วันที่16พ.ค.2567 ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นาย ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการแถลงข่าว เปิดแผนปฏิบัติการ แก้ไข หนี้นอกระบบ อย่างยั่งยืน ร่วมกับนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการแก้ไขหนี้นอกระบบ , พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะดีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , นายอัยการณรงค์ ศรีระสันต์ ผู้แทนอธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิ์ และผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
โดย นาย ชาดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการไปกว่า 1 แสนราย แต่เชื่อว่ามีอีกมากยังไม่เข้าสู่ระบบ ทั้ง เจ้าหนี้ และ ลูกหนี้ จากนี้จะทำให้ เจ้าหนี้ เข้าสู่กรอบของกฎหมาย ต่อให้มีนอมินี รัฐก็จะเคลียร์ทุกพื้นที่
จากนี้จะทำให้ เจ้าหนี้ เข้าสู่ระบบให้ได้ ภายใน วันที่31พ.ค.2567 จะถือเป็นเส้นตายครั้งสุดท้าย ยืนยันว่ารัฐให้ความเป็นธรรมกับทั้ง เจ้าหนี้ และ ลูกหนี้ เพราะต้องการดึงเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ หากใครไม่ปฏิบัติตามจะต้องดำเนินการอย่างเด็ด
เรารอต่อไปไม่ไหวแล้ว ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ เจ้าหนี้ จะทำมาหากินอย่างถูกกฎหมาย 14 วันที่เหลืออยู่ ขอแนะนำให้ เจ้าหนี้ ไปแจ้งกับฝ่ายปกครองในจังหวัดของตนเอง หรือตำรวจ ส่วนคนที่ไม่โดนจับ นั่งเป็นเจ้าพ่อเงินกู้อยู่เบื้องหลัง ก็จะต้องเข้าสู่ระบบเช่นกัน หากเพิกเฉยไม่มาแจ้งระวังเจ้าหน้าที่สรรพากร จะหาถึงบ้าน ตรวจความเป็นอยู่และรายได้ทั้งหมด
วันนี้ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาด้านนิติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐศาสตร์ อย่างยั่งยืน จะไม่มีการกู้หนี้มาใช้หนี้อีกต่อไป ทุกคนจะต้องเข้าสู่ระบบ พร้อมย้ำไปถึงข้าราชการที่เป็นหนี้นอกระบบ ขอให้มีความกล้าหาญที่จะเข้าสู่ระบบ ไม่ใช่รอให้ เจ้าหนี้ เป็นผู้ออกมาเปิดเผยชื่อ เพราะไม่รู้ว่าจะมีความผิดหรือไม่
ขณะที่นายกิตติรัตน์ เปิดเผยว่า แม้จะมีการเปิดให้ ลูกหนี้ นอกระบบมาลงทะเบียน เพื่อเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยหนี้ แต่พบว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนยังไม่ใกล้เคียงกับจำนวนลูกหนี้ตัวจริงที่คาดการณ์ไว้
ขอเตือนให้ลูกหนี้มาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบ เพราะต้องไม่ลืมว่าการที่เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อโดยคิดดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กำหนดถือว่าผิดกฎหมาย ดอกเบี้ยจะถือเป็นโมฆะ หากเข้าสู่ระบบเจ้าหน้าที่จะช่วยไกล่เกลี่ย
ในส่วนของ เจ้าหนี้ ก็สามารถมาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบแล้ว รัฐจะดำเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อให้ เจ้าหนี้ ได้รับเงินคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสม เพราะ ลูกหนี้ มีหน้าที่ต้องชำระเงินต้นคืนให้เจ้าหนี้ และยังสามารถดำเนินการปล่อยเงินกู้อย่างถูกกฎหมายให้กับลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ แต่หากเจ้าหนี้ไม่มาลงทะเบียนรัฐจะตีความว่าไม่ประสงค์จะได้เงินคืน
พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีศูนย์การแก้ไขปัญหา หนี้นอกระบบ มาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ ที่ผ่านมากวาดล้างอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน พ.ย.2566 มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกำหนดรวมทั้งยึดทรัพย์
ขอให้ประชาชนให้เขามาสู่ระบบ ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งคดีอาญาและถูกยึดทรัพย์
ด้านนายณรงค์ ศรีระสันต์ ผู้แทนอธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิ เปิดเผยว่า ในส่วนของ ลูกหนี้ ที่มาลงทะเบียน หากยังมีเงินต้นเหลืออยู่ สามารถเอาหลักฐานสัญญาการยอมความ ที่ทำกับฝ่ายปกครอง อัยการ และตำรวจ ไปกู้ธนาคารออมสิน , ธนาคาร ธ.ก.ส. หรือฟิโก้ไฟแนนซ์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาทได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง