
ภารกิจปลูกหน่อ 'หุ่นกระบอกไทย'
ศิลปวัฒนธรรม : ภารกิจปลูกหน่อ 'หุ่นกระบอกไทย'
มหาอุทกภัยปลายปีก่อนที่ดูสาหัสสากัน สร้างความเสียหายไปทั่ว ไม่เว้นกระทั่ง "บ้านตุ๊กกะตุ่น" ย่านวิภาวดีรังสิต 60 ทว่าบอบช้ำเพียงไร คงมิอาจเทียบได้กับวิกฤติลมหายใจของศิลปะเก่าแก่ของชาติอย่าง "หุ่นกระบอก" แม้วันนี้จะมีการสืบสานจนอุ่นใจได้ระดับหนึ่งว่ายังคงงดงามเป็นที่ประจักษ์ แต่ในความเป็นจริงเพียงคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่ยังเห็นคุณค่า และภารกิจนี้เชื่อว่าจะไม่สูญเปล่า ด้วย "หนึ่ง" นิเวศน์ แววสมณะ ศิลปินอิสระวัย 41 ปี ตั้งปณิธานแน่วแน่ชีวิตนี้ขอสละให้มรดกของชาติ โดยสืบสานแนวทางของตัวเอง หวังเล็กๆ ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและต่อยอดศิลปะไทยแขนงนี้
แต่ก่อนจะมีความคิดเช่นนั้น ราว 15 ปีก่อนกลายเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญ วิกฤติฟองสบู่ทำให้หนุ่มนักโฆษณาค้นพบความน่าสนใจของหุ่นกระบอก แต่ในแง่ของการแปลงคุณค่างานศิลป์เป็นผลกำไรเม็ดงาม จนเมื่อมีโอกาสได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หุ่นกระบอก) อย่าง คุณยายชื้น สะกุลแก้ว ผู้ล่วงลับ นั่นเองมุมมองที่อยากแทนคุณแผ่นดินจึงเริ่มต้น จนวันนี้ผันตัวเองมาเป็นผู้ถ่ายทอดและอนุรักษ์
"หุ่นไทยแบ่งได้ 4 ประเภท มี หุ่นหลวง หุ่นวังหน้า ทุกวันนี้มีให้เห็นเฉพาะในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ส่วน หุ่นกระบอก มีหลายคณะที่ทำกันออกมา ที่รู้จักกันดีก็หุ่นกระบอกของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ เป็นหุ่นที่เกิดสมัย ร.5 ลักษณะครึ่งตัว ลำตัวทำจากกระบอกไม้ไผ่จึงเรียกว่าหุ่นกระบอก ตามประวัติได้อิทธิพลมาจากหุ่นจีนไหหลำ แล้วมาดัดแปลงเป็นของไทย หลังจากนั้นราว 30 ปีให้หลังจึงเกิด หุ่นละครเล็ก ดัดแปลงมาจากหุ่นหลวงและหุ่นกระบอก อย่างหุ่นคณะโจหลุยส์ ตัวใหญ่กว่า มีแขนขาครบ มีกลไกมากกว่า นอกจากนี้การเชิดหุ่นกระบอกจะใช้หนึ่งคนเชิด ขณะที่หุ่นละครเล็กใช้ถึงสามคน" ศิลปินอิสระ เล่าเกร็ดความรู้
เสน่ห์ของหุ่นขนาดความสูงมาตรฐาน 60 ซม.ที่เห็นส่วนศีรษะสวมชฎาระยับ คลุมด้วยผ้าถุงปักเลื่อม กว่าจะสร้างสำเร็จแต่ละตัวต้องใช้ช่างศิลป์หลายแขนง โดยเฉพาะช่างสิปป์หมู่ อาทิ ช่างเขียน, ช่างลายรดน้ำ, ช่างแกะสลัก ช่างปัก เป็นต้น รวมถึงนาฏศิลป์ และการขับร้อง กว่าจะเปิดการแสดงหุ่นกระบอกได้หนึ่งเรื่องจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละขั้นตอนต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด นี่อาจเป็นอีกเหตุผลทำให้ความนิยมลดน้อยถอยลงจนเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งแน่นอนว่าผู้หวงแหนมรดกล้ำค่าอย่างนิเวศน์คงไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น เขาจึงควักทุนส่วนตัวต่อลมหายใจอันรวยริน ผ่าน "โครงการอบรมการประดิษฐ์และการเชิดหุ่นกระบอกไทย" โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเยาวชน พลังสำคัญในการขับเคลื่อน ส่วนผู้ที่พอจะมีความรู้บ้างแล้วหลังจากปิดคอร์สเยาวชนก็ยินดีถ่ายทอด
