
"นายกรัฐมนตรี" ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังตรวจยึดสาร "โทลูอีน" 90 ตัน
นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่แหลมฉบัง ตรวจยึดสาร "โทลูอีน" สารตั้งต้นยาเสพติด จำนวน 90 ตัน มูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท พบนำเข้าจากปูซาน ใช้ไทยเป็นทางผ่านไปย่างกุ้ง
12 ก.ค.2567 เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ,นายสุรชาติ เทียนทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กรมรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลการตรวจยึด สารโทลูอีน (Toluene) เคมีภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จำนวน 90 ตัน ที่บริเวณ คลังสินค้าอันตราย (JWD) สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
นายกรัฐมนตรี ได้รับฟังรายงานการสืบสวนจับกุม พร้อมดูวิธีการทดสอบ เบื้องต้นการตรวจสารเคมีว่า เป็นสารโทลูอีน ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดจาก 6 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 90 ตัน ซึ่ง สารโทลูอีน ปริมาณ 90 ตัน หากใช้เป็นสารเคมี ในขั้นตอนการผลิตยาเสพติด จะผลิตยาไอซ์ ได้ 4,500 กิโลกรัม ยาบ้า 270 ล้านเม็ด และโคเคน 4,500 กิโลกรัม
โดยการตรวจยึดดังกล่าว เป็นผลจากการที่ กรมศุลกากร ได้ตรวจสอบ ใบขนส่งสินค้าผ่านแดนสำแดงชนิดสินค้า "โทลูอีน" Toluene ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จัด และต้องมีใบอนุญาตในการผ่านแดน จึงได้แจ้งกักสินค้าไว้เพื่อตรวจสอบ ประกอบกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังได้ตรวจสอบพบว่า สินค้าผ่านแดนดังกล่าวมิได้ขออนุญาตนำผ่าน
นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้รับแจ้งเบาะแสจากพลเมืองดี ว่าจะมีการนำเข้าสารโทลูอีน (Toluene) จำนวน 90 ตันโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อนำส่งไปยังปลายทางนครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกกฎหมาย และยังพบว่า มีต้นทางมาจากเมืองปูซาน เกาหลีใต้ ซึ่งได้นำมาขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง นำผ่านประเทศไทย และออกที่ศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก
กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ได้ทำการสืบสวนทางลับ กระทั่งเมื่อวันที่27 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้ประสานกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการตรวจใบอนุญาตการนำผ่านสารโทลูอีน ซึ่งจากการตรวจสอบจากระบบในฐานข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม และประสานสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อขอความร่วมมือในการร่วมตรวจสอบสินค้า และจากการ
บูรณาการประสานข้อมูลร่วมกันทั้ง 4 หน่วยงาน
พบประเด็นน่าสงสัยนำสู่การยึดสารโทลูอีน
1. สำนักงาน ป.ป.ส. พบว่า บริษัทผู้สั่งซื้อสินค้าผ่านแดนในสหภาพเมียนมาไม่มีอยู่จริง อีกทั้งไม่มีการขออนุญาตนำเข้ากับทางการเมียนมาแต่อย่างใด โดยบริษัทได้สั่งซื้อสารโทลูอีน (Toluene) จากประเทศเกาหลีใต้โดยขนส่งทางเรือ จากเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.67 และสินค้าได้ถึงท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.67
2. จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า บริษัทผู้ขอผ่านแดน ไม่เคยมีการนำสินค้าผ่านแดนสินค้าสารโทลูอีนมาก่อน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก
3. สินค้านี้ จะออกจากประเทศไทยที่ด่านศุลกากรแม่สอด ไปกรุงย่างกุ้ง สหภาพเมียนมา ต่อมากระทั่งวันที่ 8 ก.ค.67 กรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และสำนักนักงาน ป.ป.ส. ร่วมตรวจสอบพบว่าการนำผ่านสารโทลูอีน จำนวน 90 ตัน ไม่ได้รับอนุญาตการนำผ่านแดนเข้ามาในราชอาณาจักรไทย
ดังนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้แจ้งข้อหา : นำผ่านสารโทลูอีน จำนวน 90 ตัน เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
และมีการดำเนินการตามกฎหมายของศุลกากร ตามมาตรา 102 และมาตรา 103 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 โดยสินค้างดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้ขยายผลเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถือว่าเป็นสารตั้งต้นของการผลิตยาเสพติดอีกหลายชนิด ซึ่งจำนวนที่จับกุมครั้งนี้ 90 ตัน แม้มูลค่าไม่กี่ล้านบาท แต่ถ้าสารนี้หลุดไปถึงแหล่งผลิตโคเคนได้ ก็จะเป็นน้ำหนักหลาย 1,000 กิโลกรัม มูลค่าเป็นหมื่นๆล้านบาท ก็จะกลับมาเป็นวังวนอุบาทว์ ให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย และทั่วโลก
นายกฯ กำชับให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) บูรณาการการสืบสวนปราบปรามอย่างเด็ดขาด โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการสืบสวน และป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และประสานงานกรมศุลกากร ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ควบคุมการนำเข้า - ส่งออก ผ่านแดน - ถ่ายลำ
รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจค้น และการประสานงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรมทำหน้าที่ในการ ควบคุมตรวจสอบการใช้สารตั้งต้น และการออกกฎระเบียบ มาตรการควบคุมการใช้สารตั้งต้น ตรวจสอบติดตามการใช้สารตั้งต้น สารเคมี เพื่อลดการนำไปใช้ในทางที่ผิด
รวมทั้งสกัดกั้นการลักลอบนำสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ผลิตยาเสพติดเพื่อเป็นการกวาดล้างกลุ่มหรือเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนให้หมดสิ้น โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาด ด้วยการเพิ่มมาตรการและแนวทางในการป้องกันการลักลอบสารตั้งต้นยาเสพติดในอนาคต และเพิ่มมาตรการการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าส่งออกอย่างจริงจัง