เปิดเหตุผลศาลยกฟ้อง “บิ๊กเต่า” พิเคราะห์ยิบ คำพูดทรยศ ตร. ไม่หมิ่น “บิ๊กโจ๊ก”
เปิดเหตุผล ที่ศาลยกฟ้อง “บิ๊กเต่า” ในคดีที่ “บิ๊กโจ๊ก” ยื่นฟ้อง หมิ่นประมาท พิเคราะห์ละเอียดยิบ ชี้คำพูด ทรยศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้ระบุตัวบุคคล
9 ก.ย. 2567 กรณีศาลอาญากรุงเทพใต้ คำพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ อ 631/2567 ที่ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ บิ๊กโจ๊ก อดีต รอง ผบ.ตร.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว หรือ บิ๊กเต่า จำเลย ในความผิด หมิ่นประมาท โดยยื่นฟ้องตั้งเเต่วันที่ 22 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา
กรณีที่จำเลยได้รับเเต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีเว็บพนันออนไลน์ เเละเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 67 จำเลยได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กรณีที่จำเลยได้รับเเต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีเว็บพนันออนไลน์ มีอำนาจสอบสวนคดีที่มีการกล่าวหาโจทก์ โดยลักษณะคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยเป็นการใส่ร้ายโจทก์ว่า ทรยศสำนักงานตำรวจแห่งชาติและทรยศผู้บังคับบัญชามาแล้วหลายคน
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความได้ความว่า ขณะโจทก์ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีชื่อเล่นว่า “โจ๊ก” ส่วนจำเลยรับราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และได้รับแต่งตั้งจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้เป็น รองหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีอาญาที่ 724/2566 ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 593/2566
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลากลางวัน จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยรู้ว่าจะมีการนำข้อความที่ให้สัมภาษณ์นั้นไปโฆษณา กระทำโดยการกระจายเสียงหรือการกระจายภาพ ในประการที่ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงได้รับความเสียหาย ซึ่งสื่อมวลชนได้นำคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยจำเลยให้สัมภาษณ์ว่า “โปรดอย่าทำร้ายองค์กร โปรดอย่าทรยศองค์กรตัวเองนะครับ เหมือนที่ท่านทรยศเจ้านายมาแล้วหลายคน”
และให้สัมภาษณ์ทำนองว่า โจทก์สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิด เป็นการชี้นำให้สังคมเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนที่ทรยศต่อผู้บังคับบัญชาหลายคน ทรยศต่อองค์กรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดกฎหมาย คำว่าทรยศราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่าหมายถึง “ผู้คิดร้ายต่อผู้มีอุปการะคุณ กบฏ”
ข่าวที่จำเลยให้สัมภาษณ์บางช่วงบางตอนแม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อโจทก์แต่ใช้คำว่า “ผู้บังคับบัญชา” ซึ่งหมายถึงโจทก์ ภายหลังจากลงบทความสัมภาษณ์ของจำเลย มีบุคคลอื่นเข้ามาให้ความเห็นที่ระบุว่าหมายถึงโจทก์ โดยใช้คำว่า บิ๊กโจ๊ก รายละเอียดของความหมายคำว่า ทรยศและความเห็นของบุคคลภายนอก เห็นว่า การกระทำอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328 นั้น
นอกจากจะต้องพิจารณาว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่า ข้อความที่กล่าวนั้นถึงขั้นทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่แล้ว