แคมป์อบรมหุ่นกระบอกระยะแรกร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีกิจกรรมเด่นอย่างการประดิษฐ์หุ่นเบื้องต้น การสอนเชิดหุ่น การให้ความรู้ด้านประวัติความเป็นมาของงานหุ่นไทยประเภทต่างๆ รวมถึงความแตกต่างของหุ่นนานาชาติซึ่งเป็นสมบัติสะสมส่วนตัว นอกจากนี้เด็กๆ ยังจะได้สัมผัสการทำงานในแต่ละขั้นตอนของช่าง เช่น ลงรักปิดทอง ปักผ้ายก ดิ้นทองแบบโบราณ เขียนหน้าหุ่น การกดลายเพื่อเป็นเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่กิจกรรมคู่ขนานจะมีการจัดโรดโชว์ไปตามสถานศึกษา แต่ละปีราว 70-100 โรงเรียน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทั้งหมดเป็นการให้เปล่า!
"เท่าที่จัดอบรมมา รู้สึกว่าสถานการณ์หุ่นกระบอกดีขึ้น แต่คงไม่ถล่มทลายเหมือนศิลปินเกาหลี เพียงแต่มีกลุ่มกว้างขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ ระยะหลังๆ เราจึงเริ่มปรับเปลี่ยนโดยนำมัลติมีเดียมาใช้ แล้วบางเรื่องที่เล่นก็มีการปรับเปลี่ยนหุ่นแบบประเพณีมาเป็นหุ่นการ์ตูนบ้าง ถามว่าผิดไหม ไม่ผิดนะ เพราะสมัยก่อนนอกจากตัวละครในวรรณคดีแล้ว ก็มีตัวชาวบ้าน ตลก ไม่ต่างจากตัวการ์ตูนที่เราทำขึ้น " นิเวศน์ กล่าว
ทั้งนี้ คนรักษ์หุ่น เปรยว่าคนทำงานศิลป์ ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน แล้วจะได้รับสิ่งดีๆ กลับมา หากรอการสนับสนุนอย่างใจอยากอย่างเดียวก็รังแต่จะเครียด จึงต้องเปิดใจให้กว้าง เพราะงานศิลป์ในเมืองไทยมีมากต้องเฉลี่ยกันไป สำคัญว่าใจอยากทำอะไร ทำทำไม และเพื่อใคร...
"หุ่นถ้าจำเป็นต้องขายก็ต้องขายเพื่อนำมาเป็นทุนทำกิจกรรมอื่นๆ แต่ที่อยากให้เพราะคุณยายชื้น เคยพูดเสมอว่าใครอยากรู้ก็สอนเขาไปเถอะ เพราะไม่รู้ว่าวันไหนเราจะจากไป อย่างน้อยเป็นประโยชน์กับแผ่นดินบ้าง สามปีแรกที่ทำขายไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย พอวันหนึ่งมาเป็นผู้ให้ก็รู้สึกอิ่มใจ ภาคภูมิใจ มีความสุข สบายใจ" นั่นคือสิ่งที่นิเวศน์ ค้นพบ
โครงการอบรมการประดิษฐ์และการเชิดหุ่นกระบอกไทย ระหว่างวันที่ 20-22 เมษายนนี้ เปิดรับน้องๆ อายุ 13 ปีขึ้นไปจำนวนจำกัด ดาวน์โหลดใบสมัครได้ทาง www.tookkatoon.com ถึง 17 เมษายนนี้ สอบถามโทร. 08-1934-6699
..................................
(ศิลปวัฒนธรรม : ภารกิจปลูกหน่อ 'หุ่นกระบอกไทย')