เซ่น 'แป๊ะเจี๊ยะ' คุกอ่วม ‘อดีต ผอ.- รองผอ.’ โรงเรียนดัง
เซ่น 'แป๊ะเจี๊ยะ' รับเงินเข้ากระเป๋า แต่ไม่เข้าระบบ 'ศาลอาญาคดีทุจริตฯ' สั่ง 'จำคุก' อ่วม ‘อดีต ผอ.- รองผอ.’ โรงเรียนดัง
วันที่ 24 เม.ย.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษา ในคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนาย นายวิโรฒ อดีตผอ. โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กับพวกรวม 3 คน เป็นจำเลย กรณีที่มีการกล่าวหาว่า ร่วมกันกระทำความผิดด้วยการเรียกรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองนักเรียน ( แป๊ะเจี๊ยะ )โดยไม่นำเข้าระบบการเงิน เพื่อเป็นรายได้ของโรงเรียน และร่วมกันเบียดบังเงินบริจาคไปโดยทุจริต
คดีนี้โจทก์ฟ้อง ว่า ระหว่างเดือน ม.ค. - มิ.ย.2560 จำเลยที่ 1 ในฐานะ ผอ.โรงเรียน และจำเลยที่ 2 รองผอ.โรงเรียน ร่วมกันกระทำความผิดด้วยการเรียกรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองนักเรียน 6 ราย โดยไม่นำเข้า ระบบการเงินเพื่อเป็นรายได้ของโรงเรียน โดยร่วมกันเบียดบังเงินบริจาคไป เป็นของจำเลยทั้ง 2 โดยทุจริต
และยังร่วมกับจำเลยที่ 3 เป็นครูในโรงเรียน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจให้เจ้าหน้าที่การเงินเเละบัญชีของโรงเรียน กรอกข้อความลงในเอกสารใบเสร็จรับเงิน ซึ่งไม่ตรงต่อความจริง
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ในความผิดฐานร่วมกันเบียดบังเงินบริจาคนั้น โจทก์มีผู้ปกครอง 6 ราย ให้การยืนยันว่า จำเลยที่ 1,2 ร่วมกันรับเงินบริจาคที่ประสงค์จะมอบให้โรงเรียน ( แป๊ะเจี๊ยะ ) เพื่อให้บุตรหลานได้รับการพิจารณาให้เข้าศึกษาในโรงเรียน ประเภทเงื่อนไขพิเศษ แต่กลับไม่มีการออกใบเสร็จรับเงิน
จำนวนเงินที่ผู้ปกครองกล่าวอ้าง สอดคล้องกับหลักฐานการถอนเงินจากบัญชีธนาคาร และต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1,2 มาก่อน
ที่จำเลยที่ 1,2 นำสืบว่า เงินที่ได้รับมานั้น มอบให้คณะกรรมการภาคีเครือข่ายการรับนักเรียนและการระดมทรัพยากรเพื่อมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่จำเลยที่ 2 แต่งตั้ง แต่การจัดตั้งคณะกรรมการภาคีเครือข่ายดังกล่าว ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
เมื่อรับมอบเงินบริจาคมา ไม่มีการออก ใบเสร็จรับเงินให้ และไม่นำเงินบริจาคไปเข้าบัญชีเงินฝากของโรงเรียนทันที แต่นำเงินไปเก็บไว้ในตู้เซฟที่อยู่ในห้องทำงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ใช่ตู้เซฟของทางราชการ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีหน้าที่รับเงินบริจาคไม่ใช่กรรมการเก็บรักษาเงินและตรวจนับเงินที่โรงเรียนแต่งตั้งขึ้น
เงินที่เก็บไว้ในตู้เซฟตามระเบียบต้องเก็บไว้ได้ ไม่เกินวันละ 3 หมื่นบาท และเก็บไว้ในตู้เซฟได้ไม่เกิน 3 วันแต่กลับเก็บเงินไว้มากกว่า 3 วัน ไม่มีการตรวจนับของเงินบริจาคที่ได้รับมาในทันทีเพื่อนำเข้าระบบบัญชีของโรงเรียน เพื่อลงทะเบียนคุมรายรับเงินได้สถานศึกษา
และยังเก็บเงินไว้เป็นจำนวนมากถึงหลักล้าน โดยไม่สามารถตรวจสอบยอดเงินที่แน่นอน ดังนั้นการแต่งตั้งคณะกรรมการภาคีเครือข่ายดังกล่าว จึงเป็นการแต่งตั้งที่ไม่ชอบและไม่มีอำนาจ
และยังพบพิรุธว่า ระหว่างที่มีการเก็บเงินบริจาคไว้นั้น ปรากฎว่ามีคลิปวีดีโอที่ตัวแทนผู้ปกครองแอบบันทึกไว้ ขณะที่มีการส่งมอบเงินบริจาคให้แก่จำเลยที่ 1,2 เผยแพร่ทางสื่อสารมวลชน
หลังจากจำเลยที่ 1 แถลงข่าวแล้ว จำเลยทั้งสามจึงรีบตามเจ้าหน้าที่การเงินมาออกใบเสร็จรับเงินย้อนหลังให้ และในใบเสร็จไม่มีการระบุชื่อผู้บริจาค ซึ่งไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ แล้วรีบนำเงินบริจาคเข้าระบบบัญชีเงินฝากของโรงเรียน เป็นการกระทำเพื่อปกปิดความผิดของตน และความผิดสำเร็จลงแล้ว
ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1,2 จึงไม่อาจรับฟังได้
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1,2 ผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุก จำเลยที่ 1,2 กระทงละ 5 ปี รวม 6 กระทง รวมจำคุกคนละ 30 ปี คำรับสารภาพเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ลดโทษให้ กระทงละหนึ่งในสาม
จำคุกจำเลยที่ 1,2 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน จำนวน 6 กระทง รวมจำคุกคนละ 18 ปี 24 เดือน (20ปี) และ ร่วมกันชำระเงิน 7 เเสนบาท โดยให้ริบเงินจำนวนดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ ยกฟ้อง
ภายหลังฟังคำพิพากษาจำเลย1,2 ยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯกลาง ส่งให้ศาลอุทธรณ์ พิจารณา คาดว่าจะมีคำสั่งภายใน 1-3 วัน