เปิดแฟ้มลับ 1,000 หน้า เบื้องลึก คดี ‘บิ๊กตำรวจ’ แต่งบัญชีทรัพย์สิน
เปิดแฟ้มลับ 1,000 หน้า เบื้องลึก คดี ‘บิ๊กตำรวจ’ ยศใหญ่ แต่งบัญชีทรัพย์สิน มาจากภริยาซื้อ รถหรู คันนี้ จนโดนจับโป๊ะ
เป็นอีกคดีที่พุ่งเข้าหา บิ๊กตำรวจ ยศ พล.ต.อ. นายหนึ่ง เมื่อ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ( บก.ปปป. ) ตรวจสอบ พบความผิดปกติ กรณีต้องสงสัยว่ามีการ ตกแต่งบัญชีทรัพย์สิน โดยตำรวจ บก.ปปป. รวบรวมพยานหลักฐาน ทำสำนวน 1,420 แผ่น ส่งให้กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) พิจารณา เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2567
เนื้อหา สรุปว่า มีการกล่าวหา เจ้าหน้าที่ในสำนักงาน ป.ป.ช. รวม 3 คน ชื่อย่อ นาย ส. นาย จ. และ น.ส. อ. ช่วยเหลือ บิ๊กตำรวจ ยศ พล.ต.อ. นายนี้ ตกแต่งหลักฐาน ในการยื่น บัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ของ บิ๊กตำรวจ และ ภริยาบิ๊กตำรวจ โดยมี พ.ต.ท. ที่เป็นตำรวจใกล้ชิด บิ๊กตำรวจ เป็นตัวกลางในการประสานงาน
โดย ประเด็นที่ก่อให้เกิดการร้องทุกข์ดำเนินคดี และส่งให้ ป.ป.ช. พิจารณา มาจากการซื้อ รถยนต์ยี่ห้อเล็กซัส รุ่น RX270 ที่เกี่ยวข้องกับ ภริยาบิ๊กตำรวจ
มี แชทไลน์ ระหว่าง พ.ต.ท. กับ นาย จ. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่คุยกันว่า วงเงินไม่ตรงกับที่ บิ๊กตำรวจ เคยยื่นไว้กับ ป.ป.ช. ที่มีการส่งภาพใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีเกี่ยวกับรถยนต์คันนี้ ในครั้งแรก ที่ระบุราคา 3.2 ล้านบาท
ต่อมา ในเดือน พ.ย.2565 พ.ต.ท. ได้ส่งไฟล์คำชี้แจง รายการยานพาหนะคู่สมรส โดยระบุว่า ขอเรียนว่า น.ส.xx ซึ่งเป็น ภริยาบิ๊กตำรวจ แจ้งว่า บิดา ซื้อให้ และไม่ทราบว่าซื้อในราคาเท่าใด และไม่กล้าสอบถามราคาที่แท้จริง จึงประเมินด้วยการสืบค้นจากอินเตอร์เน็ตว่าราคา 3.2 ล้านบาท
โดย พ.ต.ท. ทวงถาม นาย จ. เรื่องไฟล์ร่างหนังสือขอขยายเวลาชี้แจงกับ ป.ป.ช. และสอบถามว่า นาย ส. ได้ตรวจเอกสารนี้แล้วหรือไม่ และยังพบไฟล์นี้ ที่ นาย จ. ส่งไปสอบถาม นาย ส. ด้วย
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนได้สอบถามไปยังบริษัทผู้ขายรถ ย่านถนนสาทร กลับได้ข้อมูลที่สวนทางกัน โดยพบว่า ภริยาบิ๊กตำรวจ มาซื้อรถคันนี้ ด้วยตัวเอง เมื่อวันที่14 ตค. 2558 ด้วยเงินสด ในราคา 2.35 ล้านบาท โดยวันรับรถนั้น บริษัทได้ออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี รวมทั้งชุดการจดทะเบียนรถยนต์(ชุดโอนลอย) เพื่อให้ไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก โดยไม่มีสัญญาซื้อขายเพราะซื้อด้วยเงินสด และพบว่าหลังการซื้อรถยนต์คันนี้ ผู้ซื้อไม่เคยมาที่บริษัทอีกเลย จนกระทั่งบริษัทปิดกิจการ
พนักงานสอบสวน ได้ติดต่อขอข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก เกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวและได้เอกสารยืนยันแล้ว พบว่า ข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกตรงกับสิ่งที่พนักงานสอบสวนได้สอบถามพยานที่บริษัทซื้อขายรถยนต์ตรงกัน
แต่กลับพบว่า ราคารถยนต์ที่แจ้งกับ ป.ป.ช. ในรายการ บัญชีทรัพย์สิน ในตอนแรกไม่ตรงกัน
ซึ่งอาจมีการตกแต่งเอกสาร ในการแจ้ง บัญชีทรัพย์สิน