ยังต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าว ได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่า หมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์นั้น ต้องพิเคราะห์ว่า ผู้อ่านหรือฟังข้อความสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างนั้นเป็นผู้ใด
ข้อความที่โจทก์อ้างว่า ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนทรยศหักหลังต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บังคับบัญชานั้น เมื่อพิจารณาบทสัมภาษณ์ระหว่างสื่อมวลชนกับจำเลย ซึ่งสื่อมวลชนถามจำเลยว่า “อยากได้ข้อมูลสักนิดนึงว่าตำรวจระบุพยานหลักฐานเรื่องของเส้นทางการเงินหรืออะไรต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงไปถึงนายตำรวจท่านนี้มั้ยครับ”
จำเลยตอบว่า “คือ ผมอยากจะบอกไปยังทีมงามที่ถูกดำเนินคดี นะครับ เราว่า เราไปคุยกันในศาลดีกว่า ศาลจะเป็นคนให้ความเป็นธรรม นะครับ เราไม่มีสาเหตุโกรธเคือง เราไม่กลั่นแกล้ง นะครับ เราดำเนินการไปตามพยานหลักฐานที่เรามีนะครับ เราไม่ปรักปรำ ขอให้มั่นใจในชุดสอบสวน โดยอ่า ท่านพล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ เนี่ย ท่านเป็นคนตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แล้วก็ทำอะไรละเอียดรอบคอบ นะครับ ไม่ต้องกลัว นะครับ เราไม่ได้ได้กลั่นแกล้งใคร นะครับ
แล้วนโยบายของท่าน ผบ.ตร. ก็ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร ก็ว่ากันไปตามตัวบทกฎหมายใครผิดก็รับไปนะครับ ใครไม่ผิดก็ใครไปกลั่นแกล้งก็ถูกฟ้องร้องนะครับ ไม่ต้องกลัวนะครับ ผมไม่เอาชีวิตราชการไปเสี่ยงหรอก เพราะผมก็อีกประมาณซัก 6-7ปีผมก็เกษียณนะครับ ไม่ ไม่ เอาเรื่องไปพันหัวหรอก แต่เราจะทำหน้าที่ตรงเนี้ยให้ดีที่สุด นะครับ ไม่ไม่ ไม่ให้เป็น คือ เราต้องการรักษาองค์กรของเรา นะครับ ถ้ากลุ่มผู้ต้องหาเนี่ยไม่มาข่มขู่เจ้าหน้าที่ ไม่มาข่มขู่จะฟ้อง จะนู่นจะนี่ นะครับ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้หวั่นไหวหรือไม่มาทำร้ายองค์กร นะครับ
ถ้าทำร้ายพวกผมอย่างเดียวไม่เป็นไร แต่ทำร้ายองค์กรเนี่ยพวกผมบอกเลยว่าพวกผมไม่ยอม แล้วผมจะเดินหน้าชนทุกรูปแบบนะครับ แต่จะชนด้วยหลักฐานและความถูกต้อง ไม่ได้ก้าวร้าว ไม่ได้อะไรทั้งนั้น นะครับ โปรดอย่าทำร้ายองค์กรเลยนะครับ โปรดอย่าทรยศองค์กรตัวเองนะครับ เหมือน เหมือนที่ท่านทรยศเจ้านายมาแล้วหลาย ๆ คนนะครับ”
ข้อความที่จำเลยตอบสื่อมวลชนดังที่ปรากฏข้างต้นมิได้ระบุชื่อโจทก์ แม้สื่อมวลชนซักถามจำเลยโดยใช้คำว่า “นายตำรวจท่านนี้” แต่จำเลยตอบโดยกล่าวอ้างถึง “ทีมงานที่ถูกดำเนินคดี” ว่าการทำงานของจำเลยกับพวกไม่มีการกลั่นแกล้ง ต่อมาจำเลยยังใช้ถ้อยคำว่า “กลุ่มผู้ต้องหา” ว่าถ้ากลุ่มผู้ต้องหาไม่มาข่มขู่เจ้าหน้าที่...ฯลฯ
ถ้อยคำที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อมาจึงเชื่อมโยงกับคำว่า “ทีมงานที่ถูกดำเนินคดี หรือกลุ่มผู้ต้องหา”ว่าอย่าทรยศองค์กร แม้จำเลยจะพูดอีกว่า เหมือนที่ทรยศเจ้านายมาแล้วหลาย ๆ คน แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ถูกดำเนินคดีมีหลายคน พฤติการณ์การทรยศองค์กรหรือทรยศเจ้านายนั้นเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกคนมิใช่เหตุการณ์พิเศษที่มีเพียงโจทก์ ที่อาจเคยถูกกล่าวหาอันจะเป็นผลให้บุคคลทั่วไปเมื่อได้ยินหรือได้อ่านถ้อยคำดังกล่าวแล้วจะสามารถทราบได้ทันทีว่าหมายถึงโจทก์เท่านั้น
สำหรับข้อความที่สื่อมวลชนถามจำเลยว่า “นายตำรวจท่านนึงครับ พล.ต.อ.นายนี้อะครับ เค้าบอกเค้าโดนมาตลอดตั้งแต่ปลายปีจนถึงขณะนี้ จุดตั้งต้นตั้งแต่บุกบ้านเค้าแล้ว” จำเลยตอบว่า “อ่อ ผมผมไม่รู้ว่าทำไมต้องโดนกับเขา เขาน่ะเป็นคนที่รู้ดีที่สุด นะ พยานหลักฐาน ต้องขอบคุณน้องน้องที่โดนดำเนินคดีด้วยที่เก็บพยานหลักฐานไว้ทุกขั้นตอน ทุกวิธีการ จดละเอียดยิบ นะ ผมบอกไว้ต้องขอบคุณน้องน้อง ผมสงสารน้องน้องทุกคนที่เข้ามายุ่งกับคดีนี้แล้วต้องพันไปด้วย ผมว่าเขาขึ้นเรือผิดลำนะ เรือลำผิดนะ แล้วผมเชื่อว่าเรือลำนี้กำลังจะล่มนะครับ ผมสงสาร ถ้าเขาไปขึ้นเรือที่ลำถูก เขาซื้อลอตเตอรี่ที่มันจะถูกทางเนี่ย ผมว่าเขาจะเจริญก้าวหน้า นะครับ ผมไม่อยากทำร้าย แต่ผมเชื่อว่าลูกน้องกลุ่มเนี้ย เอ่อ ต้องทำตามผู้บังคับบัญชา ไม่กล้าบิดพลิ้วแม้แต่เล็กน้อย มีอะไรก็ทำงาน เป็นขั้น เป็นตอน ละเอียด นะ ค่าใช้จ่ายทุกอย่างนี่ต้องเป๊ะนะครับ มันเป็นการบันทึกข้อมูลรายละเอียดของการกระทำความผิดไว้ชัดเจน ทุกขั้น ทุกตอน ทุกเดือน นะครับ”
ซึ่งโจทก์อ้างว่าคำว่า “ผู้บังคับบัญชา” ที่จำเลยกล่าวหมายถึงโจทก์ และเป็นการชี้นำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิด นั้น เห็นว่า ข้อความที่จำเลยตอบสื่อมวลชนดังกล่าว ช่วงที่ระบุถึงผู้บังคับบัญชานั้น มุ่งเน้นกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งเป็นไปตามวิธีการปฏิบัติงานของข้าราชการที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด
แม้จะได้ความว่าโจทก์เป็นบุคคลมีชื่อเสียง บุคคลทั่วไปรู้จักโจทก์อย่างดี แต่ก็ไม่ปรากฏว่านอกจากรู้จักโจทก์แล้วบุคคลทั่วไปรู้จักผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจด้วยหรือไม่ ทราบหรือไม่ว่าใครเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของกลุ่มผู้ต้องหาเหล่านั้น แม้โจทก์ดำรงตำแหน่งและมีลำดับอาวุโสสูงกว่าผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของบุคคลเหล่านั้นด้วย
แต่บุคคลทั่วไปย่อมทราบดีว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกอบด้วยหน่วยงานหลายหน่วยงาน มีผู้บังคับบัญชาหลายคนหลายระดับหาใช่มีเพียงโจทก์เท่านั้น หากผู้ที่ได้ฟังหรืออ่านบทสัมภาษณ์ของจำเลยต้องการทราบว่าผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องหาเหล่านั้นเป็นใครย่อมต้องไปสืบค้นหาจึงจะทราบว่าเป็นผู้ใด ทั้งไม่แน่ว่าภายหลังสืบค้นแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่ และหากสืบค้นแล้วจึงทราบว่าหมายถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากการฟังหรืออ่านบทสัมภาษณ์ของจำเลยทางสื่อสังคมออนไลน์ แต่ทราบจากการที่บุคคลนั้นสืบค้นหาความจริงเองในภายหลัง
ดังนั้น คำว่า “ผู้บังคับบัญชา” ที่จำเลยกล่าวถึงนี้ จึงไม่อาจทำให้บุคคลทั่วไปที่ได้ฟังหรืออ่านเข้าใจว่าหมายถึงโจทก์เท่านั้น และไม่อาจทำให้เข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิดเช่นกัน แม้เอกสารแผ่นที่ 1 เป็นหัวข้อข่าวที่ระบุว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเว็บการพนัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องหรือสืบเนื่องจากถ้อยคำที่จำเลยให้สัมภาษณ์อย่างใด ส่วนแผ่นที่ 2 ก็เป็นข่าวที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.ก่อนที่จำเลยจะให้สัมภาษณ์ตามที่ถูกโจทก์ฟ้อง
นอกจากนั้น เอกสาร ที่โจทก์อ้างว่าเป็นความเห็นของประชาชนที่แสดงความเห็นภายหลังที่ได้ฟังหรืออ่านบทสัมภาษณ์ของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีการแสดงความเห็นที่เกี่ยวข้องกับข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการทรยศหักหลัง หรือการสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้องแต่อย่างใด
พยานหลักฐานที่โจทก์นำเข้าไต่สวนจึงไม่มีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา พิพากษายกฟ้อง และไม่รับฟ้องส่วนแพ่งคืนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดแก่โจทก์