ข่าว

ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา@motorcyrubjang

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ : 'ธรรมดา...ที่ไม่ธรรมดา ! หนุ่มเสื้อกั๊กส้ม กับสังคมโซเชียลมีเดีย ภายใต้รหัส @ motorcyrubjang' โดย 'บุษราคัม ศิลปลาวัลย์'

          นาทีนี้คงไม่มีชาวโซเชียลมีเดียคนไหนที่ไม่รู้จัก @ motorcyrubjang บุคคลซึ่งเป็นคนถ่ายภาพช็อตเด็ดชายชาวอิหร่านถูกระเบิดขาขาดเป็นคนแรก

          "เดชชาติ พวงเกษ" คือชื่อและนามสกุลจริงของเขา

          เดชชาติ หรือจ้อน เป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อายุ 39 ปี ที่อยู่วินรับส่งผู้โดยสารปรีดีพนมยงค์ 20 มา 6 ปีแล้ว ซึ่งนอกจากจะวิ่งรับส่งผู้โดยสารทั่วไปแล้ว เขายังวิ่งเอกสารเป็นเมสเซ็นเจอร์ตามที่ลูกค้าว่าจ้างด้วย 

          “ปกติผมเป็นคนชอบเทคโนโลยีอยู่แล้ว และเมื่อประมาณปี 2007 อพาร์ตเมนต์ที่เช่าอยู่ สามารถรับช่องเนชั่นทีวีได้ ซึ่งผมชอบคุณสุทธิชัย หยุ่นอยู่แล้ว เพราะท่านเป็นคนข่าวที่วิเคราะห์ข่าวได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายไหน ผมจึงติดตามดูมาตลอด และคุณสุทธิชัยได้พาผมไปรู้จักการเขียนบล็อกใน ”ok nation” เดชชาติกล่าวถึงที่มาที่ไปของการเริ่มเข้าสู่วงการโซเชียลมีเดียครั้งแรกของเขา

          แต่เส้นทางการเป็นบล็อกเกอร์ เดชชาติ บอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตั้งแต่เกิดมา เขาไม่เคยรู้จักคอมพิวเตอร์เลย ไม่รู้ว่าต้องเปิดปิดตรงไหน อย่างไร แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนที่มีความสนใจใคร่รู้มาตั้งแต่เด็กๆ สิ่งแรกที่เขาทำหลังจากที่ตั้งใจว่าจะเขียนบล็อกใน "ok nation" คือการไปหาซื้อหนังสือคอมพิวเตอร์เบื้องต้นมาอ่าน 

          เมื่ออ่านจนทะลุปรุโปร่งแล้วเขาจึงตัดสินใจไปซื้อคอมพิวเตอร์มือสองในราคา 2,000 บาท มาทดลองใช้ จนสามาถใช้คอมพิวเตอร์เป็น รวมระยะเวลาการเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์ของเขาทั้งหมด 3 เดือน

          จากนั้นจึงซื้อหนังสือการใช้อินเทอร์เน็ตเบื้องต้นมาอ่านและเรียนรู้อีก 3 เดือน จึงตัดสินใจเดินเข้าร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เพื่อเขียนบล็อก ในนาม “ราษีไศล” โดยเขาตั้งใจที่จะเป็นนักข่าวพลเมือง ที่นำเสนอข้อมูล เรื่องราวของชาวราษีไศล บ้านเกิดของเขาที่ศรีสะเกษ ซึ่งเขาตั้งใจจะถ่ายภาพท่องเที่ยว ทุ่งนา วัว ควาย บรรยากาศธรรมชาติต่างจังหวัดลงในบล็อกของเขา

          การเดินเข้าร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ครั้งแรกของเดชชาติ เขาบอกว่าตื่นเต้น เพราะตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเข้าร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่มาก่อน อีกทั้งคนส่วนใหญ่ที่เดินเข้าร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ คือนักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ แต่เขาเป็นวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเขาเองก็ไม่เคยเห็นใครใส่เสื้อวินมอเตอร์ไซค์เดินเข้าร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เช่นกัน

          คงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าการเดินเข้าร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ด้วยชุดธรรมดา ไม่มี “เสื้อวินมอเตอร์ไซค์” 

          เดชชาติ บอกว่า ครั้งแรกที่เดินเข้าไปนั้น เจ้าของร้านและคนในร้านก็มองเขาแปลกๆ ว่าวินมอเตอร์ไซค์จะมาทำอะไรที่นี่ เจ้าของร้านคงคิดว่าเขาจะเข้ามาเล่นเกมเหมือนเด็กๆ ในร้าน 

          แต่ในที่สุด เดชชาติก็สามารถล็อกอิน ใน "ok nation blog" ได้ และลงมือเขียนบล็อกครั้งแรกในชีวิต จากนั้นเขาก็ลงมือเขียนบล็อกเรื่อยๆ จากคนที่อัพรูปไม่เป็น อัพวิดีโอขึ้นบล็อกไม่เป็น ก็อาศัยถามเพื่อนๆ จนเขาสามารถทำได้ทุกอย่าง ทั้งอัพเรื่องราว รูป หรือแม้แต่วิดีโอจนเป็นที่รู้จักในแวดวง "blogger ok nation"

