ข่าว

เปิดสาเหตุ เอาผิด "ทักษิณ" นอนรพ.ตร. ไม่ได้ หากศาลชี้คุมขังไม่ชอบ

เปิดสาเหตุ เอาผิด "ทักษิณ" นอนรพ.ตร. ไม่ได้ หากศาลชี้คุมขังไม่ชอบ

21 พ.ค. 2568

นายกสมาคมทนาย เผย หากศาลชี้คุมขัง "ทักษิณ" ไม่ชอบ" ต้องไปเอาผิด ผบ.เรือนจำและผู้ส่งตัวไปรพ.ตร. ส่วนนอนรักษาเป็นความเห็นแพทย์ ไม่ใช่ความเห็นเจ้าตัว

21 พ.ค.2568 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นผ่านเพจสมาคมทนายความ ความว่า  บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ

 

รัฐธรรมนูญมาตรา 194 บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ส่วนการบังคับโทษมิได้เป็นอำนาจของศาล แต่เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบัน โดยหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด (52 ตรี) ซึ่งเป็นแบบฟอร์มของศาลเองก็ได้ระบุไว้ด้านท้ายของหมายว่า ให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจำคุกอดีตนายกทักษิณภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ 

 

ด้วยเหตุดังกล่าว การส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ จึงเป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ ซึ่งมีอำนาจกระทำได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาตศาล เพราะเป็นขั้นตอนการบังคับโทษที่อยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ 
 

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์

 

ส่วนการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้ไต่สวน กรณีข้อเท็จจริงปรากฏแก่ศาลเองว่า อดีตนายกมิได้ถูกจำคุกในเรือนจำตามหมายจำคุก ซึ่งศาลมีอำนาจกระทำได้ตามมาตรา 89 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

อย่างไรก็ตาม หากผลการไต่สวนของศาลมีความเห็นตามแพทยสภาว่า อาการเจ็บป่วยของอดีตนายกไม่ได้วิกฤตด้วยขนาดต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจจกำหนดโทษ การส่งตัวอดีตนายกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 55 ของกฎหมายราชทัณฑ์ ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินคดีกับ "ผู้บัญชาการเรือนจำ" ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจัดการให้เป็นไปตามหมายจำคุกเป็นคดีใหม่ เพราะเป็นการกล่าวหาว่าเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง 

แต่ศาลไม่มีอำนาจออกหมายจำคุกซ้ำ หรือมีคำสั่งให้นำอดีตนายกไปจำคุกใหม่ เพราะอดีตนายกมิได้หลบหนีหรือแหกที่คุมขังออกไปรักษาตัวเอง อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 194 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ส่วนที่หลายฝ่ายแสดงความเห็นว่า ศาลที่ออกหมายจำคุกมีอำนาจสั่งลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งตัวอดีตนายกไปรักษาตัวฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น เห็นว่าการส่งตัวอดีตนายกไปรักษานอกเรือนจำดังกล่าว เป็นขั้นตอนการบังคับโทษของกรมราชทัณฑ์ จึงไม่ใช่การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อีกทั้งเป็นขั้นตอนที่อยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์จึงไม่มีอำนาจของศาลให้ละเมิด ดังนั้น หากศาลเห็นว่าผู้บัญชาการเรือนจำและแพทย์ที่เกี่ยวข้องมิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ศาลต้องมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์ต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 28 (2) ของกฎหมาย ป.ป.ช. 

 

จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าอดีตนายกจะเจ็บป่วยจริงหรือไม่ เจ็บป่วยวิกฤตถึงขนาดต้องไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจหรือไม่ ก็ไม่อาจเอาผิดกับอดีตนายกตามกฎหมายใดได้ เพราะการไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลดังกล่าวเป็นการ "ถูกส่งไปรักษาตัว" โดยผู้บัญชาการเรือนจำ ส่วนการมีความเห็นให้พักรักษาตัวต่อเป็นความเห็นของแพทย์ ไม่ใช่ความเห็นของอดีตนายก หากการไปรักษาตัวนอกเรือนจำจะเป็นความผิดก็เป็นความผิด เฉพาะของผู้ส่งและผู้ที่ให้ความเห็นเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่อาจเอาผิดกับอดีตนายกซึ่งเป็น "ผู้ป่วยที่ถูกส่ง" ไปรักษาตัวได้ เพราะไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย