ข่าว

กรมราชทัณฑ์ ยืนยัน นับวันพักโทษ "ทักษิณ" ถูกต้อง ตั้งแต่จำคุก 22 ส.ค. 66

กรมราชทัณฑ์ เผย วันพักโทษ เริ่มนับตั้งแต่วันจำคุก กรณี "ทักษิณ ชินวัตร" ปล่อยตัวคุมประพฤติ 18 ก.พ. 2567 ถูกต้องแล้ว 

กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงกรณีนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ถามถึงการคำนวณวันพักการลงโทษของนายทักษิณ ชินวัตร คลาดเคลื่อนหรือไม่ เพราะ หากจะพ้นโทษ วันที่ 31 สิงหาคมจริง ต้องได้รับการพักโทษวันที่ 5 มี.ค.62567 แต่ที่ผ่านมานายทักษิณได้รับการพักโทษ 18 ก.พ. 2567 และหากนับวันพักการลงโทษผิด ใครรับผิดชอบจะมีความผิดมาตรา 157 หรือไม่ 

ล่าสุด กรมราชทัณฑ์ ระบุว่า นายทักษิณ ต้องโทษจำคุกตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2566 ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษให้เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. 2566 จึงจะพ้นโทษจำคุกในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 

 

สำหรับประเด็นนับวันพักการลงโทษนายทักษิณ ในหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษกรณีพิเศษ กำหนดเงื่อนไขว่าต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่านั้น โดยกรณีนี้จะเริ่มนับวันต้องโทษตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2566 เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 180 วัน และปล่อยตัวคุมประพฤติในวันที่ 18 ก.พ. 2567 ถูกต้องแล้ว 

ยืนยันการคำนวณระยะเวลาจำคุก 6 เดือนนั้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า ในการคำนวณระยะเวลาจำคุกให้นับวันเริ่มจำคุกรวมคำนวณเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับ 30 วันเป็น 1 เดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ เมื่อผู้ต้องคำพิพากษาถูกจำคุกครบกำหนดแล้วให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด กรมราชทัณฑ์ จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

 

กรมราชทัณฑ์ชี้แจง

ข่าวยอดนิยม