          จากนั้นเมื่อประมาณปี 2011 เขาเริ่มทดลองใช้แอ็คเคานท์ทวิตเตอร์ @motorcyrubjang  ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถเชื่อมต่อกับโลกโซเชียลมีเดียได้

          โดยในโพรไฟล์ของเขา มีรูปของตัวเองในชุดเสื้อวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างสีส้ม ระบุว่า "รับส่งเอกสารงานด่วน เก็บเช็ควางบิล messenger service" และใส่เบอร์โทรศัพท์มือถือไว้ด้วย

          แต่ก็มีคนฟอลโลเวอร์ (follower) เพิ่มขึ้นทีละนิดหน่อย เพียงแค่ประมาณ 600 คน แต่หลังจากเหตุการณ์ระเบิดทำให้มีคนรู้จักมากและเข้ามาเป็นฟอลโลเวอร์ ซึ่งล่าสุด (บ่ายวันพฤหัสบดี) เพิ่มขึ้นถึง 2,672 ฟอลโลเวอร์

          “ประโยชน์ที่ผมได้จากโซเชียลมีเดีย คือการที่ผมได้แชร์ข้อมูลต่างๆ ลงไปให้คนอื่นได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของบ้านผมที่ อ.ราษีไศล เหตุการณ์บนท้องถนน การจราจร รถติด อุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งทำให้ผมได้ลูกค้าที่ว่าจ้างรับส่งเอกสาร จากการติดตามทวิตเตอร์ของผมด้วย”  เดชชาติกล่าว

          ในแอ็คเคานท์ @motorcyrubjang นั้น ในบางครั้งบางคราวเราอาจได้เห็นการทวิตเป็นภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งบางคนอาจทึ่งในความสามารถของเขา หากได้รู้ว่าวินมอเตอร์ไซค์สามารถทวิตเป็นภาษาอังกฤษได้ ทั้งๆ ที่เขาเรียนจนเพียงชั้น ม.6 จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน เท่านั้น

          เขาเล่าว่า พื้นฐานครอบครัวไม่ใช่คนมีฐานะ พ่อแม่ตายตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เขาและพี่สาวต้องอยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูจากตาและยายที่ อ.ราษีไศล มาตลอด จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็ต้องเลิกเรียนเพราะฐานะไม่ดี จนเขาย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อทำงานที่โรงงานตราชั่ง แถวฝั่งธนบุรี จึงตัดสินใจสมัครเรียนที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จนจบชั้น ม.6   ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพเป็นวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

          ส่วนความสามารถด้านภาษาอังกฤษของเขานั้น เขาเล่าว่า แม้เขาจะไม่ได้ร่ำเรียนสูง แต่ด้วยความสนใจในภาษาอังกฤษของเขา เขาจึงพยายามทำทุกทางเพื่อให้สามารถพูด เขียน อ่านภาษาอังกฤษได้ เริ่มต้นด้วยการอ่านป้ายทุกชนิดที่นั่งรถเมล์ผ่าน ซื้อดิกชันนารี่พกติดตัวเพื่อเปิดดูคำศัพท์ หาหนังสือภาษาอังกฤษมาหัดอ่าน หาเพลงอังกฤษมาฟัง และดูหนังซาวนด์แทร็ก เพื่อให้หูชินกับภาษา

          ในที่สุด ด้วยความมุมานะพยายาม ทำให้เขาสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ และตอนนี้ เขาได้รับตำแหน่งพิเศษเป็นล่ามประจำวินมอเตอร์ไซค์ซอยปรีดีพนมยงค์ 20 ไปด้วย เพราะ มอเตอร์ไซค์ทั้งวิน มีเพียงเขาคนเดียวที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติได้คล่องที่สุด 

          ฉะนั้นจึงอย่าแปลกใจหากเห็น @ motorcyrubjang ทวิตเป็นภาษาอังกฤษบ้างในบางครั้ง  ซึ่งเขาบอกว่า สำหรับบางคำที่ไม่รู้ก็ไปโหลดแอพพลิเคชั่นดิกชันนารี่มาไว้ในโทรศัพท์ เพื่อให้สามารถเปิดดูคำศัพท์ได้อย่างสะดวก

