ข่าว

คุก2ปี!'ธีรเดช'ฐานขึ้นเงินเดือนตัวเอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอาญา จำคุก 2 ปี 'ธีรเดช มีเพียร' ฐานออกระเบียบขึ้นเงินเดือนตัวเอง สมัยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ด้าน'นิคม' เผย 'ธีรเดช' พ้นตำแหน่งประธานวุฒิสภาทันที

             25 ก.ค.55 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 814 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก  ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีผู้ตรวจการแผ่นดินขึ้นเงินเดือนตัวเองในคดีหมายเลขดำ อ.4290/2552 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน, พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายปราโมทย์ โชติมงคล อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินและที่ปรึกษา   เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบ มาตรา 86

             คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า วันที่ 29 ก.ค.-30 ก.ย.47 นายพูลทรัพย์ จำเลยที่ 1 และ พล.อ.ธีรเดช จำเลยที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ร่วมกับ นายปราโมทย์ จำเลยที่ 3 เลขาธิการผู้ตรวจแผ่นดินฯ ขณะนั้น ซึ่งให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวก จำเลยที่ 1 - 2 กระทำผิด ในการจัดทำร่างระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการ และอนุกรรมการ และค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคล พ.ศ.2547 โดยจำเลยที่ 3 นำเอาร่างระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการ และค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคล พ.ศ.2547 ที่กำหนดค่าตอบแทนลักษณะเหมาจ่ายเดือนละ 20,000 บาทที่เป็นข้อกำหนดที่ออกโดยมิชอบมาอ้างอิงเป็นต้นแบบเพื่อออกร่างระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ดังกล่าว

             โดยวันที่ 30 ก.ค.47 จำเลยที่ 1-2 ให้ความเห็นชอบเพื่อออกระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และมีการประกาศใช้ระเบียบฯ โดยให้มีผลบังคับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.47 ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทนประจำเดือน ก.ค.-ก.ย.47 ให้จำเลยที่ 1-3 เดือนละ 20,000 บาท รวม 3 เดือน 60,000 บาท ทั้งที่พวกจำเลยไม่มีอำนาจโดยชอบที่จะให้ความเห็น ซึ่งการที่จะออกระเบียบจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ เป็นรายเดือนลักษณะเหมาจ่ายเป็นเงินเพิ่มพิเศษลักษณะควบกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งนั้น จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 253 และ พรบ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ.2542 มาตรา 5 บัญญัติไว้เท่านั้น โดยต้องผ่านกระบวนการจากคณะรัฐมนตรีเข้าสู่รัฐสภาเพื่อออกเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้ ภายหลังจำเลยทั้งสามกระทำผิดแล้ว ได้ส่งเงินคนละ 60,000 บาทคืนให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ปปช.) จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ    
       
             ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เงินค่าตอบแทนที่จำเลยที่ 1-2 ได้รับ แม้จะเรียกว่าค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่เหมาจ่ายรายเดือน แต่สาระสำคัญแห่งการได้เงินมามีลักษณะมั่นคงแน่นอนเป็นประจำทุกเดือน เนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่งานประจำตามปกติ เงินที่ว่านั้นจึงเป็นเงินเดือน การขึ้นเงินเดือนจึงต้องผ่านที่ประชุมรัฐสภาเพื่อออกเป็นกฎหมาย จำเลยที่ 1-2 จะออกระเบียบขึ้นเงินเดือนเองมิได้ และจะอ้างว่าการออกระเบียบนี้เป็นการบริหารและจัดการเงินและทรัพย์สินของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเช่นเดียวกับการออกระเบียบเรื่องเงินเบี้ยประชุมมิได้ เพราะสาระสำคัญและเงื่อนไขการได้เงินเบี้ยประชุมแตกต่างจากเงินที่เป็นปัญหานี้อย่างสิ้นเชิง ส่วนที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าขาดเจตนากระทำผิดโดยเชื่อสุจริตใจว่า สามารถออกระเบียบได้เพราะคัดลอกข้อความมาจากระเบียบศาลรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1-2 ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของบุคคลอื่น และจำเลยที่ 3 เป็นเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับความไว้วางใจในความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม ความดี และความสุจริต การขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองเป็นการกระทำที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนของจำเลยที่ 1-2 กับผลประโยชน์สาธารณะ จึงต้องมีมโนธรรมเข้ามากำกับอย่างยิ่งยวด จะใช้มาตรฐานความรู้สึกนึกคิดเช่นคนทั่วไปไม่ได้ การจะอ้างว่าเชื่อโดยสุจริตจะต้องมีเหตุผลอันสมควรอย่างยิ่งให้เชื่อเช่นนั้นได้

