเสนอโดย “นักข่าวพลเมือง” จำนวนมาก ผ่าน “โซเชียลมีเดีย” ทุกรูปแบบ

          และข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ ก็ถูกนำเสนออีกครั้งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสื่อกระแสหลัก

          นี่เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับอีกหลายกรณี

          เช่นว่า กรณีของการรายงานสถานการณ์เหตุเพลิงไหม้ ในหลายพื้นที่ทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด

          เช่นว่า กรณีการรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุ-อุบัติภัย ในหลายพื้นที่ทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด

          เช่นว่า กรณี “คลิปวีดีโอ” ที่ถูกส่งขึ้นผ่าน “โซเชียลมีเดีย” และถูกแชร์กันต่อ ๆ ผ่านเครือข่าย “โซเชียลเน็ตเวิร์ค” กระทั่งถูกนำเสนอเป็นข่าวอีกครั้งอย่างต่อเนื่อง ในสื่อกระแสหลัก

          ทั้งกรณี คลิป พระเกษม , คลิป ซี 7 บ้องหู , คลิป จ๊ะ คันหู หรือ คลิป ฯลฯ

          หรือกรณีที่หลายคนยังไม่ลืมเลือน กับ “หนุ่มเสื้อกั๊กส้ม” ที่ใช้ชื่อว่า @motorcyrubjang

          ที่โด่งดังชั่วข้ามคืน กับการส่งข้อความทวีต พร้อมภาพถ่ายช็อตเด็ด ชายชาวอิหร่าน ถูกระเบิดขาขาด หลังก่อเหตุบึมสนั่นกรุง ในวันแห่งความรัก 14 ก.พ.2555 ที่ผ่านมา

          @motorcyrubjang ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ประจำวิน ซ.ปรีดี พนมยงค์ 20

          แต่อีกสถานะหนึ่ง เขาคือ “เดชชาติ พวงเกษ” ที่เป็น “นักข่าวพลเมือง” ในชื่อ “ราศีไศล” รายงานความเคลื่อนไหวหลายเรื่องราว ในบล็อก “โอเคเนชั่น”

          เขาเริ่มต้นเรียนรู้ทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเทคโนโลยีทั้งหมด จากที่ไม่รู้อะไรเลยในเรื่องเหล่านี้

          เพื่อเป็น “บล็อกเกอร์” ใน “โอเคเนชั่น” และเพื่อเป็น “นักข่าวพลเมือง” ทำหน้าที่รายงานเรื่องราวของชาวราศีไศล จ.ศรีษะเกษ บ้านเกิดของเขา

          จาก “บล็อก” สู่ “เวบบอร์ด” สู่ “ทวิตเตอร์” และเครือข่าย “โซเชียลมีเดีย” อื่น ๆ

          จากไม่รู้อะไรเลย มาสู่การเป็นผู้เล่น ในเครือข่ายสังคม “โซเชียลเน็ตเวิร์ค” และผู้ใช้ “โซเชียลมีเดีย” ทั้งจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พื้นฐาน จนมาสู่โทรศัพท์ “สมาร์ทโฟน” ที่ตอบได้ทุกโจทย์ของตัวเอง

          และจากความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ ในสถานะของ “นักข่าวพลเมือง” ก็ประสบผลอย่างยิ่ง เมื่อเขาอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุบึมสนั่นกรุง ในวันแห่งความรัก และได้ทำหน้าที่รายงานได้อย่างทันท่วงที

          นี่เป็นรูปธรรมหนึ่งของ “นักข่าวพลเมือง”

          เช่นเดียวกับรูปธรรมของ “ไชโย สุวรรณ์” ประธานกลุ่มรักษ์เขากระโจม ที่ใช้สถานะนักเขียน ผ่านนามปากกา “บุหลัน รันตี”

          ทำหน้าที่ “อาสาสมัครพลเมือง” พร้อม ๆ กับทำหน้าที่ “นักข่าวพลเมือง”

          แจ้งข่าวสารความเคลื่อนไหว “วิกฤติการณ์ไฟไหม้ป่า” ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และภัยจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งหวังผลประโยชน์จากผืนป่า บริเวณเขาแหลม-เขากระโจม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

          “บุหลัน รันตี” ทำหน้าที่อาสาสมัครดับไฟป่า ในนามกลุ่มรักษ์เขากระโจม มากว่า 10 ปี

          กระทั่งมาถึงช่วงต้นเดือนมี.ค.2555 ที่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น และมีแนวโน้มว่า จะลุกลามจนเกินกำลังในการรับมือ จนต้องแจ้งข่าวขอความช่วยเหลือ ทั้งกำลังคน กำลังทุน และกำลังสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน

          ทั้งหมดนี้ ถูกแจ้งผ่าน “เฟซบุ๊ค” ส่วนตัว และถูกแชร์ต่อเป็นทอด ๆ ในเครือข่าย “โซเชียลเน็ตเวิร์ค”

          ผลจากการแจ้งข่าว ทำให้เกิดการระดมพล “จิตอาสา” ทั้งจากในพื้นที่ และเครือข่ายเฟซบุ๊ค

          ผลจากการแจ้งข่าว ทำให้หลายหน่วยงาน อาทิ กองกำลังทหารหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ , กองกำลังสุรสีห์ , ทหารจากกองพลพัฒนาที่ 1 , อส.สวนผึ้ง , อบต.สวนผึ้ง . หน่วยดับไฟป่าราชบุรี , อาสาดับไฟป่าจากหลายจังหวัด เข้ามาสนธิกำลังช่วยเหลือ

          ผลจากการแจ้งข่าว ทำให้มีการหลั่งไหลร่วมสมทบทั้งกำลังทุน สิ่งของ และ ฯลฯ เข้ามาไม่ขาดสาย

          และผลจากการแจ้งข่าว ในสถานะของ “นักข่าวพลเมือง” ก็ทำให้ข่าวสารที่ว่านี้ ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อกระแสหลักอีกครั้ง

          ที่สำคัญคือ นอกจากภารกิจดับไฟป่าแล้ว ยังทำให้มีการขยายประเด็นข่าว ในเชิงสืบสวนสอบสวนด้านลึก ทั้งในแง่ของการบุกรุกป่า ขบวนการตัดไม้เถื่อน การลอบวางเพลิง และประเด็นอื่น ๆ อีกมากมาย

          นี่เป็นอีกรูปธรรมหนึ่ง ของปรากฏการณ์ “นักข่าวพลเมือง”

          ซึ่งชัดเจนว่า ภารกิจนี้ ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ใคร หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงลำพังอีกแล้ว... 

................

(หมายเหตุ :  รายงานพิเศษ : ฐานันดร 5+ จากสื่อกระแสหลัก ถึงนักข่าวพลเมือง ตอนที่ 2 'ปรากฏการณ์นักข่าวพลเมือง' โดย กองบรรณาธิการ 'คม ชัด ลึก ออนไลน์'

ลิงก์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รายงานพิเศษ : ฐานันดร 5+ จากสื่อกระแสหลัก ถึงนักข่าวพลเมือง ตอนที่ 1 'We the Media' โดย กองบรรณาธิการ 'คม ชัด ลึก ออนไลน์'

http://www.komchadluek.net/detail/20120804/136856/ฐานันดร5+:WetheMedia.html

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