          เดชชาติเล่าว่า ตอนที่เขาอยู่ที่วินมอเตอร์ไซค์ ช่วงที่ว่างเขาก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาทวิตข้อความต่างๆ ซึ่งทำให้เพื่อนร่วมวิน และลูกค้ามองว่าเขาเล่นเกมตลอดเวลา แต่ความจริงแล้วกำลังอัพเดทข้อมูลข่าวสารให้เพื่อนๆ ในสังคมโซเชียลมีเดียรับรู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ แม้กระทั่งในวันว่างๆ ไม่ค่อยมีลูกค้า เพื่อนๆ วินทั้งหลายก็จะไปนั่งโขกหมากรุก เล่นหมากฮอสกัน แต่เดชชาติเป็นคนเดียวที่แยกตัวออกมาทวิต หรืออย่างตอนที่ไปร้านอินเทอร์เน็ต เขาบอกว่าเห็นเด็กเข้าไปเพื่อนั่งเล่นเกมกัน ซึ่งเขามองว่าน่าเสียดายที่เยาวชนไทยควรจะหาความรู้จากโลกอินเทอร์เน็ตมากกว่ามานั่งเล่นเกม เพราะในโลกอินเทอร์เน็ตมีความรู้ให้ค้นหามากมาย 

          สำหรับมุมมองในโลกโซเชียลมีเดียนั้น เดชชาติมองว่า ในปัจจุบันคนมักจะเล่นกับความเร็วมากเกินไปจนบางครั้งอาจมองข้ามความผิดพลาด หรือขาดข้อมูลข้อเท็จจริงไป อย่างตัวเขาเอง ในวันที่เกิดเหตุระเบิดขึ้น มีเพื่อนวินมอเตอร์ไซค์ขี่รถมาบอกว่ามีฝรั่งระเบิดพลีชีพ ซึ่งทันทีที่เขาถ่ายรูปคนถูกระเบิดขาขาดเสร็จ ก็รีบทวิตทันทีว่าฝรั่งระเบิดพลีชีพ จนเมื่อเวลาผ่านไปจึงค่อยได้รับข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น จนต้องอัพโหลดทวิตใหม่อีกครั้งเพื่อทำให้ถูกต้อง

          ซึ่งตรงจุดนี้เขามองว่า การที่เป็นนักข่าวพลเมืองกับนักข่าวอาชีพนั้น จะมีความน่าเชื่อถือที่ต่างกัน เพราะนักข่าวพลเมืองคนอื่นอาจมีความเคลือบแคลงสงสัยในความน่าเชื่อถืออยู่บ้างว่าเรื่องที่เขียนขึ้น หรือเรื่องที่ทวิตลงในทวิตเตอร์นั้น มีมูลความจริงขนาดไหน แต่สำหรับนักข่าวอาชีพนั้นจะมีความเชื่อถืออยู่ส่วนหนึ่งแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเขามองว่า ในโลกโซเชียลมีเดีย แม้จะเน้นความเร็วเป็นหลัก แต่ก็ไม่ควรมองข้ามในเรื่องของความถูกต้องในข้อมูลด้วย

          อีกเรื่องหนึ่งที่เดชชาติให้ความเห็นได้อย่างน่าสนใจคือ การให้เครดิตแก่เจ้าของรูป หรือข้อมูลที่อยู่ในทวิตเตอร์ ซึ่งเขาบอกว่า ในวันเกิดเหตุระเบิด และเขาทวิตรูปขึ้นไปในทวิตเตอร์แล้ว หลังจากนั้นก็มีคนมาแชร์รูปของเขาไปทั่วโลก แต่สื่อแรกที่ดีเอ็มมาขอใช้รูปอย่างเป็นทางการ คือสื่อต่างประเทศ ว่า “Can I use your photos for my newspaper?” และเขาตอบไปว่า “Yes, you can use this” 

          ซึ่งในเรื่องการให้เครดิตรูป หรือข้อมูลในทวิตเตอร์ก็เป็นเรื่องที่ชาวโซเชียลมีเดียควรให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะเหมือนเป็นการให้เกียรติเจ้าของข้อมูล สำหรับตัวเขาเอง เขาบอกว่าหากใครจะนำรูปหรือข้อมูลที่เขาอัพโหลดขึ้นสู่โซเชียลมีเดียก็สามารถนำไปใช้ได้เลย เขาไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ใดๆ เพราะเพียงแค่รูปและข้อมูลของเขากระจายไปสู่สายตาคนมาก เขาก็ดีใจ 

          ส่วนในอนาคต เขาวางแผนไว้ว่า อยากกลับไปอยู่บ้านที่ อ.ราษีไศล โดยอยากเปิดร้านขายของเล็กๆ ที่บ้าน เพราะจะได้อยู่กับภรรยาซึ่งเพิ่งแต่งงานกันได้ไม่นาน ซึ่งเขาทำงานรับราชการ (เป็นบรรณารักษ์อยู่ห้องสมุดโรงเรียน) อยู่ที่บ้านด้วย

 

..................

(หมายเหตุ : รายงานพิเศษ : 'ธรรมดา...ที่ไม่ธรรมดา ! หนุ่มเสื้อกั๊กส้ม กับสังคมโซเชียลมีเดีย ภายใต้รหัส @ motorcyrubjang' โดย 'บุษราคัม ศิลปลาวัลย์')

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