             นอกจากนี้ ก่อนออกระเบียบเพิ่มเงินเดือนได้ความว่า คณะรัฐมนตรีมีมติปรับเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการทั่วประเทศอัตราร้อยละสาม แต่องค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนด้วย จึงจัดประชุมร่วมกันและร่วมทำหนังสือขอความเป็นธรรมถึงรัฐบาลขอให้แก้กฎหมายปรับเพิ่มเงินเดือนเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วๆ ไป จึงชี้ให้เห็นว่าการปรับเพิ่มเงินเดือนแม้จำนวนเล็กน้อยเพียงร้อยละสามก็มีความสำคัญและต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด หน่วยงานผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมนี้จะปฏิเสธว่าไม่รับทราบ ไม่เข้าใจ ไม่ให้ความสำคัญกับขั้นตอนการขึ้นเงินเดือนไม่ได้ จึงไม่มีเหตุผลอันควรที่ทำให้จำเลยทั้งสามเห็นหลงไปได้ว่า การออกระเบียบเพิ่มเงินเดือนให้ตัวเองถึง 20,000 บาท ซึ่งมากกว่าการขึ้นเงินเดือนร้อยละสามนับสิบเท่า จะสามารถใช้ช่องทางลัดแปลความกฎหมายออกระเบียบเช่นนี้ได้ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น การกระทำของจำเลยที่ 1-2 จึงเป็นความผิด มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตามฟ้อง

            พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 86 จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 2 ปี และจำคุกจำเลยที่ 3 จำนวน 1 ปี 4 เดือน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเห็นว่ามีเหตุควรปราณี จึงให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 2 ปี
       
            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ฟังคำพิพากษา ช่วงที่ศาลกำลังอ่านคำวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิด ปรากฏว่านายพูลทรัพย์ จำเลยที่ 1 เกิดอาการหน้ามืดและเป็นลม ซึ่งจำเลยที่ 2-3 ได้ช่วยประคอง โดยมีเจ้าหน้าที่รปภ.ของศาลมาช่วยหายาดมและปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้จำเลย พร้อมทั้งมีการเรียกหาพยาบาลมาช่วยดูแล ขณะที่ศาลยังคงอ่านคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งผ่านไปประมาณ 15 นาที  จึงมีอาการดีขึ้น และไม่ต้องเรียกหาพยาบาลมาช่วยปฐมพยาบาล ทั้งนี้ สาเหตุที่จำเลยเป็นลมอาจเพราะมีอายุมาก ประกอบกับสวมชุดสูท

            ภายหลังฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ รปภ.ศาลได้พาตัวลงมา โดยทั้งหมดปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์
       
             ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สว.สรรหา ซึ่งมาให้กำลังใจและร่วมฟังคำพิพากษา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากนี้จะคัดสำเนาคำพิพากษาไปศึกษาและพิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่ ส่วนคำพิพากษาในวันนี้จะส่งผลต่อตำแหน่งประธานวุฒิหรือไม่นั้น จะนำไปเปรียบเทียบกับข้อกฎหมาย ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ตอนนี้

 

"นิคม" เผย "ธีรเดช" พ้นตำแหน่งประธานวุฒิสภาทันที แต่ยังเป็น สว.ได้

            นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา กล่าวภายหลังที่ศาลอาญามีคำพิพากษาสั่งจำคุก พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรณีขึ้นเงินเดือนตนเอง ทั้งนี้ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี ว่า ถือว่า พล.อ.ธีรเดช ต้องพ้นจากตำแหน่ง ประธานวุฒิสภา โดยทันทีซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 124(4)  ที่ระบุว่าประธานวุฒิสภาย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ ส่วนตำแหน่งวุฒิสภานั้น พล.อ.ธีรเดช ยังถือว่าดำรงอยู่ ในเบื้องต้นจำเป็นต้องสรรหาประธานวุฒิสภาคนใหม่โดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการประชุมรัฐสภา ซึ่งจำเป็นต้องมีประธานวุฒิสภา ในตำแหน่งรองประธานรัฐสภาปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้คาดว่าจะมีการเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อสรรหา ได้ในวันที่ 10 ส.ค.นี้

            ด้านนายวันชัย สอนศิริ สว.สรรหา ในฐานะที่ปรึกษาด้านกฎหมายประธานวุฒิสภา กล่าวว่าในประเด็นนี้ พล.อ.ธีรเดช ยังสามารถดำรง ตำแหน่ง สว.ได้ต่อ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 124 (4) กำหนดในเฉพาะตำแหน่งระดับสูง ที่มีความสำคัญเท่านั้น ส่วนกรณีที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 119(8) ระบุถึงการสิ้นสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง เมื่อ  ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ นั้น กรณีของ พล.อ.ธีรเดช ยังไม่ถือว่าเข้าข่าย เพราะคดีดังกล่าวยังอยู่ในศาลชั้นต้น และไม่มีการพิพากษาถึงที่สุด สำหรับประเด็นความรับผิดชอบทางจริยธรรมของ พล.อ.ธีรเดช จนถึงขั้นลาออกนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าตัว แต่หากดูตามหลักกฎหมายแล้ว ไม่ถึงขั้นต้องออกจากตำแหน่งทางการเมือง

                 ขณะที่นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า พล.อ.ธีรเดช ต้องพ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 124(4) ส่วนกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคนใหม่ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ส่วนจะเป็นเมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับสมาชิก ขณะนี้นายนิคม จะทำหน้าที่รักษาการประธานวุฒิสภาไปก่อน

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่ห้อง พล.อ.ธีรเดช ยังคงเป็นไปอย่างปกติ โดยรายงานข่าวระบุว่า หลังจากที่ พล.อ.ธีรเดช ไปรับฟังคำพิพากษาแล้ว ได้เดินทางไปรับประทานอาหาร และยังไม่ได้เดินทางกลับมาที่ห้องทำงาน ที่อาคารวุฒิสภา ขณะเดียวกันได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เตรียมจัดเก็บของใช้ส่วนตัวลงกล่องเก็บของ  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