ข่าว

'กลุ่มแรงงาน'เปิดข้อเรียกร้อง13ข้อจี้'ปู'ช่วย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ผู้ใช้แรงงาน' เปิดข้อเรียกร้อง 13 ข้อจี้รัฐ ลดค่าครองชีพ-คุมราคาสินค้า-ไฟฟ้า ประปา พร้อมเดินขบวน หนุนขึ้นค่าแรง 500 บ.ต่อวัน

                   เมื่อเวลา 09.40 น.กลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) หลายเครือข่าย 42 องค์กร อาทิ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บรษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.กสท. โทรคมนาคม เป็นต้น กว่า 4,000  คน มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากล 122 ปี 1 พ.ค.2555

                   นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์(คสรท.) กล่าวถึงจุดประสงค์การจัดงานว่า การจัดงานวันกรรมกรครั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้กำหนดร่วมจัดกันสมานพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และองค์กรแรงงาน 28 แห่ง โดยมีกำหนดการเริมตั้งขบวนที่บริเวณหัวมุมถนนหน้ารัฐสภาด้านพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมีการเดินขบวนเดินไปตามถนนราชดำเนิน ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมเปิดการปราศรัยบนเวทีของผู้นำแรงงานกลุ่มต่างๆตลอดเส้นทาง ทั้งยังมีขบวนเพื่อสะท้อนปัญหาแรงงานด้วย

                    จากนั้นมีการตั้งขบวนอย่างคึกคัก เพื่อเดินไปยังเส้นทางตั้งแต่ถนนราชดำเนิน พระบรมรูปทรงม้า สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยระหว่างทางมีการปราศรัยเพื่อสะท้อนปัญหาแรงงาน ให้รัฐบาลสนใจผู้ใช้แรงงาน พร้อมทั้งอยากให้มีการจ่ายค่าแรง 500 บาทต่อวัน เนื่องจากค่าใช้จ่ายไม่พอค่าครองชีพ รวมทั้งให้มีการควบคุมราคาสินค้า อย่าให้นายทุนใช้โอกาศจากการขึ้นค่าแรงมาขึ้นราคาสินค้า นอกจากนี้มีการถือป้ายข้อความ "แรงงานมีคุณค่า ประเทศชาติจะพัฒนา ต้องเห็นคุณค่าแรงงานทุกคน" หรือ "ของแพง ค่าแรง 300 บาท วงจรอุบาทว์ ฆาตรกรรมคนงาน" เป็นต้น

                    ต่อมา เวลา 11.15 น. ขบวนกลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เดินเท้ามาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด มีการร่วมถ่ายรูปบนฐานอนุสาวรีย์ฯ ร้องเพลงมาร์ชแรงงาน พร้อมตั้งเวทีกรรมกรสากล จัดรูปขบวน จากนั้นมีการชูเจตนารมณ์ 3 ประสาน กรรมกร ชาวนา นักศึกษาปัญญาชน เพื่อประกาศเจตณารมณ์วันกรรมกรสากล ร่วมผลักดัน พรบ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับผู้ใช้แรงงาน

                    นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ประกาศในนามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีข้อเรียกร้องเร่งด่วน 4 ข้อ และ ข้อเรียกร้องที่แรงงานต้องติดตามจำนวน 9 ข้อ รวม 13 ข้อ ต่อรัฐบาลว่า ข้อเรียกร้องเร่งด่วน 1.รัฐต้องมีมาตรการลดค่าครองชีพแก่ประชาชนและผู้ใช้แรงงานโดยเร่งด่วน โดยมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาอาหาร ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การสนับสนุนงบประมาณสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อการลดค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊สหุงต้ม การสนับสนุนงบประมาณแก่รถขนส่งมวลชนสาธารณะ รถเมล์ รถไฟ เรือโดยสาร ฯ ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพควรดำเนินการควบคู่กับนโยบายรัฐสวัสดิการ ในด้านการศึกษา ผู้สูงอายุ การสาธารณสุข สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

                    2.รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน อันสืบเนื่องมาจากวิกฤติการณ์อุทกภัยช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย แรงงานในระบบจ้างเหมาช่วง (Sub-contracting) แรงงานข้ามชาติ แรงงานในระบบ รวมทั้งแรงงานนอกระบบ ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย การตัดลดสวัสดิการ การสั่งย้ายให้ทำงานต่างพื้นที่ การปิดสถานประกอบการ รัฐจึงต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การช่วยเหลือเยียวยาจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยตามกฎหมาย การจัดตั้งกองทุนเพื่อการสนับสนุนประกอบอาชีพ การแก้ไขกรณีประกันว่างงานให้สามารถใช้สิทธิในกรณีที่นายจ้างประกาศหยุดงาน

                    3.รัฐและรัฐสภาต้องสนับสนุนการปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ภายใต้หลักการที่สอดคล้องกับหลักอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง การพัฒนากรอบคิดแรงงานสัมพันธ์ จากความสัมพันธ์แบบ “นายกับบ่าว” ไปสู่ “ หุ้นส่วนสังคมและเศรษฐกิจ” และการมุ่งสร้างกระบวนการแรงงานสัมพันธ์เพื่อความเป็นธรรม

                    4.รัฐต้องแก้ไข พรบ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 แก้ไขฉบับที่ 4 พ.ศ.2550 มาตรา 9(5) กลับไปใช้บทบัญญัติเดิม เนื่องจากลิดรอนสิทธิของลูกจ้างรัญวิสาหกิจและเป็นการเลือกปฎิบัติ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

                    ส่วนข้อเรียกร้องที่ติดตาม เนื่องจากเป็นข้อเรียกร้องเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากภาครัฐ และเป็นข้อเรียกร้องเก่าที่ต้องการให้รัฐบาลชุดนี้แก้ไข มีทั้งหมด 9 ข้อ ดังนี้

                    1.รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองภายในปี พ.ศ.2555 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

                    2.รัฐและรัฐสภาต้องปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานระบบประกันสังคมให้เป็นอิสระ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม โปร่งใสตรวจสอบได้ และจะต้องเร่งรัดนำ ร่าง พรบ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรโดยเร่งด่วน

                    3.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ โครงสร้างค่าจ้างของแรงงานให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือ และลักษณะงาน ทั้งนี้ รัฐจะต้องแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไว้ที่วันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2557 และปี พ.ศ. 2558

                    4.รัฐต้องยกเลิกการแปรรูปหรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการให้บริการประชาชน

                    5.รัฐต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในเขตพื้นที่สถานประกอบการใดๆ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

                    6. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง และเร่งจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

                    7.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างและรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานควรมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้

                    8.รัฐต้องสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็ก ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแรงงาน ในบริเวณเขตพื้นที่อุตสาหกรรมหรือสถานที่ทำงาน

                    9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และสวัสดิการสังคม เพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิ์ของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ

                    "ปีนี้ถึงแม้มีแรงงานหลายกลุ่มแยกกันจัดงาน แต่ไม่ได้แตกแยก ตอนนี้ภาคเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สภาพอากาศแปรปรวนทำให้เราต้องต่อสู้อย่างหนัก ปีนี้สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คิดว่าจะบรรลุในข้อเสนอทั้งหมดได้คือกรรมกรต้องสามัคคีกัน และยืนยันว่าจะมุ่งมั่นจุดยืน อุดมการณ์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากนี้ไป" นายสาวิทย์ก ล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