ข่าว

นักวิชาการ เตือน กสทช. วิกฤต บอร์ดแตก เสี่ยงบั่นทอนธรรมาภิบาล

นักวิชาการ เตือน กสทช. วิกฤต บอร์ดแตก เสี่ยงบั่นทอนธรรมาภิบาล

16 ก.ค. 2568

นักวิชาการ เผย กสทช. กำลังวิกฤต ขัดดแย้งภายในนำมาสู่คกีพิพาท 5 คดีเตือนผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะแต่งตั้งบุคคลระดับสูง การสอบวินัย

16  ก.ค.  2568   ดร.รุจิระ บุนนาค อาจารย์พิเศษ นักวิชาการ และนักกฎหมาย ได้ให้ความเห็นต่อกรณีสำนักงาน กสทช. กำลังตกอยู่ท่ามกลางพายุคดีพิพาทภายในอย่างรุนแรง หลังถูกยื่นฟ้องรวมสูงถึง 5 คดี ในหลายศาล ว่า บทบาทของ ศ.คลินิก นพ.สรณ ประธาน กสทช.  ประธาน กสทช. ภายใต้แรงเสียดทานของคดีความและความคาดหวังว่า ในมุมของข้อกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติหน้าที่ต้องแสดงให้เห็นถึงความระมัดระวังอย่างสูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งบุคคลระดับสูงและการดำเนินการสอบวินัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในระยะยาว 


การร่วมหารือกับคณะกรรมการ กสทช. ท่านอื่น เพื่อป้องกันปัญหาการเข้าใจผิด นอกจากนี้ คณะกรรมการ กสทช. เป็นองค์กรกลุ่ม การมีมติเสียงข้างมากไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันผู้บริหารสูงสุด หากแต่ต้องมองเห็นความจำเป็นถ่วงดุลอย่างมืออาชีพ ความขัดแย้งภายในที่กำลังดำเนินอยู่ จึงสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในกฎหมายที่ยังเปิดช่องตีความต่าง ๆ ดังนั้น การปฏิหน้าที่ในฐานะผู้นำองค์กรต้องมีหลักยึดในการทำงานด้วย

ดร.รุจิระ ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของ กสทช. ถูกจับตาค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภายในองค์กรที่มีคดีพิพาทภายในหลายคดี ทั้งคดีในศาลปกครองกลางและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งสะท้อนความขัดแย้งภายใน โดยปัจจุบันมีคดีพิพาทมากถึง 5 คดี

 

1. คดีศาลปกครอง กรณี กรรมการ กสทช.4 ราย ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ (ผู้ฟ้องคดีที่ 1-4) ยื่นฟ้อง ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ฯ นัดฟังคำพิพากษา 17 กรกฎาคม 2568 ซึ่งก่อนหน้าศาลปกครองกลางในคดีนี้ ได้เคยมีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวฯ ของ 4 กสทช. โดยเห็นว่าความเดือดร้อนเสียหายของ 4 กสทช. สืบเนื่องมาจากประธาน กสทช. มีความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายแตกต่างกับตน ในประเด็นนี้ ดร.รุจิระ เสริมว่า “ประเด็นที่พิพาทในคดีนี้เป็นเรื่องความเห็นในข้อกฎหมายที่เห็นต่างกันไปได้ ซึ่งที่ผ่านมา คำพิพากษาหรือคำตัดสินของศาลก็อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ในระหว่างศาลแต่ละชั้นกัน คำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ของศาลปกครองกลางก็อาจมีการอุทธรณ์โต้แย้งต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไปได้”

 

2. คดีศาลปกครอง กรณี นางสุรางคณา วายุภาพ อดีตผู้สมัครคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. ฟ้อง ประธาน กสทช. และ กสทช. ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งหรือประกาศหรือคำวินิจฉัยผลการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ กสทช. และให้ กสทช. ออกระเบียบหรือประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.ใหม่ ให้ชอบด้วยกฎหมาย

3. คดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณี นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. ฟ้องประธาน กสทช. ฐานละเว้นไม่ลงนามแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการฯ ตามมติ กสทช. แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้องเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เหตุไม่พบเจตนาพิเศษจะก่อให้เกิดความเสียหาย ขณะนี้โจทก์อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์

 

4. ศาลที่อาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณี พล.อ.ท.ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กสทช. ฟ้องกรรมการ กสทช. 4 ราย และนายภูมิศิษฐ์ ปมเสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัย และกรณีร่างหนังสือแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการ กสทช. ซึ่งศาลไต่สวนมูลฟ้องมีมูล แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง 8 เมษายน 2568 เหตุหลักฐานโจทก์ไม่ชัดเจน ขณะนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์

 

5. คดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณี พล.อ.ท.ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ฟ้องกรรมการ 4 ราย ไม่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ตามผลการคัดเลือก ศาลพิพากษายกฟ้อง 6 มิถุนายน 2568 และโจทก์อยู่ระหว่างอุทธรณ์

 

ดร.รุจิระ ระบุว่า คดีเหล่านี้ สะท้อนปมอำนาจและกระบวนการตัดสินใจภายใน กสทช. ที่ยังขาดความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของประธานและกรรมการ นอกจากนี้ยังมีคดีที่เกี่ยวกับค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 600 ล้านบาท คดีที่เกิดจากกรณี กสทช. เสียงข้างมากมีมติรับทราบการควบรวมระหว่างบริษัททรูและดีแทค ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางยกฟ้อง และ กรณีหนังสือเวียนผู้ถือใบอนุญาต เพื่อแจ้งให้ระมัดระวังในการอนุญาตให้นำสัญญาณช่องทีวีดิจิทัลไปเผยแพร่ใน TRUE ID ที่ไม่ได้มาขอใบอนุญาต ที่ ทรู ไอดี ฟ้อง ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลย 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กสทช. จะเผชิญความท้าทายจากคดีพิพาทและความขัดแย้งภายใน แต่ก็พยายามประคับประคองให้การดำเนินงานขององค์กรขับเคลื่อนไปได้ เช่น การประมูลคลื่น การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ประธาน กสทช. มีบทบาทสำคัญในหลายโครงการที่ถือเป็นผลงานเชิงประจักษ์ เช่น การประมูลคลื่น 2600 MHz เพื่อเร่งเปิดบริการ 5G เชิงพาณิชย์ในภูมิภาคต่างๆ การผลักดันโครงการดิจิทัลอีโคโนมีเพื่อสร้างระบบนิเวศธุรกิจสตาร์ทอัพไทย รวมถึงมาตรการตรวจสอบและบล็อกคอนเทนต์ผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะในยุคดิจิทัล